น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

0
27062

การที่คนเรามีน้ำหนักลดลงด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายนับว่าเป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ในทางกลับกัน การที่น้ำหนักลดลงเองโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนิสัยการกินหรือการออกกำลังกายเลยนั้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย ที่อาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารหรือการเผาผลาญพลังงานที่เราได้รับเข้าไป ทำให้น้ำหนักตัวค่อย ๆ ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป การที่น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุนั้นส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพโดยรวม และเชื่อว่าจะเพิ่มอัตราการเกิดความพิการหรือทุพพลภาพ รวมไปถึงอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นด้วย

น้ำหนักลดเท่าไหร่จึงจะน่ากังวล?

ทางการแพทย์ตกลงกันว่า หากน้ำหนักลดลงมากกว่า 5% ของน้ำหนักตัวตั้งต้นในช่วงเวลา 6-12 เดือน ถือเป็นสัญญาณที่แสดงออกว่าร่างกายกำลังจะมีปัญหาแล้ว อย่างเช่น ถ้าเดิมหนัก 60 กิโลกรัม แต่น้ำหนักค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจนมามีน้ำหนัก 57 กิโลกรัมในช่วงเวลา 6 ถึง 12 เดือน เป็นต้น

สำหรับสาเหตุของการที่น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจลดนั้นเกิดได้จากหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่นเบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ แม้กระทั่งถุงลมโป่งพองหรือหอบหืดก็อาจส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้ โรคติดเชื้อเรื้อรังอย่างวัณโรค พยาธิในลำไส้ ยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ก็อาจเป็นสาเหตุของน้ำหนักลดได้เช่นกัน บ่อยครั้งที่พบว่าความเครียดหรือสภาวะผิดปกติทางอารมณ์ก็ทำให้เบื่ออาหารและน้ำหนักลดลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการที่น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุก็คือ โรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ

เมื่อไหร่ที่น้ำหนักลดลงจนน่ากังวล และควรไปพบแพทย์?

น้ำหนักที่ลดลงมากกว่า 5% ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุในช่วง 6-12 เดือนนั้นเป็นเหตุผลหลักที่ควรจะไปพบแพทย์ แต่อาจจะไปพบแพทย์เร็วกว่านั้นหากว่าผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 65 ปี เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการมีน้ำหนักลดในคนสูงอายุนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่าง ๆ ขึ้นอีกมาก นอกจากนี้…การมีน้ำหนักลดที่ร่วมกับมีอาการต่อไปนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่เข้ามาเยี่ยมเยือนอย่างเงียบ ๆ

  1. มีอาการไอ หอบเหนื่อยที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัดร่วมกับน้ำหนักลด แบบนี้อาจจะบ่งบอกว่ามีโรคร้ายซ่อนอยู่ในปอด ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อร้าย หรือแม้กระทั่งวัณโรคของปอด
  2. ท้องผูกสลับกับท้องเสีย กล่าวคือท้องผูกเป็นเวลานาน ๆ สลับกับท้องเสียครั้งหรือสองครั้ง มีอาการถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลงติดต่อกัน ถ่ายเป็นมูกเลือดหรือถ่ายดำ อาการเช่นนี้อาจจะบ่งบอกว่ามีรอยโรคของระบบทางเดินอาหาร
  3. มีก้อนที่เต้านม มีแผลเรื้อรังบริเวณเต้านม หรือมีน้ำนมหรือน้ำหนองไหลจากบริเวณหัวนมโดยไม่สัมพันธ์กับการมีบุตร
  4. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้วแต่ยังมีเลือดออกอยู่ อาจเป็นอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
  5. มีก้อนของต่อมน้ำเหลืองขึ้นตามที่ต่าง ๆ โดยมากมักจะเจอที่คอ ขาหนีบ หรือรักแร้ทั้งสองข้าง ก้อนเหล่านี้มักจะขึ้นติด ๆ กันในลักษณะเป็นสาย

การรักษาอาการน้ำหนักลดไม่ทราบเหตุนี้ไม่มีหลักการที่ตายตัว แต่โดยมากคือการเน้นค้นหาและรักษาที่ต้นเหตุของอาการน้ำหนักลดเป็นหลัก เพราะฉะนั้น…หลักการดูแลตัวเองเบื้องต้นไม่ว่าคุณจะต้องการเพิ่มหรือลดน้ำหนัก หรือคุณเป็นคนที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้วก็ตาม ก็คือการเฝ้าติดตามน้ำหนักตัวของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเปรียบเทียบและสามารถบ่งชี้ความผิดปกติได้ง่ายและเร็วมากขึ้น จะนำไปสู่การรักษาอย่างทันท่วงที

Resource: HealthToday Magazine, No.197 September 2017