ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล – เริ่มต้น…ที่ตนเอง

0
6354
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล

ในสภาวะที่ชีวิตมีแต่ความรีบเร่ง ทุกคนต่างมีภาระหน้าที่มากมายให้ต้องรับผิดชอบ เราสามารถรับมือกับปัญหาที่
เกิดขึ้นได้ดีเพียงใด เรา
มีเวลาดูแลตัวเองกันมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนคงมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันไป สำหรับใครที่ยังตั้งรับกับความโกลาหลของชีวิตไม่ได้ รู้สึกไม่มีความสุข หรือกำลังมองหาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต อยากให้ติดตามบทสัมภาษณ์ของ .พญ.อรพรรณ โพชนุกูล (หมอแอน) รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ “ต้นแบบสุขภาพ” ฉบับนี้ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะได้แนวทางทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขในทุกช่วงเวลา แถมด้วยความรู้เรื่องการดูแลตนเองจากโรคภูมิแพ้และหอบหืดไว้ไปแนะนำ
คนใกล้ชิดอีกด้วยค่ะ

ทีมเวิร์ค จุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ

วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมนับเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้สามารถส่งผลได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลยทีเดียว มีการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษ ฝุ่น ควัน ควันบุหรี่ หรือกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระน้อย มีไขมันไม่ดีมาก อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบยีน ส่งผลให้เด็กที่เกิดมาเป็นภูมิแพ้ได้ง่าย ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ คุณหมอแอนจึงได้จัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ ขึ้น เพื่อให้บริการผู้ป่วยแบบ One Stop Service

“ที่มาของศูนย์ความเป็นเลิศฯ เริ่มจากการที่เราชอบทำในส่วนของการให้ความรู้ประชาชน (Patient education) ซึ่งโรคภูมิแพ้และหอบหืดถือเป็นโรคเรื้อรัง สิ่งสำคัญคือคนไข้ต้องดูแลตัวเอง ต่อให้เราจ่ายยาดีแค่ไหนแต่ถ้าคนไข้
ไม่ดูแลตัวเองก็ไม่มีประโยชน์ จึงตั้งชมรมผู้ป่วยโรคหืด และจัด
Asthma Camp เพื่อให้ความรู้คนไข้ ปรากฏว่ามีคนมาช่วยงานเยอะ ทำให้เรารู้ว่าการรักษาโรคกลุ่มนี้ต้องทำงานเป็นทีมเวิร์คจึงจะดูแลคนไข้ได้ดี คือมีทั้งพยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ หมอภูมิแพ้ หมอหู คอ จมูก หมอผิวหนัง หมอทางเดินหายใจ หลังจากที่รวมทีมกันได้ มีทีมที่เข้มแข็ง เราก็อยากให้คนไข้ได้รับบริการที่ดี เป็น One Stop Service ไม่ใช่ต้องมาหาหมอภูมิแพ้วันหนึ่ง หมอหู คอ จมูกวันหนึ่ง จึงไปขออนุญาตผู้บริหารในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศฯ ซึ่งทางผู้บริหารก็อนุญาตและจัดหาพื้นที่ให้ แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ เราจึงต้องหาทุนมาจัดสร้างศูนย์ฯ เอง ตรงนี้ไม่ได้
มองว่าเป็นอุปสรรค เพราะสิ่งสำคัญคือ
ทีมเรื่องเงินเราก็ไปหามา ด้วยความที่ก่อนหน้านี้ทำโครงการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ ได้รู้จักกับพระหลายรูป และมีโอกาสไปกราบสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งวันนั้นเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน ท่านก็เมตตาให้สร้างพระกริ่งรุ่นศูนย์ภูมิแพ้เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่าน แล้วก็มีการจัดทอดผ้าป่าระดมทุนช่วยสร้างศูนย์ภูมิแพ้ รวมกับเงินบริจาคของตัวเอง ครอบครัว และเพื่อน ๆ ที่เห็นถึงความตั้งใจจริงของเรา รวมแล้วได้เงินบริจาคมาประมาณ 6 ล้านกว่า ก็นำมาสร้างศูนย์ฯ แห่งนี้ โดยเราเป็นคนวางคอนเซ็ปต์เองทั้งหมด เน้นให้มีสีสันสดใส เพราะคนไข้มาแล้วจะได้รู้สึกสดชื่น ไม่หดหู่

