ไข้หวัดใหญ่ “เรื่องใหญ่” กว่าที่คิด

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
1833

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว หมอทุกคนจะรู้ดีว่าเราต้องเตรียมรับมือกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่มาพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างโรคไข้หวัดใหญ่ เพียงแต่ในปีนี้หมอคิดว่าเราอาจต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดอยู่สักหน่อยครับ เพราะโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้นั้นอาจเป็นเรื่อง “ใหญ่” กว่าที่คิด

ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังติดตามสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในฮ่องกงอย่างใกล้ชิดครับ หลังจากมีการแพร่ระบาดของ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอช 3 เอ็น 2” (H3N2influenza) หรือที่เรียกว่า “ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง” (Hong Kong Flu) โดยสาเหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดมาจากเกาะฮ่องกงแห่งนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้วนั่นเองครับ

ในช่วงนี้เริ่มมีรายงานการระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ในฮ่องกงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยรุนแรงกว่า 70 ราย จนกระทั่งต้นเดือนกรกฎาคมตัวเลขก็ยังพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ครับ โดยหากเปรียบเทียบตัวเลขในเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 155 คน แต่ทว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้กลับมีตัวเลขสูงถึง 2,746 คน มากกว่ากันหลายเท่าตัวเลยทีเดียวครับ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสหลายท่านมีความกังวลว่าการกลับมาคราวนี้ของไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นั่นคืออาจมีแนวโน้มจะกลายพันธุ์ทำให้เชื้อมีความรุนแรง (virulence) ที่มากขึ้น และรักษาได้ยากเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ในอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ไวรัส “เอช 3 เอ็น 2” พบครั้งแรกในผู้ป่วยฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ.2511 โดยมีการระบาดมาจากนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เกาะฮ่องกงขณะนั้นมีประชากรประมาณ 3 ล้านคน ปรากฏว่าติดเชื้อไวรัสตัวนี้มากถึง 5 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 15 เลยทีเดียวครับ จากนั้นก็มีการแพร่ระบาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ข้ามไปสู่ทวีปออสเตรเลีย ทวีปยุโรป และอเมริกา ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลกหลายแสนคนเลยทีเดียวครับ

การกลับมาระบาดอย่างรุนแรงต่อเนื่องของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ในฮ่องกงจึงนับว่าเป็นที่น่าจับตามองมากครับ เพราะพบว่าไวรัสชนิดนี้สามารถลุกลามเข้าถึงปอดได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือแค่ 1-2 วันโดยถ้าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั่วไปใช้เวลา 2-3 วัน เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก โดยสิ่งที่น่าสังเกตคือ พบว่ามีกลุ่มผู้ป่วยเป็นเด็กวัยรุ่นที่ร่างกายแข็งแรงจำนวนมากอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้นมีรายงานว่าตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งสิ้น 43,082 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนเสียชีวิต 5 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี

เมื่อไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มจะเป็นเรื่องใหญ่เช่นนี้แล้ว หมอจึงอยากแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักอาการและวิธีการป้องกันการติดเชื้อกันดีกว่าครับ อย่าลืมว่าการไม่เป็นโรค ถือเป็นลาภอันประเสิฐที่สุดนะครับ ฉะนั้น “กัน” ไว้ย่อมดีกว่า “แก้” ครับ

อาการแบบไหนถึงเข้าได้กับ “ไข้หวัดใหญ่”

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือจุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจนแทบลุกจากเตียงไม่ได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุมักมีอาการซึมสับสนร่วมด้วย อีกทั้งอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุมักมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ และอาจพบอาการแทรกซ้อนได้บ่อย ๆ

เมื่อใดที่ต้องมาพบแพทย์

หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว การสังเกตอาการเองที่บ้านเป็นเวลานานเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้มากขึ้นอีกด้วยครับ

การรักษาไข้หวัดใหญ่ทำอย่างไรบ้าง

การรักษาไข้หวัดใหญ่ที่ได้ผลนั้นผู้ป่วยควรได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการไข้ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนั้นจะเป็นการรักษาตามอาการและพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้นครับ

การป้องกันไข้หวัดใหญ่

โรคไขัหวัดใหญ่นั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี เพราะในแต่ละปีเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงตลอด วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเชื้อที่ระบาดในช่วงปีนั้น โดยหลักแล้วจะครอบคลุม 3 สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลปีนี้คือ ปี พ.ศ. 2560 ที่บริการฉีดฟรีให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ “เอ มิชิแกน เอช1เอ็น 1”  (A Michigan H1N1) สายพันธุ์ “เอ ฮ่องกง เอช 3 เอ็น 2”  (A/ Hong Kong H3N2) และสายพันธุ์ “บี บริสเบรน (B Brisbane) โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 7. ผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก.

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือที่คนพลุกพล่านซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ ให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการจับสิ่งของสาธารณะ และเมื่อมีการเจ็บป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด เพื่อพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติครับ

สุดท้ายนี้หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะปลอดภัยได้ลาภอันประเสริฐคือการไม่มีโรคภัยรุนแรงในปีนี้ทุกคนนะครับ

Resource: HealthToday Magazine, No.197 September 2017