ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ – โภชนาการ ตัวชี้วัดการพัฒนา

0
2211

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าประเทศไทยเคยเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2517 ทำให้เด็กไทยผอมแห้ง แคระแกร็น รูปร่างเตี้ย การเจริญเติบโตหยุดชะงักหรือช้าลงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 50 เพราะการขาดวิตามินบางตัว ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ ทำให้เยื่อบุตาเสีย วิตามินบี ทำให้เด็กเป็นโรคปากนกกระจอก เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และการพัฒนาประชากรในระดับชาติ

สำหรับประเทศไทยในเวลานั้นถือว่ายังขาดตัวชี้วัดด้านโภชนาการที่ดี อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นเรื่องดีที่แพทย์เก่ง ๆ หลายท่านที่ผ่านการศึกษาและมีประสบการณ์ด้านการวิจัยจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศต่างกลับมาเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า และหนึ่งในแพทย์ผู้เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโภชนาการในเด็กอันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนั้นก็คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ต้นแบบสุขภาพของเราในฉบับนี้

โภชนาการ ตัวชี้วัดการพัฒนา

เนื่องจากเกิดและเติบโตมาในชนบท คุณหมอไกรสิทธิ์จึงมองเห็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นชนบทได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ‘คน’ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาในอีกหลายด้าน และหนึ่งในนั้นคือ ‘ด้านโภชนาการ’ เพราะโภชนาการที่ดีย่อมส่งผลต่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงและประสิทธิภาพในการศึกษาเล่าเรียน ด้วยเหตุนี้หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ.2511 และเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชอีก 1 ปี คุณหมอไกรสิทธิ์จึงได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศอีกประมาณ 6 ปี โดยเลือกศึกษาต่อเฉพาะทางกุมารแพทย์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี ต่อด้วยปริญญาเอกด้านโภชนาการ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology; MIT) เป็นเวลา 3 ปี และเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเฉพาะเด็ก โรงพยาบาลเมืองบอสตัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) อีก 1 ปีก่อนเดินทางกลับมาทำงานที่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2517

“ที่เลือกมาทำงานด้านเด็กและเน้นเรื่องโภชนาการเพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงระหว่างอาหารและสุขภาพ อีกทั้งเป็นเรื่องที่เราสามารถดูแลได้ทั้งในระดับบุคคลและประชากรหมู่มาก นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะพัฒนาโภชนาการของบุคคล ของชุมชน ของประเทศ หรือแม้แต่กระทั่งของภูมิภาค และของโลกได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีส่วนร่วมใน
ทุกระดับทุกขั้นตอนตามที่กล่าวมา

ต้นแบบสุขภาพ

ในช่วงแรกของการทำงานเมื่อปี พ.ศ.2517 เราเผชิญกับปัญหาเด็กไทยขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง โดยในขณะนั้นมีเด็กไทยที่มีลักษณะแคระแกร็น น้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมากถึงร้อยละ 50 ทั้งยังพบปัญหาการขาดวิตามินบางตัวอย่างชัดเจน เช่น การขาดวิตามินเอจนทำให้ตาบอดเนื่องจากเยื่อบุตาเสีย และโรคปากนกกระจอกจากการขาดวิตามินบี 2 เป็นต้น นอกจากนี้เรายังพบปัญหาโภชนาการใน
แม่เด็กอีกด้วย ดังนั้นนอกจากการสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ที่เลือกมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านโภชนาการให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘การทำวิจัย’ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาหารเด็ก และจากการที่ได้นำแนวคิดเรื่องโภชนาการ เรื่องอาหารเสริมสำหรับทารก อาหารเสริมสำหรับแม่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งได้ทำการวิจัยไว้ แล้วก็ไปร่วมการทำงานกับฝ่ายต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงทำให้เกิดเป็นแผนระดับชาติขึ้นมา ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา ในขณะเดียวกันผมเองก็ได้มีโอกาสทำงานในมุมมองที่กว้างขึ้น โดยได้ผลักดันให้มีการนำตัวชี้วัดทางด้านโภชนาการมาใช้เป็นตัวชี้วัดในการพัฒนาชนบทและการพัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย เนื่องจากคนยากจนมักขาดทั้งรายได้ ขาดทั้งความรู้ ขาดทั้งอาหาร และจากการนำความรู้วิชาการและกลไกในการบริหารตัวชี้วัดไปใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท  ส่งผลให้ในปัจจุบันจำนวนเด็กไทยที่มีน้ำหนักตัวและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานลดลงเหลือประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ไม่ใช่ผลงานของผม แต่เป็นผลงานของชาติที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย”

จากความสำเร็จนี้ได้ส่งให้คุณหมอไกรสิทธิ์ก้าวเข้าสู่เวทีโลก ได้เดินทางไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ในทุกภูมิภาคทั่วโลก ในขณะเดียวกันคุณหมอก็ยังคงทำงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่นำไปใช้ในวงกว้าง และได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นศาสตราจารย์ด้วยวัยเพียง 39 ปี

