อาหารบำบัดผมร่วง

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
3965

ผมร่วงมีได้หลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ ภาวะเส้นผมหยุดเจริญทันที ซึ่งกรณีนี้จะพบได้ในหญิงหลังคลอด ภาวะหลังหมดประจำเดือน หลังลดน้ำหนัก การเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคซิฟิลิส โรค SLE (โรคพุ่มพวง) โรคไฮโปไทรอยด์ ติดเชื้อราที่หนังศีรษะ หลังผ่านเหตุการณ์เสียเลือดมาก เช่น ผ่าตัดใหญ่ บริจาคเลือด เป็นต้น บางครั้งการกินยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาเคมีบำบัด ยากันชัก ยาลดความดัน ยาลดไขมันก็ส่งผลให้ผมร่วงได้เช่นกัน นอกจากนี้ ความเครียด หรือแม้แต่การรวบผมที่แน่นมากเกินตลอดเวลาก็ส่งผลให้ผมร่วงได้เช่นกัน

การลดน้ำหนักโดยการอดอาหารหรือการลดน้ำหนักที่เร็วเกินไปเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่กระตุ้นให้ผมร่วงได้ มีรายงานพบว่าเมื่อลดน้ำหนักได้ประมาณ 15 ปอนด์ หรือราว ๆ 6 – 7 กิโลกรัม กลุ่มตัวอย่างจะเริ่มมีปัญหาผมร่วง และอาการผมร่วงจะดีขึ้นหลังจากที่น้ำหนักตัวเริ่มคงที่ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักควรลดอย่างถูกต้องและค่อยเป็นค่อยไป หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก็จะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่จะตามมาได้

เส้นผมบอกปัญหา

รู้หรือไม่ว่าสุขภาพผมสามารถบอกสุขภาวะด้านโภชนาการของเราได้ ผมที่สุขภาพดีต้องเงางาม ไม่แห้ง เปราะง่าย สีผมปกติไม่จางลงจากเดิม ไม่ร่วงหลุดง่าย ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองทดสอบไปพร้อม ๆ กัน เมื่อลองเอามือสางผม โดยสุ่มสางทั้งหมด 5 ครั้ง ในตำแหน่งที่ต่างกันรอบศีรษะ หากมีผมร่วงติดมือมาด้วยมากกว่า 3 ครั้ง นั่นแสดงว่าคุณอาจกำลังขาดโปรตีน ไบโอติน หรือสังกะสีอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการและแพทย์ผิวหนังหลายท่านจะมีความเห็นตรงกันว่า การกินอาหารที่สมดุลและมีส่วนผสมของโปรตีน ธาตุเหล็ก และสารอาหารที่ลงตัว ช่วยให้เรามีสุขภาพดี และรู้สึกว่าสุขภาพผมดีขึ้น ดังนั้นในช่วงที่ผมร่วงการเติมสารอาหารบำรุงผมด้วยอาหารดี ๆ สักจานก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไม่ควรมองข้าม

โภชนาการช่วยหยุดผมร่วงได้อย่างไร?

จริง ๆ แล้วผมเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนัง ประกอบด้วยเซลล์หนังกำพร้าที่บรรจุสารเคอราตินซึ่งเป็นโปรตีนแข็ง ๆ เอาไว้ ผมจึงต้องการสารอาหารโปรตีนโดยเฉพาะกรดอะมิโนไลซีน (l-lysine) ซึ่งพบมากในเนื้อแดง ถั่ว ไข่ นม สำหรับใช้ในการเจริญเติบโต และต้องการวิตามินเกลือแร่เช่นเดียวกับเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย นายแพทย์ Paradi Mirmirani แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และเป็นสมาชิกของ North American Hair Research Society กล่าวไว้ใน Hair Research Society ว่าทุกวินาทีมีเส้นผมเกือบ 90% กำลังเจริญเติบโต การเจริญเติบโตนี้จะดำเนินต่อเนื่อง 2 – 3 ปี หลังจากนั้นจึงหยุดพักก่อนที่จะร่วงแล้วถูกแทนที่ด้วยผมชุดใหม่ ถ้าช่วงนี้ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอก็ทำให้จำนวนเส้นผมใหม่ที่สร้างขึ้นน้อยกว่าผมที่หลุดร่วง เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ผมเราก็จะบางลงได้