สำหรับก้าวต่อไปของศูนย์ฯ คือการเป็น Smart clinic เพื่อให้ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 เรามีการนำระบบไอทีมาช่วย จัดทำแอพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วยโรคหืด ทำระบบคิวออนไลน์ คนไข้จะรู้ได้เลยว่าอีกกี่นาทีจะถึงคิวตรวจของตัวเอง ข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ช่วยให้ค้นหาได้ง่าย ดึงข้อมูลมาดูได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำไปทำวิจัยต่อยอดได้ด้วย ตอนนี้วางโครงสร้างทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง”

ทั้งหมดนี้คือที่มาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า
2 ปี ผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2926 9193 หรือ 0 2926 9999 และสามารถติดตามข้อมูลของศูนย์ฯ ได้ที่เว็บไซต์ http://beatallergyth.com และ Facebook: ภูมิแพ้ก็แพ้เรา (beatallergy)

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูลศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล

4 Es หลักสำคัญในการดูแลโรคภูมิแพ้

ไม่เพียงแต่เป็นคุณหมอรักษาโรคภูมิแพ้ คุณหมอแอนยังเป็นภูมิแพ้เองอีกด้วย แต่แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหา
คุณหมอแอนบอกกับทีมงานว่าโชคดีที่เป็นภูมิแพ้ จึงมีโอกาสหาวิธีหรือแนวทางที่จะทำให้อาการของโรคดีขึ้นด้วยการทดลองกับตัวเอง จนเป็นที่มาของ
4 Es หลักการดี ๆ ในการดูแลตัวเองของคนไข้ภูมิแพ้

ปัจจุบันใช้หลัก 4 Es ในการดูแลคนไข้ภูมิแพ้ ซึ่งเป็นหลักทฤษฎีที่คิดขึ้นมาเอง มี Exercise, Eating, Environment และ Emotion Exercise คือ ออกกำลังกาย มีการศึกษาเยอะมากว่าการออกกำลังกายช่วยให้ภูมิแพ้ดีขึ้น และจากการที่ได้ดูแลคนไข้ภูมิแพ้ รู้ว่าคนไข้ต้องใช้ยาค่อนข้างเยอะ ซึ่งคนไข้ก็ไม่ได้อยากกินยา เราเอง
ก็ไม่ได้อยากให้คนไข้ใช้ยาเยอะ โชคดีที่ตัวเองเป็นภูมิแพ้ ก็เลยเอามาทดลองกับตัวเอง ปรากฎว่าเห็นผล หลังจากออกกำลังกายแล้วภูมิแพ้ดีขึ้นมาก จึงพยายามแนะนำคนไข้ให้ออกกำลังกาย คนไข้บางส่วนที่ทำตามก็สามารถลดยาหรือหยุดยาได้ แต่ไม่ใช่ว่าออกกำลังกายแล้วจะช่วยให้หายทุกรายเสมอไป แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ลดการใช้ยาได้
Eating คือ อาหารการกิน เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไข้ภูมิแพ้ รวมทั้งโรคเรื้อรังอื่น ๆ Environment คือ
สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิแพ้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมลพิษต่าง ๆ ฝุ่น ควัน บุหรี่
Emotion คือ อารมณ์ ความเครียด ซึมเศร้า มีผลทำให้ภูมิแพ้กำเริบ จึงต้องรู้วิธีที่จะบริหารจัดการกับอารมณ์ของตัวเองด้วย”

