ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา – สมดุลชีวิต 4 ประการ ต้นแบบสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

0
3821
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

ท่ามกลางชีวิตที่เร่งรีบและสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดในปัจจุบันอาจทำให้การใช้ชีวิตของใครหลายคนเสียสมดุลได้ง่าย โดยเฉพาะสมดุลด้านสุขภาพ เพราะเรื่องสุขภาวะนั้นไม่ได้เป็นแค่การดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย หรือการใส่ใจการกินอยู่เท่านั้น แต่ยังผูกพันกับปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพของผู้คนทั้งสิ้น

หนึ่งในผู้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี รวมถึงมีแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อรักษาสมดุลชีวิตให้สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานควบคู่ไปกับการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนก็คือ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา หรือที่หลายคนเรียกกันจนติดปากว่า “อาจารย์หมอประสิทธิ์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกแพทยสภา วาระ พ.ศ.2560 – 2562

บทบาทของแพทยสภากับสังคม

อาจารย์หมอประสิทธิ์มองว่า สิ่งที่แพทยสภาต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การทำให้สังคมไว้วางใจแพทยสภา เพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ระหว่างแพทย์และประชาชน ซึ่งความไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่

  • มิติเชิงลึก แพทยสภาต้องรู้ลึก รู้จริง โดยอ้างอิงความรู้ทางการแพทย์และหลักวิชาการที่เป็นเหตุเป็นผล
  • มิติเชิงกว้าง นอกจากศาสตร์การแพทย์แล้ว แพทยสภาต้องรู้ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับสุขภาพด้วย โดยอาจารย์หมอประสิทธิ์ได้เน้นย้ำใน 6 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ และศิลปวัฒนธรรม พร้อมทั้งยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำครบทั้ง 6 เรื่องเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทย

“พระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสไว้ว่า ถ้าคนไทยสุขภาพไม่ดี ประเทศก็พัฒนาไปไม่ได้ ในด้านศิลปวัฒนธรรมพระองค์ก็ทรงส่งเสริม เพราะถ้าทำอย่างถูกต้องก็จะเกิดผลดี แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องก็อาจจะส่งผลในเชิงลบ เช่น วัฒนธรรมการกินของดิบเพราะเชื่อว่าทำให้แข็งแรง แต่สิ่งที่ได้มาคือพยาธิใบไม้ตับ สุดท้ายอาจกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้ต้องหาทางแก้ไข หรือในเรื่องของการศึกษา ถ้าการศึกษาไม่ดี ประชาชนก็จะขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพ ถ้าสังคมมีปัญหาเสพยาหรือครื่องดื่มมึนเมา คนก็ไม่มีทางมีสุขภาพที่ดีได้ ยิ่งถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็จะส่งผลให้ผู้คนเคร่งเครียด ไม่มีเวลาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าสิ่งที่พระองค์ทรงทำล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง ดังนั้นแพทยสภาจึงควรมองเรื่องสุขภาพในมิติเชิงกว้าง ต้องใส่ใจดูแลประชาชนทุกระดับ”

  • มิติเชิงยาว ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยระยะเวลา แพทยสภาจึงต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

ครบรอบ 50 ปีแพทยสภา

เนื่องจากในปี 2561 นี้จะครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งแพทยสภา อาจารย์หมอประสิทธิ์ได้เผยถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 50 ปีแพทยสภาว่าประกอบด้วยกิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการดูแลสุขภาพ ทั้งยังมีการรวบรวมประวัติศาสตร์ของแพทยสภาและการแพทย์  รวมทั้งกิจกรรมรณรงค์เรื่องการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการวิ่ง

“ในปีนี้การวิ่งจะแตกต่างไปจากเดิม เพราะจะเป็นกิจกรรมที่แพทย์ชวนคนไข้วิ่งหรือออกกำลังกาย เพราะนอกจากจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงแล้ว ในขณะวิ่งก็อาจเป็นโอกาสให้แพทย์และคนไข้ได้พูดคุยเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  เข้าใจความรู้สึกซึ่งกันและกัน ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นสายใยที่ดี”

