Alice in the Wonderland Syndrome กลุ่มอาการอลิซในดินแดนมหัศจรรย์

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง

0
4619

“ฉันตื่นขึ้นมาในตอนเช้า มันเป็นเช้าแรกของปีที่อากาศดี ฉันบิดกายไปมา แขนเหยียดสุด หวังสลัดให้ตัวขี้เกียจหลุดออกไป ระหว่างที่ฉันหมุนตัวลงไปด้านซ้าย ขาสองข้างแตะพื้นแล้วลุกยืนขึ้น แต่แล้วฉันสังเกตเห็นว่า ตัวฉันหดเล็กลง เล็กลง เล็กลง จนตัวเท่ากับแก้วกาแฟที่วางอยู่หัวเตียง ฉันเงยหน้ามองเพดาน นี่มันเกิดอะไรขึ้น ฉันตบหน้าตัวเองเบา ๆ มันไม่ใช่ความฝัน ฉันกลายเป็นมนุษย์จิ๋วขนาด 4 นิ้ว เหมือนสาวน้อยอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ แล้วอีกไม่นาน อาการปวดหัวก็ตามมา”

โรคสมองเป็นโรคที่มีความซับซ้อน บางครั้งก็แปลกประหลาด จนเหล่านักเขียนเอาพล็อตเรื่องจริงมาอิงเป็นนิยายขายดีหลายต่อหลายเรื่อง Oliver Sack ประสาทแพทย์ชื่อดังเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาการทางสมองของผู้ป่วยที่เขาพบเจอ และถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือน่าอ่าน ไม่ว่าจะเป็น “A man who mistook his wife as a hat” ที่เล่าเรื่องสามีที่เห็นภรรยาของเขาเป็นหมวกเนื่องจากสมองบกพร่อง หรือ “Migraine” กับเรื่องเล่าคนไข้ไมเกรนที่มาด้วยอาการแปลก ๆ

ผมเจอคนไข้โรคสมองมากมาย รวมถึงโรคไมเกรน โรคลมชัก และสมองอักเสบ มีอยู่บางรายบรรยายอาการแปลก ๆ เกี่ยวกับความรู้สึกและการมองเห็นก่อนอาการปวดศีรษะหรืออาการชักจะเริ่มขึ้น

อาการที่ได้พบเจอ

“ผมรู้สึกว่าตัวเองค่อย ๆ ขยายเป็นยักษ์เลย เห็นเพื่อนตัวนิดเดียว”
“วันนั้นตื่นเช้ามา เห็นเวลากับสิ่งรอบตัวที่เคลื่อนไหวไปมันเคลื่อนไหวช้าราวกับมัน slow motion เลยค่ะ”
“วันนี้ฉันมึน ๆ แล้วก็รู้สึกว่าตาฉันถลนออกมาตั้งคืบแหนะ”

หากไปเล่าอาการเหล่านี้กับเพื่อนคงจะถูกหาว่าเพี้ยนเป็นแน่ แต่จริง ๆ อาการเหล่านี้เป็นอาการของกลุ่มอาการที่แพทย์เรียกว่า “กลุ่มอาการอลิซในดินแดนมหัศจรรย์” (Alice in the Wonderland syndrome)

ย้อนไปหลายสิบปีก่อน Dr. John Todd จิตแพทย์ชาวอังกฤษ รู้สึกฉงนใจเมื่อคนไข้จำนวน 8 รายรายงานว่า ฉันรู้สึกตัวเองตัวโตหรือเล็กลง และต่างก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่ฉันเป็นอลิซหรือเนี่ย หากคุณเคยดูหนังเรื่อง Alice in the Wonderland หรือ อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ คุณคงจำฉากต้นเรื่องที่เด็กสาวอลิซติดตามกระต่ายแสนกลที่ห้อยนาฬิกาติ๊กต๊อก แล้วพลัดตกไปในรูหนอนยาวสุดลูกหูลูกตา แล้วก็ไปโผล่ยังดินแดนมหัศจรรย์ อลิซรับประทานอาหารที่ทำให้ตัวขยายโตเป็นยักษ์ แล้วดื่มน้ำที่ทำให้ตัวหดเล็กจิ๋วก่อนที่จะเผชิญกับสัตว์ในเทพนิยายมากมาย

กลุ่มอาการอลิซในดินแดนมหัศจรรย์นี้เกิดจากสมองส่วนการรับรู้เปลี่ยนแปลงไปชั่วคราว ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมก่อนเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน หลาย ๆ คนบ่นว่ามีอาการหน้าตาตัวเองบิดเบี้ยวเปลี่ยนไป รูปร่างตัวเองโตขึ้นหรือเล็กลง หรือบางคนรู้สึกว่าหัวตัวเองเหมือนเป็นลูกโป่งที่กำลังลอยไป

นอกจากนี้ หลายรายมีความรู้สึกผิดปกติของเวลา เช่น รู้สึกว่าเหตุการณ์รอบตัวเคลื่อนไหวช้าแบบ slow motion หรือรวดเร็วเหมือนกรอเทปไปข้างหน้า มันเป็นความรู้สึกที่ประหลาด บางทีคนไข้ก็ประหลาดใจ จะเรียกมันว่ามหัศจรรย์หรือประหลาดดี

ไม่เพียงแต่จะพบเจอในโรคไมเกรนที่อาการอลิซในดินแดนมหัศจรรย์จะตามมาด้วยอาการปวดหัว แต่อีกหลาย ๆ โรคก็เกิดอาการนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่น โรคลมชัก โดยเฉพาะโรคลมชักเหม่อ ที่คนไข้จะมีอาการตาเหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว หรือ โรคสมองอักเสบจากเชื้อ Epstein Barr Virus (EBV) เป็นต้น หากใครมีอาการแบบนี้ พาไปพบประสาทแพทย์เพื่อเช็คสมองได้

บอกให้ก็ได้ คนประพันธ์หนังเรื่องอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ที่ชื่อ Lewis Carol จริง ๆ แล้วเขาก็เป็นไมเกรนที่มีอาการอลิซในดินแดนมหัศจรรย์เช่นกัน จึงแต่งเรื่องได้เสมือนจริงขนาดนี้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.214 February 2019