ปวดหู

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
3590
ปวดหู

ปวดหู เป็นอาการที่อาจพบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน แต่ผู้ใหญ่ก็อาจประสบกับปัญหานี้ได้เช่นกัน ซึ่งอาการปวดหูในผู้ใหญ่อาจจะถูกสับสนกับอาการปวดหัวหรือปวดคอ อาจมีอาการวิงเวียนร่วมด้วย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งเราจะมารู้ไปพร้อม ๆ กันว่า อาการปวดหูเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง และเมื่อไรที่เราควรไปพบแพทย์หากมีอาการ

สาเหตุก่อปัญหาปวดหู

  • การติดเชื้อ การติดเชื้อในหูเป็นสาเหตุของอาการปวดหูในเด็กอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว การติดเชื้อสามารถเกิดได้ทั้งบริเวณรูหูส่วนนอก ทำให้รูหูด้านนอกบวมแดงและปวดเวลามีอะไรมาโดน อาจทำให้ได้ยินเสียงลดลงหรืออาจจะไม่ได้ยินเลยเนื่องจากรูหูบวมมากจนเสียงผ่านไม่ได้ หรือการติดเชื้อในหูชั้นกลางที่พบว่าเกิดจากการเป็นหวัดมีน้ำมูก หรือว่าไอเจ็บคอแล้วมีการลามของเชื้อมายังหูชั้นกลางได้
  • ขี้หูอุดตัน ร่างกายเราจะสร้างขี้หูขึ้นมาเพื่อป้องกันฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ปกติแล้วขี้หูจะค่อย ๆ ถูกดันออกมาทางรูหูได้เองตามธรรมชาติ แต่ในบางกรณีที่ร่างกายไม่สามารถขับขี้หูออกมาได้ทัน ขี้หูก็อาจจะอุดตันในรูหู ทำให้ได้ยินเสียงลดลง ขี้หูที่แห้งแข็งอาจก่อให้เกิดอาการปวดหูได้
  • สิ่งแปลกปลอมหรือแมลงเข้าหู สาเหตุนี้พบบ่อยในเด็กเช่นกัน การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตันอยู่ในรูหู อาจก่ออาการระคายเคือง อักเสบในรูหูส่วนนอกได้ ส่วนการที่แมลงเข้าหูนั้น ใคร ๆ ก็คงจะทราบใช่มั้ยคะว่าสร้างความรำคาญและเจ็บปวดทรมาณขนาดไหน
  • การเปลี่ยนแปลงความดันโดยฉับพลัน อันนี้จะพบได้บ่อย ๆ เวลาขึ้นลิฟท์ ขึ้นที่สูง หรือว่าขึ้นเครื่องบิน เกิดเนื่องจากความดันในหูกับความดันภายนอกไม่สมดุลกัน ทำให้บริเวณเยื่อแก้วหูป่องออก หรือยุบเข้ามากเกินไป จนเกิดอาการปวดหูได้
  • การปวดที่ลามมาจากอวัยวะอื่น เนื่องจากบริเวณใบหน้ามีแขนงของเส้นประสาทที่ซับซ้อนไปมามากมาย ความผิดปกติของอวัยวะอื่น อาจจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดในบริเวณหูได้ เช่น การอักเสบ หรือหนองบริเวณเหงือกและฟัน โดยเฉพาะฟันกรามซึ่งอยู่ใกล้ ๆ หู ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ (TMJ osteoarthritis)
  • เนื้องอกในบริเวณศีรษะและลำคอ เนื่องจากในหูของมนุษย์นั้นมีท่อต่อเนื่องกับในโพรงจมูกและลำคอเพื่อสำหรับปรับสมดุลของความดันดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การเกิดก้อนเนื้อหรือความผิดปกติอื่นใดที่ไปอุดตันทำให้ท่อต่อนี้ใช้ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการหูอื้อ ปวดบริเวณหูเหมือนกับเวลาที่เราเปลี่ยนแปลงความดันอย่างรวดเร็วได้

ปวดหูกับวิธีดูแลเบื้องต้น

  • ข้อแรกที่สุดและสำคัญที่สุดที่ควรจะทำก็คือ ห้าม!! เอาอะไรแหย่เข้าไปในรูหูเด็ดขาด ในการดูแลช่องหูตามปกติ ไม่แนะนำให้ใช้ไม้แคะหูแหย่เข้าไปในหูเอง สาเหตุก็เพราะว่า การแหย่ไม้พันสำลีเข้าไปในหูนอกจากจะไม่ช่วยในการเอาขี้หูหรือสิ่งแปลกปลอมออกมาแล้ว ยังเป็นการดันสิ่งแปลกปลอมให้เข้าไปในหูลึกมากขึ้น หรือถ้าเป็นขี้หูก็จะยิ่งเป็นการดันให้ขี้หูอุดตันแน่นหนาขึ้น หากว่ามีการอักเสบในบริเวณหูชั้นนอก การเอาไม้พันสำลีแหย่รูหูนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดแล้ว ยังอาจทำให้การอักเสบลุกลามหนักกว่าเดิม การดูแลรูหูที่ถูกต้อง คือหากว่ามีน้ำเข้าหู ควรจะใช้ผ้าสะอาดซับ หรือไม้พันสำลีซับเบา ๆ แค่ภายนอกเท่านั้น
  • หากว่าสงสัยสิ่งแปลกปลอมเข้าในรูหู หรือแมลงเข้าในหู หรือสงสัยว่าจะมีขี้หูอุดตัน อาจใช้น้ำมันอุ่น ๆ หรือน้ำยาล้างแผลไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หยอดทีละน้อย หากเป็นขี้หูอุดตัน ขี้หูจะค่อย ๆ นุ่มและค่อย ๆ ละลายออกมา ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือแมลงก็จะไหลตามน้ำออกมาได้
  • อาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณหูส่วนนอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดหูที่เกิดจากการอักเสบลงได้

สุดท้ายหลังจากที่ดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการปวดหูยังไม่ดีขึ้น หรือสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออกมาจากหู ควรไปพบแพทย์เนื่องจากแพทย์หู คอ จมูก จะมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้สามารถเห็นสภาพอาการและความผิดปกติในรูหูได้ชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น

ขอเสริมสักเล็กน้อย…ในเรื่องของสาเหตุของอาการปวดหู เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อสื่อสารกันอย่างกว้างขวาง การใช้โทรศัพท์แนบหูเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหูได้เช่นกัน เนื่องจากในโทรศัพท์มือถือนั้นมีส่วนผสมของโลหะหลายชนิดซึ่งสามารถทำปฎิกริยากับเหงื่อ ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและการแพ้ของผิวหนังบริเวณที่สัมผัสโดนได้ การระคายเคืองนี้นอกจากจะเกิดกับผิวหนังด้านนอก ก็ยังอาจเกิดกับผิวหนังในบริเวณรูหู นำมาซึ่งอาการปวดหูได้เช่นกัน ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีอาการดังกล่าว แนะนำให้ลดหรืองดการใช้โทรศัพท์มือถือ หากจำเป็นต้องใช้อาจจะใช้อุปกรณ์แฮนฟรีเพื่อหลีกเลี่ยงการที่โทรศัพท์จะต้องมาสัมผัสกับหูโดยตรง

Resource: HealthToday Magazine, No.203 March 2018