และจากการทำงานด้านการศึกษาและวิจัยมาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะมีภาระหน้าที่อื่น ๆ เพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ส่งผลให้คุณหมอไกรสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกจากสหพันธ์โภชนาการนานาชาติ (International Union of Nutrition Science: IUNS) ให้เป็นผู้ได้รับรางวัล The IUNS Lifetime Achievement Award ในฐานะ
ผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านโภชนาการ มีผลงานที่เป็นประโยชน์และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่กว่า
90 เรื่อง ซึ่งล้วนมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาทุพโภชนาการของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาและประชากรโลก นอกจากนี้ผลงานต่าง ๆ ยังถูกนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดแผนงานยุทธศาสตร์ในระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย

ต้นแบบสุขภาพรับมือกับอุปสรรคในทุกการทำงาน

ด้วยศักยภาพการทำงานที่โดดเด่น คุณหมอไกรสิทธิ์จึงได้รับการทาบทามจากหลายองค์กร มีโอกาสทำงานในบทบาทหน้าที่สำคัญ ๆ มากมาย มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ในวัย 40 ปีต้น ๆ คุณหมอไกรสิทธิ์ได้รับการชักชวนจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้นให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย จากนั้นในปี พ.ศ.2543 คุณหมอได้รับคำเชิญให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สำนักงานใหญ่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ปฏิบัติหน้าที่ดูแลและกำกับสำนักงานเลขานุการของกรรมาธิการมาตรฐานอาหารโลก (Codex Alimentarius Commission) แผนงานโภชนาการ และแผนงานอาหารปลอดภัยของ FAO เป็นเวลากว่า 6 ปี ทั้งยังมีโอกาสทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ก่อนจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทยอีกครั้งในปี พ.ศ.2549 และมีส่วนร่วมในการจัดการประชุมใหญ่ทางโภชนาการนานาชาติ ในปี พ.ศ.2552 มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 4,000 คนจาก 107 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ปัจจุบันคุณหมอไกรสิทธิ์ยังคงทุ่มเทให้กับงานในหลายด้านหลายองค์กร ซึ่งไม่อาจกล่าวถึงได้หมดในที่นี้ แต่ละงานล้วนเป็นงานที่ยากและท้าทาย ต้องทำงานกับคนหมู่มาก ซึ่งคุณหมอไกรสิทธิ์ได้ให้ข้อคิดและแนวทางการรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงานไว้อย่างน่าสนใจ

“อุปสรรคของการทำงานย่อมมีมาตลอด ทั้งอุปสรรคในเรื่องของปัญหาทางวิชาการ ปัญหาด้านเทคนิค ซึ่งส่วนนี้เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการวิจัยและพัฒนาเชิงวิชาการควบคู่ไปด้วย ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อแก้ไขอุปสรรคนี้ อย่างปัญหาเด็กขาดอาหาร แท้จริงแล้วเกิดจากอะไร ตัวที่จะเป็นคานดีดคานงัดอยู่ตรงไหน ซึ่งเราต้องอาศัยวิชาการเข้าไปช่วย และยังคงใช้แนวทางนี้มาตลอด

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ต้องตั้งคำถาม’ เราต้องตั้งคำถามตลอดเวลาว่าสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม ถ้าวิธีเดิมมันแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วทำไมต้องทำแบบเดิม การพัฒนาหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ทุกคนแทบจะไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าที่ทำ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้มันได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ต่างคนต่างก็ยุ่งกันหมด แต่งานกลับไม่ก้าวหน้า ดังนั้นเราจึงควรตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำให้มากขึ้นเพื่อพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ต้นแบบสุขภาพ

นอกจากการพัฒนาเชิงวิชาการและการตั้งคำถามแล้ว ในขณะเดียวกันเรื่องการบริหารจัดการคนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน บางคนมีบุคลิกการทำงานเข้ากับคนอื่นยาก หรือประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินไป แต่ต้องการรับผิดชอบงานในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องดูแลจัดการตัวเองให้มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในความสามารถ มีผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ แล้วโอกาสจะเข้ามาเอง ถ้าเราตั้งแนวคิดไว้แบบนี้ เราจะไม่อึดอัด และเมื่อมีโอกาสทำงานเพิ่มขึ้น เอางานเป็นที่ตั้ง ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทั้งนี้ต้องประเมินตัวเองด้วยว่าสามารถรับงานได้มากน้อยแค่ไหน”

ล่าสุดกับบทบาท ‘นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ‘

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2561 โดยคุณหมอไกรสิทธิ์กล่าวว่า บทบทบาทการทำงานของสภามหาวิทยาลัยจะเป็นการทำงานเชิงนโยบาย ดูแลในภาพรวม เพื่อให้การทำงานของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพ เน้นจริยธรรมคุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ต้นแบบสุขภาพ

“บทบาทของนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลก็คือทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยมหิดลร่วมไปกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยท่านอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งผู้แทนคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายของมหาวิทยาลัย เป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นคุณภาพในเชิงวิชาการ คุณภาพการวิจัย คุณภาพการเรียนการสอน โดยนำคุณภาพเหล่านี้ไปพัฒนาคนให้ออกไปทำประโยชน์ให้กับสังคมในทุกระดับ ทั้งระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก ต้องทำให้ได้ เพราะเราเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ เป็นที่เชื่อถือ อย่างไรก็ตามการบริหารงานในกิจกรรมและแผนงานโครงการต่างๆ ต้องไม่ไปก้าวก่ายการทำงานของอธิการบดี แต่จะเป็นการให้คำปรึกษาหารือและรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ สามารถประเมินความก้าวหน้าได้ตลอดเวลา นี่คือหลักการกว้าง ๆ”

รู้เท่าทันปัญหาสุขภาพ

ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ปัญหาสุขภาพของสังคมเมือง’ เนื่องจากมีคนอยู่อาศัยในเมืองมากขึ้น และในแต่ละท้องที่มีแนวโน้มที่จะเป็นเมืองมากขึ้น คุณหมอไกรสิทธิ์กล่าวว่า ‘อาหารและโภชนาการ’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาพื้นฐานที่พบได้ในสังคมเมือง แล้วเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

“ชีวิตที่เร่งรีบของสังคมเมืองทำให้ไม่มีเวลาประกอบอาหาร ต้องหาซื้ออาหารที่วางขายตามบาทวิถีหรือใน
ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้ว ผู้กินจึงต้องเท่าทันในคุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ และความปลอดภัยของอาหารเหล่านั้น เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วก็ต้องประเมินว่าตนเองมีสุขภาพเป็นอย่างไร และในขณะเดียวกันก็ต้องเท่าทันกระแสของการโฆษณาเกินจริงหรือการหลอกขายผลิตภัณฑ์ เพราะหลายคนอยากใช้เงินหาซื้อสิ่งที่กินแล้วดีต่อสุขภาพ ดังนั้นเราจึงต้องเลือกซื้อและบริโภคอย่างผู้ที่มีความรู้ เพราะถ้ากินไม่เป็น
ขาดความรู้เท่าทัน ปัญหาที่ตามมาคือ อ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็งบางประเภท เป็นต้น ซึ่งการจะรู้เท่าทันได้นั้น จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้เชิงวิชาการในเรื่องสุขภาพทั่ว ๆ ไปที่ดีและมากพอ จึงจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจที่จะเลือกซื้อเลือกบริโภคได้อย่างเหมาะสม

อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบในสังคมเมืองก็คือ การขาดกิจกรรมทางกาย ส่งผลให้น้ำหนักเกินและอ้วนมากขึ้น
นอกจากนี้เมื่อไม่ออกำลังกาย ความเครียดที่สะสมมาก็ไม่มีทางออก จึงต้องดูแลเรื่องนี้ด้วย ง่ายที่สุดคือ เดินให้ได้
วันละ 10,000 ก้าว กลับมาที่เรื่องสุขภาพจิตและจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจเช่นกัน เพราะความเป็นสังคมเมืองที่มีการแข่งขันสูงทำให้คนเครียดมากขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับความเครียดและโรคซึมเศร้าจึงเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการปลูกฝังเรื่องของสภาพจิตใจตั้งแต่เด็ก ๆ ให้มีการไหว้พระ สวดมนต์ เจริญสติ เรียนรู้การเป็นผู้ให้ และฝึกจิตให้มีสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาในการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาทั้งของตัวเอง ครอบครัว ชุมชนให้ได้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

ต้นแบบสุขภาพ

นอกจากนี้คุณหมอไกรสิทธิ์ยังเสริมด้วยว่า การส่งเสริมให้คนในสังคมรู้เท่าทันถือเป็นบทบาทอย่างหนึ่งของสถาบันวิชาการที่จะให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งขณะนี้หลายสถาบันได้ดำเนินการในส่วนนี้แล้ว รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้จัดทำสื่อโซเชียลมีเดียเผยแพร่ในหลายช่องทาง โดยใช้ชื่อว่า ‘มหิดล แชนแนล (Mahidol Channel)’ เป็นแหล่งความรู้ด้านสุขภาพ อาหาร การออกกำลังกาย ให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะต่าง ๆ อีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทันต่อสถานการณ์ รอให้เราทุกคนเข้าไปเติมเต็มความรู้กันได้ตลอดเวลาเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง

“การที่คนเราจะมีสุขภาพที่ดีได้นั้น 80% อยู่ที่พฤติกรรมสุขภาพของคนคนนั้น การบริการทางการแพทย์มีส่วนช่วยเพียง 10-15% เท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นการช่วยเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ไม่หวั่นไหวไปกับการโฆษณาที่เกินจริง ดูแลสุขภาพกาย โดยดูแลการกินและการออกกำลังกาย ร่วมกับดูแลจิตใจให้ดี มีความสงบ มีสติปัญญา และควรเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทัน” คุณหมอไกรสิทธิ์กล่าว
ทิ้งท้าย

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018