แต่เดี๋ยวก่อน!!! โปรตีนไม่ใช่สารอาหารพระเอกตัวเดียวนะคะที่จะทำให้ผมสุขภาพดี ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่สำคัญอีก ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินอี ซีลีเนียม สังกะสี ทองแดง แมกนีเซียม ไบโอติน วิตามินบี 12 เพราะหากขาดธาตุอาหารเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการนำโปรตีนไปสร้างเป็นเส้นผมได้ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก หากได้รับไม่เพียงพอแล้วก็อาจทำให้ผมร่วงได้อีกด้วย โดยเฉพาะสาว ๆ ทั้งหลาย จากสถิติพบว่ามากกว่า 90% ของผู้หญิงที่มีระดับตัวเก็บธาตุเหล็กในร่างกาย (Ferritin) ต่ำกว่า 70 ug/L นั้นจะมีผมบางลง ทั้งนี้เพราะธาตุเหล็กช่วยขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายรวมถึงเซลล์บนหนังศีรษะ แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เครื่องใน ไข่แดง หอยนางรม หอยแครง เนื้อแดง เนื้อหมู ผักใบเขียว ถั่วธัญพืชเมล็ดแห้งต่าง ๆ แต่ปัญหาคือธาตุเหล็กจากพืช หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีธาตุเหล็กสูงร่วมกับผักต่าง ๆ อาจทำให้ประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุเหล็กลดลง ทางออกที่ดีวิธีหนึ่งคือ ให้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำมะนาว น้ำผลไม้ หรือผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมธาตุเหล็กได้

ส่วนอาหารที่มีผลทำลายสุขภาพผม ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (High glycemic index) เช่น น้ำตาล น้ำอัดลม ขนมหวาน ข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสี เนื่องจากอาหารเหล่านี้กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผมร่วงได้ นอกจากนี้ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารกระตุ้นอื่น ๆ ที่ทำให้ผลหลุดร่วง ได้แก่ การสูบบุหรี่ และการกินสารคาเฟอีน ซึ่งพบได้ในเครื่องดื่มชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลมประเภทโคล่า รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ

สำหรับการกินวิตามินเสริม ไม่แนะนำให้เสริมในรายที่ไม่ได้รับการตรวจยืนยันจากแพทย์ว่าขาดสารอาหารชนิดนั้น ๆ เนื่องจากผลการศึกษาเรื่องปัจจัยทางโภชนาการที่มีผลต่อผมร่วง ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical and Experimental Dermatology นั้นพบว่า การได้รับการสารอาหารเสริมที่มากเกินจำเป็นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมร่วงได้

ดังนั้นอาหารที่ดีต่อเส้นผมก็คือ อาหารสมดุล ครบ 5 หมู่ โดยเราอาจเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ 1 ใน 4 ของมื้ออาหาร หรือเวลาสั่งข้าวราดแกงควรเลือกกับข้าวที่เป็นเนื้อสัตว์มื้อละ 1 อย่าง ที่เหลือคือผัก แล้วเสริมของว่างเป็นผลไม้ ขนมที่ทำจากถั่วธัญพืช เช่น ถั่วตัด เต้าส่วน ถั่วแปบ ขนมไส้ถั่ว เมล็ดทานตะวันอบ ถั่วคั่ว ถั่วอบ เป็นต้น เพียงเท่านี้สุขภาพผมก็จะเปล่งประกายเงางามจากภายในสู่ภายนอกได้

Resource: HealthToday Magazine, No.192 April 2017