หลัก 4 Es นี้ นอกจากจะใช้ได้ผลในคนไข้ภูมิแพ้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ช่วยให้ห่างไกลจากโรคอื่น ๆ

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่สานฝันให้เป็นจริง

แรกเริ่มเดิมทีคุณหมอแอนตั้งใจจะเป็นหมอชนบทเพื่อช่วยเหลือคนไข้ให้เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่เมื่อได้ไปทำงานที่โรงพยาบาลศูนย์ฯ ได้เห็นความแตกต่างของจำนวนคนไข้กับหมอ คุณหมอแอนจึงมีความคิดที่จะเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ เพื่อช่วยผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้กับสังคม อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเส้นทางชีวิตของคุณหมอจะเปลี่ยนจากหมอชนบทมาเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ แต่คุณหมอก็ยังคงสานต่อความฝันในวัยเด็ก คือ การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กิจกรรมที่คุณหมอแอนทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

“ที่ตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านภูมิแพ้ ส่วนหนึ่งเพราะเพื่อนแนะนำ อีกส่วนหนึ่งคือพบว่าภูมิแพ้เป็นโรคที่คนไทยเป็นเยอะ และอัตราส่วนของหมอต่อจำนวนผู้ป่วยภูมิแพ้ในขณะนั้นอยู่ที่ 1 ต่อล้าน ถือว่าขาดแคลนมาก จึงเลือกเรียนด้านนี้ โดยมี ศ.นพ.ปกิต วิชยานนท์ เป็นต้นแบบ ตัดสินใจไปเรียนกับอาจารย์เพราะว่าชีวิตนี้คนที่เราควรจะอยู่ใกล้มี
3 ประเภทคือ คนดี คนเก่ง คนคิดบวก อาจารย์ปกิตเป็นคนเก่งมาก ตอนนั้นไม่ได้รู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัว รู้แต่ว่าอาจารย์เก่งมาก จึงอยากเรียนกับอาจารย์ ถือว่าเป็นโชคดีของเราเพราะอาจารย์ปกิตทั้งเป็นคนเก่งทั้งเป็นคนดี มีเมตตากับลูกศิษย์มาก พอได้ไปเรียนกับท่านก็รู้สึกมุ่งมั่นที่จะเป็นอาจารย์มากขึ้นไปอีก ก็เลยเปลี่ยนจากหมอชนบทมาเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาก เป็นความใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยรวมตัวกับเพื่อน ๆ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มีโครงการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ ปีหนึ่งก็ประมาณ 3-4 ครั้ง ที่เน้นพระสงฆ์เพราะเวลาท่านมาหาหมอ พระต้องจ่ายเงินเอง ยกเว้นไปรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์จึงจะไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบกับพระสงฆ์เป็นภูมิแพ้เยอะมากเนื่องจากในวัดมีสารก่อภูมิแพ้หลายอย่างทั้งพรม ควันธูป หมาแมวที่คนเอามาปล่อยวัด ส่วนตัวมองว่าเป็นการออกหน่วยฯ เป็นกิจกรรมที่ได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เพราะเราไปออกหน่วยฯ ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล บางทีพระท่านก็แนะนำว่าหมอแอนไปที่นั่นที่นี่สิ

กลุ่มที่มาช่วยงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ก็เป็นกลุ่มเพื่อน ๆ ซึ่งมีหลากหลายมากทั้งที่เป็นหมอและไม่ใช่หมอ รวมถึงคนไข้ที่เป็นแฟนคลับ โดยเราจะมีกลุ่มไลน์ชื่อ Asthma gang ไว้คอยส่งข่าวถึงกัน ใครสะดวกมาร่วมก็มา ทุกคนต้องจ่ายเงินเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร รวมถึงค่ายาสำหรับรักษาคนไข้กันเอง เพราะเป็นกลุ่มอิสระ ไม่ได้
ขึ้นกับหน่วยงานใด มีหัวหน้าแก๊งค์คืออรพรรณเท่านั้นเอง (หัวเราะ) ส่วนการตรวจเราจะตรวจทุกอย่าง ตรวจละเอียด มีทั้งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ทดสอบสมรรถภาพปอด ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ประมาณนี้ สำหรับการออกหน่วยฯ ครั้งต่อไปจะมีประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้ที่วังน้ำเขียว”

