เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับกาแฟ

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
2887
กาแฟ

กาแฟ คือเครื่องดื่มยอดนิยมที่หมอมักถูกถามถึงเรื่องผลดีผลเสียหลังจากดื่มไปแล้วมากที่สุดรายการหนึ่ง เพราะนอกจากจะหาง่าย สามารถดัดแปลงปรุงแต่งสี กลิ่น และรสชาติได้หลากหลายตามใจผู้บริโภคแล้ว การดื่มกาแฟยังกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าสดชื่นขึ้นอีกด้วย ในคอลัมน์นี้หมอจึงขอรวบรวมคำถามที่เคยถูกถามและให้
คำแนะนำบ่อย ๆ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยทางการแพทย์มาให้ผู้อ่านได้รู้จักกับ ‘กาแฟ’ ในแง่มุมของสุขภาพให้มากขึ้นสักหน่อยครับ

ก่อนอื่นหมอขอแนะนำให้เข้าใจก่อนว่ากาแฟมีส่วนที่มีผลต่อสุขภาพคือ คาเฟอีน และ สารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารที่คอยปกป้องเซลล์ในร่างกายของเราให้ปลอดภัยจากสารพิษหรือการอักเสบ สารต้านอนุมูลอิสระนี้มักอยู่ในกาแฟชนิดอาราบิก้าแบบที่ไม่ได้กรองกากกาแฟ ส่วนคาเฟอีนนั้นพบได้ในกาแฟทุกรูปแบบ ต่อไปนี้เป็นคำถามและคำตอบที่มักมีผู้สงสัยเกี่ยวกับกาแฟครับ

การดื่มกาแฟช่วยให้อายุยืนขึ้นจริงหรือ ?

ในงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ใน Annals of Internal Medicine แนะนำว่า การดื่มกาแฟวันละ 3 ถ้วยอาจช่วยยืดอายุของเราได้ครับ เนื่องจากพบว่ากลุ่มที่ดื่มกาแฟเช่นนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคหัวใจน้อยลง โดยการศึกษานี้รวบรวมจากกลุ่มผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 500,000 คนจาก 10 ประเทศในทวีปยุโรป ยาวนานถึง 16 ปี

เห็นข้อมูลนี้แล้ว ผู้อ่านหลายคนอาจยิ้มอยู่ในใจ แต่หมอคิดว่ามีข้อสังเกตบางอย่างในงานวิจัยที่ต้องระวังไว้ นั่นก็คือในงานวิจัยนี้ไม่ได้แยกแยะผู้ป่วยตามแนวทางการใช้ชีวิตประจำวัน เศรษฐานะ สังคม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดได้ นอกจากนี้งานวิจัยยังตัดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมาก ๆ ออกไปด้วย ผู้เข้าร่วมวิจัยส่วนใหญ่จึงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้ว คำถามนี้หมอจึงขอตอบว่าไม่ฟันธงดีกว่า

การดื่มกาแฟช่วยเพิ่มพลังและความสดชื่นให้เราได้จริงหรือ ?

คำตอบคือ “ได้ครับ” กาแฟช่วยให้ผู้ดื่มหลายคนไม่รู้สึกเหนื่อยล้า และสดชื่นมากขึ้น เพราะเมื่อสารคาเฟอีนเข้าสู่กระแสเลือดและสมองในขนาดเหมาะสมจะออกฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์ประสาทให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้านความจำ อารมณ์ และการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ นอกจากนี้มีบางรายงานพบว่า การดื่มกาแฟในขนาดเหมาะสมก่อนออกกำลังกายช่วยให้ออกกำลังได้ดีและนานขึ้น 11-12% เลยทีเดียวครับ

การดื่มกาแฟลดความอ้วนได้หรือไม่?    

มีรายงานวิจัยพบว่าสารคาเฟอีนในกาแฟสามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญสารเคมีในร่างกายได้ในระดับหนึ่ง นั่นหมายความว่ากาแฟน่าจะช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายได้ และอาจนำไปสู่การใช้ในการลดความอ้วน  แต่ทั้งนี้ยังต้องรองานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

การดื่มกาแฟมีผลอย่างไรต่อโรคในระบบประสาท?

