บาดเจ็บข้อเท้า จากการออกกำลังกาย

นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
8049

ในชีวิตประจำวันหลายคนอาจมีประสบการณ์ข้อเท้าพลิกจากการเดินหรือวิ่งส่งผลให้เกิดอาการเจ็บ ปวด และบวมของข้อเท้า เราเรียกอาการนี้ว่า “ข้อเท้าแพลง” เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในนักกีฬาหรือผู้ที่ใช้ข้อเท้ามากกว่าปกติ นอกจากนี้การเดินบนพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ การก้าวลงจากที่สูงมาสู่ที่ต่ำการกระโดด หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดข้อเท้าแพลง ในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อเท้าแพลงอย่างรุนแรงอาจจะมีกระดูกหักร่วมด้วยได้

ข้อเท้าแพลงเกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกของข้อเท้าจนเกินช่วงการเคลื่อนไหวที่ปกติ ทำให้เอ็นยึดข้อต่อถูกยืดออกมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการอักเสบและมีอาการปวดบวมตามมา หากรุนแรงมากอาจทำให้เส้นเอ็นที่เชื่อมต่อกับกระดูกฉีกขาด ข้อต่อต่างๆ สูญเสียตัวยึดเกาะเกิดความไม่มั่นคงเวลาลงน้ำหนัก เอ็นยึดเกาะที่มักจะได้รับ บาดเจ็บมีอยู่ 3 เส้น โดยเอ็นที่ยึดทางด้านหน้าของข้อเท้ามักจะได้รับบาดเจ็บง่ายที่สุด รองลงมาคือเอ็นยึดเกาะทางด้านข้างและด้านหลังตามลำดับ

ข้อเท้าแพลง แบ่งตามความรุนแรงได้ 3 ระดับ
  • ไม่รุนแรง คือ เอ็นถูกดึงหรือยืดมากเกินไปทำให้เอ็นบาดเจ็บ แต่เส้นใยของเอ็นไม่ฉีกขาด มีอาการปวดบวม แต่น้อย
  • รุนแรงปานกลาง คือ มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วนทำให้ข้อเท้ามีความมั่นคงลดลง มีอาการปวด บวมเฉพาะที่ อาจมีเลือดคั่ง
  • รุนแรง คือ มีการฉีกขาดของเอ็นข้อเท้าด้านนอกหมดทั้ง 3 เส้น ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง มีอาการปวด บวมมาก มีเลือดคั่ง อาจต้องผ่าตัดผู้ป่วยข้อเท้าแพลงส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บปวด มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรง และเจ็บเสียวบริเวณที่เอ็นยืดหรือฉีกขาด ถ้ารุนแรงมากจะรู้สึกเหมือนข้อฉีกหรือมีเสียงดังในข้อ หลังเกิดอุบัติเหตุอาจมีอาการบวมทันทีหากเอ็นฉีกขาด ต่อมาผิวหนังจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นเขียวคล้ำและจะค่อยๆ จางหายไปใน 3 สัปดาห์
เทคนิคลดปวด-บวม ข้อเท้าบาดเจ็บเฉียบพลัน
  • พักการใช้งานข้อเท้า หยุดออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักที่ข้อเท้าและเท้า หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนานๆ งดสวมรองเท้าส้นสูง
  • ใส่สนับข้อหรือพันผ้ายืดเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวและลดการอักเสบบวมแดง
  • ประคบเย็นที่ข้อเท้านาน 15-30 นาที 3-5 ครั้งต่อวันเพื่อลดการอักเสบ และนอนยกข้อเท้าให้สูง
  • หากอาการเจ็บปวด บวม เลือดคั่งมีมากหรือไม่ลดลง ควรไปพบแพทย์
ป้องกันข้อเท้าแพลงจากการออกกำลังกาย

สามารถทำได้โดยเลือกรองเท้ากีฬาให้เหมาะสมกับชนิดของกีฬา ไม่ใส่รองเท้านานเกินอายุการใช้งานหลีกเลี่ยงรองเท้าที่มีส้นระดับสูงเกินไป หลีกเลี่ยงการเดินวิ่ง หรือกระโดดบนพื้นที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งบริหารข้อเท้าเป็นประจำ 3-4 วันต่อสัปดาห์ และยืดกล้ามเนื้อก่อน-หลัง ทำกิจกรรมทุกครั้ง สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเท้าแพลงบ่อยๆควรใส่เครื่องช่วยพยุงขณะทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดข้อเท้าแพลง เช่น เล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อเท้ามากๆ มีการกระโดด หมุนตัว เป็นต้น

Resource: HealthToday Magazine, Issue no. 182, JUNE 2016