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูลงานวิจัยเพื่อคนไทย

นอกจากงานด้านการรักษา คุณหมอแอนยังทำงานด้านการวิจัยอีกด้วย ปัจจุบันผลงานการวิจัยของคุณหมอแอนได้รับอนุสิทธิบัตรแล้ว 4 งาน และได้รับสิทธิบัตรอีก 1 งาน โดยมีรางวัลการันตีคุณภาพและประโยชน์ของงานวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกเกือบ 10 รางวัล

“อนุสิทธิบัตรที่ได้รับรางวัลเป็นอุปกรณ์พ่นยาที่ช่วยรักษาคนไข้หอบหืด เป็นแบบ DIY คือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคนสนใจมาก ได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงานทั่วโลก หลังจากนั้นสถาบันพลาสติกก็เข้ามาช่วยพัฒนา ผลิตออกมาเป็นเชิงอุตสาหกรรม ตอนนี้ผลิตสำหรับแจกคนไข้ทั่วประเทศ ไม่ได้ทำขาย เพราะยังคิดตกผลึกไม่ได้ ไม่ถนัดเรื่องธุรกิจ มีความรู้สึกแค่ว่าอยากให้คนไทยเข้าถึงอุปกรณ์พ่นยา เพราะว่าคนไทยที่เป็นหอบหืดมี spacer หรืออุปกรณ์ช่วยพ่นยาใช้แค่ร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการ จึงขอสปอนเซอร์จากนิคมอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก และองค์กรต่าง ๆ ให้เป็น CSR แล้วนำไปแจกคนไข้ อันที่จริงก็คิดไว้เหมือนกันว่าต้องขยายขอบเขตให้คนเข้าถึงได้มากกว่านี้ เพราะการทำแจกไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด บางคนอยากได้แต่หาซื้อ
ไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับสิทธิบัตรคือเรื่องยารักษาภูมิแพ้ หอบหืด เป็นการพัฒนายาจากสมุนไพรขึ้นมาเป็นยาแผนปัจจุบัน ทำวิจัยมา 10 ปีแล้ว ตอนนี้มีใช้เฉพาะในการวิจัยเท่านั้น กำลังเข้าสู่เฟส 3 คือการทำวิจัยในกลุ่มคนไข้กลุ่มใหญ่
คุยกับ อย
. มา 2-3 ครั้งแล้ว ซึ่งเขาก็สนใจ ถ้าเฟส 3 เสร็จก็จะขอขึ้นทะเบียน อย. เป็นยาแผนปัจจุบัน ชีวิตนี้ก่อนตายอยากทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ คืออยากให้คนไทยได้ใช้ของดี แล้วคนไทยเข้าถึงได้ เพราะยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เกี่ยวกับภูมิแพ้นั้นแพงมากและนำเข้าทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยต้องเสียเงินในส่วนนี้เยอะมาก ประกอบกับเราทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลจึงรู้ว่าคนไข้ไม่ได้เข้าถึงยาได้ทั้งหมด ยาหลายตัวมีราคาค่อนข้างแพง จึงเป็นที่มาของการวิจัยยาตัวนี้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เราเจอ”

นับว่าเป็นข่าวดีของคนไทยและคนไข้ภูมิแพ้ เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะได้มียาที่วิจัยโดยคนไทย เพื่อคนไทย ให้คนไทยได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม

