เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Tennis elbow)

อ.สุธาสินี ทองอ่อน นักกายภาพบำบัด

0
14197
เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Tennis Elbow)

เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Tennis Elbow) เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่มาเกาะบริเวณปุ่มกระดูกด้านนอกของกระดูกต้นแขนด้านล่าง อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการปวดข้อศอกด้านนอกร้าวลงไปตามแขนท่อนล่าง โดยอาการปวดอาจเกิดขึ้นตลอดเวลา หรือเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อหยิบจับของ หากอักเสบมากอาจพบอาการบวมของข้อศอกด้านนอกร่วมกับภาวะแดงร้อนจากการอักเสบได้

สาเหตุ

การเล่นกีฬาที่ใช้ไม้ตีเป็นกิจกรรมหลักที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดข้อศอกด้านได้ รวมทั้งการทำกิจกรรมที่ต้องกระดกข้อมือหรือคว่ำหงายมือซ้ำ ๆ เช่น การบิดไขสกรู หรือการยกของหนักในลักษณะจับของแบบคว่ำมือ นอกจากนี้ในผู้สูงอายุ เนื้อเยื่อจะเสี่ยงต่อการอักเสบได้ง่ายขึ้น

การวินิจฉัย

แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดสามารถวินิจฉัยโรคได้จากการสอบถามอาการ สังเกต และคลำบริเวณข้อศอกด้านนอก ในบางรายที่มีอุบัติเหตุร่วมหรือมีอาการปวดสูงมาก จะได้รับการเอกซเรย์เพื่อตรวจดูอาการแตกหักของกระดูกบริเวณข้อศอก

เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Tennis Elbow)

แนวทางการรักษา

การรักษาจะประเมินจากระดับการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อ โดยจุดมุ่งหมายของการรักษาจะเน้นไปที่การลดปวด ลดอักเสบ และการกลับมาเคลื่อนไหวมือและข้อศอกได้โดยไม่มีอาการปวด

  • การพักใช้งานและการใช้ยา การพักใช้งานหรือการใส่ผ้ารัดพยุงข้อศอกเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อได้พักและซ่อมแซมตัวเอง พยายามใช้มืออีกข้างช่วยทำงานแทนหรือช่วยกันทำงานจะลดภาระต่อข้อศอกที่เจ็บได้ ในบางรายที่ปวดและอักเสบมากอาจได้รับยาลดปวดลดอักเสบเพื่อบรรเทาอาการ นอกจากนี้การใช้ความร้อนหรือความเย็นประคบบริเวณที่มีอาการก็ช่วยบรรเทาอาการปวดบวมได้
  • การบริหารกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อกลุ่มกระดกข้อมือจะช่วยลดอาการปวดตึงได้ จากนั้นเมื่ออาการปวดลดลง ควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย
  • การฉีดยาแก้อักเสบ แพทย์อาจฉีดยาแก้อักเสบ เช่น ยาคอร์ติโซน เพื่อช่วยลดบวมลดอักเสบ
  • การผ่าตัด หากอาการคงอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือการรักษาอื่น ๆ ไม่สามารถบรรเทาอาการได้ แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นข้อศอก

เพื่อป้องกันการปวดข้อศอกซ้ำ หลังจากหายดีแล้วควรเปลี่ยนลักษณะการใช้งานของมือและแขน โดยการหยิบจับหรือยกของในลักษณะที่หงายมือขึ้น ยกของหนักโดยใช้สองมือ และพยายามทำกิจกรรมให้หลากหลาย ไม่ทำกิจกรรมที่เป็นท่าซ้ำ ๆ เพื่อลดความเครียดและแรงตึงต่อเอ็นข้อศอก เมื่อต้องเล่นกีฬาที่ใช้ไม้ตี เช่น แบดมินตัน หรือเทนนิส ควรเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมโดยการยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังเล่นกีฬา

 

Resource: HealthToday Magazine, No.202 February 2018