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก รวมถึงการทำกิจกรรมแพทย์อาสา ซึ่งทางแพทยสภาได้ทำเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้จะมีความพิเศษตรงที่จะมีการชวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางออกไปหาคนไข้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลบางแห่งซึ่งขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่อาจารย์หมอประสิทธิ์ถือว่าเป็นไฮไลท์คือการค้นหาแพทย์ต้นแบบที่มีอายุไม่เกิน 70 ปี และยังมีชีวิตอยู่

“ก่อนหน้านี้เราเคยค้นหาแพทย์ต้นแบบที่มีอายุมากกว่า 70 ปีไปแล้ว ครั้งนี้จะเน้นไปที่แพทย์ที่มีอายุไม่เกิน 70 ปี หากใครสนใจอาจจะติดต่อเข้าไปพูดคุยหรือสอบถามได้ว่าท่านใช้ชีวิตอย่างไรจึงเป็นแพทย์ที่ดี ทำประโยชน์ให้กับสังคม” 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภาสมดุลชีวิตตามหลักคิดและการปฏิบัติของอาจารย์หมอประสิทธิ์ 

การใช้ชีวิตให้อยู่ในสมดุลเป็นสิ่งที่อาจารย์หมอประสิทธิ์ยึดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด โดยแบ่งเป็นสมดุล 4 ประการ

  • สมดุลแรก การจัดสรรเวลาการทำงาน เพื่อให้ได้งานที่ดี มีประสิทธิภาพ
  • สมดุลที่สอง การจัดสรรเวลาดูแลสุขภาพตนเอง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะมีสุขภาพที่ดี
  • สมดุลที่สาม การจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว ให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข ส่งผลให้เรามีความสุขเช่นกัน
  • สมดุลที่สี่ การจัดสรรเวลาให้กับสังคมและเพื่อนฝูง ในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องความสนุกสนานเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการแบ่งปันเวลาของตัวเองเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคมบ้าง

“ในโลกนี้ไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างยั่งยืนได้ถ้าเบื้องหลังมีสุขภาพที่แย่ลง หรือมีชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลว หรือทำเพื่อตัวเองเท่านั้น ไม่เคยทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อนฝูง ถ้าคนไทยรู้จักสร้างสมดุล 4 อย่างนี้ นอกจากจะส่งผลดีต่อตัวเองแล้ว ยังช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างยั่งยืนอีกด้วย” อาจารย์หมอประสิทธิ์ได้ฝากเป็นข้อคิดไว้ให้กับทุกคน

สร้างสมดุลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย

แม้จะมีงานรัดตัว แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์หมอประสิทธิ์ปฏิบัติอยู่เป็นประจำก็คือ การสร้างสมดุลด้านสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การวิ่งมาราธอน’

“ผมชอบวิ่งมาราธอน เริ่มวิ่งอย่างจริงจังในช่วงเข้ารับตำแหน่งคณบดี จุดเริ่มต้นมาจากการวิ่งรณรงค์ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองครั้งที่ 2 ผมได้รับเชิญไปเป็นประธานเปิดงาน และตัดสินใจได้เข้าร่วมการวิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตร เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย หลังจากวิ่งเสร็จปรากฏว่าลุกเดินแทบไม่ไหว แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองวิ่งได้ ตั้งแต่นั้นมาผมก็เริ่มฝึกซ้อม และเข้าร่วมการวิ่งอื่น ๆ อีกหลายครั้ง จากระยะทาง 10 กิโลเมตรก็เพิ่มเป็น 14 กิโลเมตร สำหรับในปีนี้ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะวิ่งฮาฟมาราธอนระยะทาง 21 กิโลเมตร ”

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภานอกจากสร้างสมดุลชีวิตด้วยการจัดสรรเวลาออกกำลังกายแล้ว แม้แต่ในเวลาทำงาน ขณะเดินไปประชุมตามอาคารต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย อาจารย์หมอก็เลือกใช้วิธีเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์

“ถ้าต้องไปประชุมตามตึกต่าง ๆ ผมจะใช้วิธีเดิน และเลือกใช้บันไดแทนการขึ้นลิฟต์ ซึ่งในแต่ละวันเฉพาะเดินในมหาวิทยาลัยก็เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,000 ก้าว หรือเกือบ 2 กิโลเมตร ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีแบบหนึ่ง” อีกหนึ่งเคล็ดลับสุขภาพของอาจารย์หมอประสิทธิ์ที่ท่านผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้เพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

 

Resource: HealthToday Magazine, No.202 February 2018