พัฒนาตน พัฒนาคน

นอกจากการรักษา การวิจัย คุณหมอแอนยังรับผิดชอบงานด้านบริหารด้วยเช่นกัน นอกจากตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว คุณหมอยังเป็นกรรมการมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งนายกผู้รั้งสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทยอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่
คุณหมอแอนมองว่าเป็นแรงผลักดันที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากยิ่งขึ้น

“ตอนนี้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ต้องดูแลนักศึกษาประมาณ –30,000 คน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิด
หัวก้าวหน้า มีความสามารถหลากหลาย เป็นอะไรที่เปลี่ยนชีวิตไปเยอะเหมือนกันค่ะ มันทำให้เราได้พัฒนาตัวเองเยอะมาก เพราะได้เจอนักศึกษาทุกสาขา ไม่ได้คุยเฉพาะแต่กับแพทย์ด้วยกันเท่านั้น ทำให้ตัวเองต้องพัฒนาทักษะ
หลายด้าน ถือว่าเป็นอะไรที่ท้าท้าย และเราก็อยากทำให้ดีที่สุด จึงฝึกฝนตัวเองเยอะมากเพราะหน้าที่เราคือการพัฒนานักศึกษาให้มีทั้งทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาตัวเองก่อน ถ้าตัวเองไม่พัฒนาตัวเองจะไปพัฒนาคนอื่นได้อย่างไร ก็เริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือและคุยกับกูรู คือคุยกับคนเก่ง ๆ ขอนัดคุย ไปเจอ ถามความ
คิดเห็น หนังสือที่อ่านส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพกับหนังสือธรรมะ อย่างหลังนี่เราก็พยายามนำมาปรับให้เข้ากับวัยรุ่นได้ ตอนนี้กำลังพัฒนาหลักสูตรชีวิตออนไลน์อยู่ เพราะอยากให้เขามีทักษะในการใช้ชีวิต
ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะเป็นคนเก่งแต่เป็นคนที่ไม่มีความสุข ไม่มีอะไรที่ทำเพื่อคนอื่น ที่สำคัญคือเราต้องพัฒนาตัวเองก่อน เมื่อคิดจนตกผลึกจึงจะค่อย ๆ คิดเป็นแนวทางในการพัฒนานักศึกษา แล้วก็ต้องพัฒนาตัวเองเรื่องของดิจิทัลด้วย เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่จะอยู่กับมือถือ เราก็ต้องพัฒนาสื่อให้เข้าถึงเขา ให้ตอบโจทย์ของเขา แล้วก็สร้างสื่อให้ทันสมัย อยู่บนรูปแบบออนไลน์”

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูลมองปัญหาเป็นข้อดี

ใครบ้างที่ไม่เคยมีปัญหา เราทุกคนล้วนมีปัญหา หนักบ้าง เบาบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละช่วงชีวิต เมื่อเกิดปัญหา ความเครียดก็ตามมา ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้น คุณหมอแอนก็เช่นเดียวกัน แต่โชคดีที่คุณหมอมีระบบจัดการความคิดที่ดี เหมือนมีลิ้นชักเปิดปิด ความเครียดที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ เพราะคุณหมอจะเก็บมันเข้า
ลิ้นชัก แล้วทำเรื่องอื่นต่อไป ไม่เอาสองเรื่องมาปนกัน นอกจากนี้เนื่องจากคุณหมอแอนมีโอกาสสนทนาธรรมกับ
พระนักปฏิบัติค่อนข้างมาก และมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง จึงได้เรียนรู้หลักการใช้ชีวิตที่ทำให้ทุกข์ลดลง มี
ความสุขมากขึ้น สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องมีวินัยในการฝึกฝน

“หลักการของตัวเองคือ ทาน ศีล ภาวนา ทาน คือ การให้ ให้โดยไม่มีตัวตน เพราะมีความรู้สึกว่าเราเกิดมาทั้งทีควรจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง ได้เป็นผู้ให้ ซึ่งการให้ไม่จำเป็นต้องรอ บางคนรอให้แก่มาแล้วค่อยทำ บ้างก็รอให้มีเงินแล้วค่อยให้ จริง ๆ แล้วการให้มีหลายอย่าง เช่น ให้เงิน ให้เป็นแรงงาน ให้ความคิด และควรให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เมื่อก่อนถ้าให้แล้วเขาไม่เห็นหัวเรา เราจะทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว

