กินกันเกาต์

อ.เอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร

0
1396

ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 45 ปี ยังไม่ได้สมรส มาตรวจสุขภาพประจำปี พบมีน้ำหนักตัว 90 กิโลกรัม ส่วนสูง 180 เซนติเมตร ดัชนีมวลกาย 27.78 กิโลกรัม/เมตร2 (อ้วน) ผลการตรวจร่างกายทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีเพียงผลตรวจในห้องปฏิบัติการที่พบว่ามีระดับยูริกในเลือดสูง 8.8 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ค่าปกติ) ปฏิเสธการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีอาการภายนอกที่บ่งชี้ว่าเป็นเกาต์ ผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วงของการลดน้ำหนัก โดย 3 เดือนที่ผ่านมาพยายามงดการกินข้าวแป้งทุกชนิด และเลือกรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์ เช่น สเต๊กปลาแซลมอน ไก่ย่าง หมูย่าง หมูสเต๊ะ เป็นต้น ทำให้น้ำหนักตัวลดลงจาก 98 เหลือ 89 กิโลกรัม แต่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมารู้สึกเพลียและอยากอาหารจึงเริ่มดื่มน้ำผึ้งมะนาวโซดา หรือน้ำผลไม้ปั่นวันละ 2 – 3 แก้ว น้ำหนักจึงเพิ่มขึ้นมา 1 กิโลกรัมเป็น 90 กิโลกรัม

แนวทางการปรับวิถีชีวิต

ผู้ป่วยมีความตั้งใจในการลดน้ำหนักถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นโรคเกาต์ การลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารจะช่วยให้ผู้ป่วยมีระดับยูริกอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ จากการศึกษาความสัมพันธ์ของการบริโภคอาหารกับระดับยูริกในเลือดพบว่า การรับประทานโปรตีนสูงช่วยเพิ่มการขับยูริกออกทางปัสสาวะ แต่การเลือกรับประทานแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล กลับทำให้ยูริกในเลือดเพิ่มขึ้น ในขณะที่การดื่มนมไขมันต่ำ และรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวแป้งไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ จะช่วยลดระดับยูริกในเลือดได้

ผู้ป่วยรายนี้เลือกวิธีการลดน้ำหนักโดยกินเนื้อสัตว์เป็นหลัก แม้จะช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้ยูริกในเลือดเพิ่มสูงได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยรายนี้ควรปรับแนวทางการลดน้ำหนักโดยการลดพลังงานจากการกินทั้งวันลง โดยเลือกกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือไขมันต่ำแต่พอดี เช่น นมจืดหรือโยเกิร์ตไขมัน 0% ไข่ ปลาน้ำจืด เนื้อหมูไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงสัตว์ปีก เครื่องใน อาหารทอดอาหารที่ใช้น้ำมันมาก เลือกรับประทานผักทุกมื้อโดยเน้นผักใบเป็นหลัก กินข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีตเพื่อให้เกิดความอิ่ม ช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำตาลกลูโครสอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่รู้สึกเพลีย งดดื่มน้ำผึ้งมะนาวโซดา หรือน้ำผลไม้ปั่น เพราะมีน้ำตาลฟรุกโตสสูง ทำให้ยูริกในเลือดยิ่งเพิ่มขึ้น แต่ให้ดื่มน้ำเปล่าก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกมื้อเพื่อช่วยให้รู้สึกอิ่ม และเพิ่มการขับยูริกออกทางปัสสาวะนั่นเอง นอกจากนี้เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการลดน้ำหนักให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น ผู้ป่วยควรเพิ่มการออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น การเดิน แกว่งแขน หรือปั่นจักรยานวันละ 30 นาทีด้วย

คำแนะนำทั่วไป

สำหรับใครที่มีปัญหายูริกในเลือดสูง สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ หอย อาหารทะเล กุ้งชีแฮ้ ปลาอินทรีย์ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาไส้ตัน ปลากะตัก ปลาแอนโชวี่ ปลาซาดีน ปลาดุก ปลาเล็กปลาน้อย กะปิ ไข่ปลา ซุปก้อน ซุปสกัด น้ำต้มกระดูก น้ำต้มเนื้อ ยีสต์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยีสต์ เช่น ขนมปัง เบเกอร์รี่ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ใบขี้เหล็ก หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ใบยอ กระถิน ยอดมะระ สะเดา
  • รับประทานอาหารประเภทข้าวแป้งไม่ขัดสี ผลไม้แต่พอดี และหลีกเลี่ยงขนมหวาน น้ำตาล เพราะอาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายขับถ่ายสารยูริกได้ไม่ดี
  • ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้เหมาะสมโดยรับประทานอาหารแบบไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารผัดน้ำมันมาก
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักโดยงดเว้นอาหารที่ให้พลังงานมาก ได้แก่ ขนมหวานต่างๆ อาหารที่มีไขมันมาก เช่น อาหารทอด อาหารหวานที่มีน้ำตาลและไขมันมาก เพราะเมื่อน้ำหนักลงกรดยูริกในเลือดก็จะลงด้วย
  • ดื่มน้ำมากๆ

Resource : HealthToday Magazine, No.177 January 2016