มีหลายงานวิจัยเลยครับที่พบว่าการดื่มกาแฟช่วยปกป้องเราจากโรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของระบบประสาท
ยกตัวอย่างเช่น โรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์โดยงานวิจัยเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง

มีการศึกษาที่น่าสนใจในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาวเอเชียเหมือนกับเรา พบว่าในคนญี่ปุ่นกว่า 8,000 คน คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำพบการเกิดโรคพาร์กินสันน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม 5 เท่า โดยมีการเก็บข้อมูลนานถึง 30 ปี แต่ข้อเท็จจริงนี้ใช้ได้กับผู้ชายนะครับ เนื่องจากฮอร์โมนเพศในผู้หญิง (เอสโตรเจน) จะไปแย่งกันเกิดปฏิกิริยากับคาเฟอีน หรือ
สตรีวัยทองที่กลับไปรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนจะพบโรคพาร์กินสันมากกว่าคนที่ไม่ได้กินฮอร์โมน ทาง
การแพทย์สันนิษฐานว่า คาเฟอีนจะไปทำให้สารสื่อประสาทโดปามีนถูกขนส่งไปออกทธิ์ได้ดีขึ้น

การดื่มกาแฟลดการเกิดโรคเบาหวานได้จริงหรือ?

มีหลักฐานวิจัยอยู่บ้างที่พบว่าการดื่มกาแฟมีโอกาสการเกิดโรคเบาหวานลดลง โดยพบว่าคนที่ดื่มกาแฟ 6-7 ถ้วย
ต่อวันเป็นโรคเบาหวานน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม เราเชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟคือ phenol chlorogenic acid เป็นตัวทำให้การดื้ออินซูลินลดลง ส่งผลให้ไม่ค่อยพบเบาหวาน

เราดื่มกาแฟได้มากเท่าไหร่ และกาแฟมีอันตรายหรือความเสี่ยงใด ๆ ต่อสุขภาพหรือไม่? 

ยังไม่มีข้อกำหนดหรือข้อห้ามใด ๆ เกี่ยวกับปริมาณกาแฟที่ดื่มสำหรับคนทั่วไปครับ แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้นควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะมีรายงานว่ามีการแท้งมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ดื่ม นอกจากนี้มีรายงานทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อยและตัวเล็กกว่าอายุครรภ์อีกด้วย  หมอขอยกตัวอย่างขนาดกาแฟให้เห็นภาพดังนี้ครับ

  • กาแฟที่มาจากการบดเมล็ดกาแฟสด ๆ 8 ออนซ์ มีคาเฟอีน 137 มิลลิกรัม
  • เอสเพรสโซ่ร้อน 1 ช็อต ประมาณ 2 ออนซ์ มีคาเฟอีน 100 มิลลิกรัม
  • กาแฟผง 8 ออนซ์ มีคาเฟอีน 76 มิลลิกรัม
  • เครื่องดื่มน้ำอัดลม 8 ออนซ์ มีคาเฟอีน 47 มิลลิกรัม

สารคาเฟอีนมีฤทธิ์คล้ายยาขับปัสสาวะ ผู้ดื่มจึงอาจปัสสาวะมากขึ้นและเร็วขึ้น ในผู้ที่ดื่มกาแฟมาก ๆ มีรายงานว่า
บางครั้งอาจเกิดอาการหน้ามืด เป็นลม มือสั่น และนอนไม่หลับได้ หากเกิดอาการเช่นนี้บ่อย ๆ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ

นอกจากนี้กาแฟมักได้รับการปรุงแต่งอย่างหลากหลาย อาจมีการเติมน้ำตาล น้ำเชื่อม นม และอื่น ๆ ซึ่งอาจมีผล
ในการเพิ่มแคลอรีส่วนเกินให้ผู้ดื่มได้มากทีเดียว ผู้ดื่มที่มีโรคประจำตัวที่อาจได้รับผลกระทบควรคำนึงถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018