ศีล คือ ความมีวินัย หมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอเพื่อพัฒนาศักยภาพ อย่างตอนนี้ก็ฝึกฝนอยู่หลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ด้านจิตใจก็จะฝึกเดินจงกรมทุกวัน เช้าเย็น ถ้าวันไหนทำไม่ได้ก็จะชดเชย เป็นวิธีที่พระท่านแนะนำให้ปฏิบัติ เป็นการฝึกให้ดึงจิตมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดวอกแวก เพราะจริง ๆ แล้วความทุกข์ของคนเราขึ้นอยู่กับความคิด สมมติตอนนี้เรากำลังหงุดหงิดว่าทำไมลูกศิษย์เราแย่แบบนี้ เราก็ดึงความคิดกลับมาอยู่กับตัวเองอยู่กับปัจจุบันซะ เพราะลูกศิษย์ไม่ได้อยู่กับเราตอนนี้ ทำไมเราต้องไปทุกข์ด้วย ซึ่งถ้าเราไม่ลองฝึกหรือไม่มีวินัยในการฝึกฝน เราก็จะไม่รู้ว่ามันช่วยอะไรได้ แต่ถ้าฝึกปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่าตัวเองนิ่งขึ้น ทุกข์น้อย ส่วนด้านร่างกายจะออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น

ภาวนา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องมีความสุขกับตัวเอง ไม่มีสิ่งใดจะทำให้เราทุกข์ได้ถ้าเราอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข ถ้าเรามีภาวนาหรืออยู่กับปัจจุบัน ความทุกข์จะน้อยลงมาก เวลาทำงานทำให้เต็มที่ แต่ถ้าทำเต็มที่แล้ว พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่แล้ว ได้แค่ไหนก็แค่นั้น หากคิดได้อย่างนี้ความทุกข์ความเครียดก็จะน้อยลง นอกจากนี้ในระหว่างทางที่เกิดปัญหาเราจะได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ได้พัฒนาตัวเอง คนเราถ้าไม่มีปัญหาชีวิตไม่มีทางเก่ง เพราะฉะนั้นสำหรับตัวเองแล้ว ยิ่งงานเยอะยิ่งชอบ ยิ่งเคสยาก ๆ ยิ่งชอบ เพราะทำให้ตัวเองเก่งขึ้น ได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา มองปัญหาเป็นข้อดี ทุกวันนี้ปัญหาที่เจอใหญ่กว่าเมื่อก่อนเยอะ แต่เรากลับทุกข์น้อยกว่าเมื่อก่อนมาก ที่สำคัญคือ ต้องมีวินัย หมั่นฝึกฝน ของพวกนี้ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็คิดได้ ต้องตั้งใจปฏิบัติ”

สิ่งที่คุณหมอแอนเน้นย้ำตลอดการให้สัมภาษณ์คือ การดูแลตัวเอง เพราะเราจะทำตามสิ่งที่ฝันหรือตั้งใจไว้ไม่ได้เลยถ้าไม่ดูแลตัวเอง ซึ่งต้องทำควบคู่กันไปทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อเรารักตัวเอง ดูแลตัวเองได้แล้ว อย่าลืมดูแล ครอบครัว เพราะว่าเพื่อนที่แท้จริงก็คือคนในครอบครัว ที่คอย ห่วงใย ให้กำลังใจ อยู่เคียงข้างเราในทุกช่วงเวลาของชีวิตไม่ว่าจะดีหรือร้าย และสุดท้ายคือ การตอบแทนสังคม ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ และนี่คือสิ่งที่
คุณหมอแอนฝากทิ้งท้าย

 

Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018