การทำผิดกฎหมายอาญากับโรคทางจิตเวช

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
19067
ผู้ป่วยจิตเวช

ทุกวันนี้หลายคนมักพูดกันว่าหากทำผิดกฎหมายอาญา เช่น ขับรถชนคนตาย ให้ “แกล้งบ้า” แล้วจะไม่ติดคุก บางคนก็เชื่อว่าหากเป็นผู้ป่วยทางจิตทำอะไรก็ไม่ติดคุก เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่อย่างไร เรามาลองพิจารณากันในบทความนี้ดูกันครับ

ในการหาคำตอบดังกล่าว อันดับแรกเราต้องเริ่มจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนครับ ซึ่งข้อกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

“ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

จะเห็นว่าใจความสำคัญของกรณีการไม่ต้องรับโทษเพราะมีโรคทางจิตเวช คือผู้กระทำต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าขณะที่ทำความผิดนั้น 1) ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือ 2) ไม่สามารถบังคับตัวเองได้เลย จากความเจ็บป่วยเท่านั้น ซึ่งหากว่ากันตามหลักการแล้ว โรคที่จะอาการเข้าข่ายข้อกฎหมายนี้ได้ จะมีเพียงแค่บางโรคในช่วงที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น (เช่น โรคจิตเภท โรคปัญญาอ่อน หรือโรคสมองเสื่อม) ในขณะที่โรคทางจิตเวชส่วนใหญ่ เช่น กลุ่มโรควิตกกังวลหรือกลุ่มโรคซึมเศร้า มักจะไม่เข้าข่ายหลักการนี้ ดังนั้นไม่ใช่ว่าเป็นโรคทางจิตเวชอะไรก็ได้ แล้วไม่ต้องรับผิดเลย อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ

นอกจากนี้ในวรรคที่สองของข้อกฎหมายยังระบุเพิ่มเติมไว้อีกว่า หากศาลพิจารณาแล้วพบว่าผู้กระทำผิดยังคงรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง กรณีนี้ยังต้องรับโทษอยู่นะครับ เพียงแต่ศาลอาจลดโทษลงได้ ทั้งนี้ผมได้ลองยกตัวอย่างคำพิพากษาประกอบไว้ให้อ่านกันดังนี้ครับ

———————————————————-

ตัวอย่างคำพิพากษา

— จำเลยปัญญาอ่อนถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้หวงห้ามเป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาตามมาตรา 59 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2544) —

— …. (ตัดย่อข้อความบางส่วน) จำเลยเป็นผู้มีอาการทางประสาท โวยวายว่าจะมีผู้อื่นมาฆ่าจำเลย บิดาและมารดาของจำเลยเคยนำจำเลยไปรักษาอาการทางประสาทที่โรงพยาบาล แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาล จำเลยวิ่งหนีไม่ยอมเข้าไปรักษา ก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน จำเลยมีอาการคลุ้มคลั่งกลัวคนอื่นจะมาฆ่า … (ตัดย่อข้อความบางส่วน) … ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แม้ข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ยังไม่เป็นการชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง แต่การที่จำเลยเกิดความหวาดกลัวว่าจะมีคนมาทำร้าย และหลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหลบหนีไปนั้น แสดงว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตใจหรือจิตบกพร่อง แต่ก็เชื่อได้ว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2548, ทั้งนี้ผู้เขียนได้ตัดทอนข้อความบางส่วนไปบ้าง) —

————————————————

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วอย่างนี้เราอ้างได้ไหมว่าเราไม่รู้ผิดชอบเพราะว่าเมาอยู่ เช่น ไปลวนลามผู้หญิงพอโดนจับก็อ้างว่ากินเหล้ามาเยอะ เลยเมาไม่รู้เรื่อง ประเด็นนี้กฎหมายเขาเขียนไว้ชัดเจนครับในมาตราต่อมา (มาตรา 66) ว่า การมึนเมาเพราะสุราหรือยาเสพติดไม่สามารถเอามาเป็นเหตุในการไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 65 ดังนั้นเมาแล้วไปทำผิดอะไร ก็ต้องรับโทษไปตามปกตินะครับ

สำหรับอีกคำกล่าวหนึ่งที่มีคนพูดกันคือ “มีบัตรบ้าทำอะไรก็ไม่ผิด” อันนี้จริงหรือไม่? สำหรับประเด็นนี้ ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดี ๆ จะเห็นว่าการไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายอาญามาตรา 65 นั้น ณ ขณะที่กระทำผิด การกระทำนั้นต้องเป็นผลโดยตรงจากอาการเจ็บป่วย หากไม่ใช่ก็ไม่สามารถเอามาใช้เป็นเหตุยกเว้นโทษได้ ดังนั้นสมมติว่าหากผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท แต่รักษาแล้วอาการสงบดี แล้วต่อมาไปขโมยโทรศัพท์มือถือเพราะอยากได้ (ไม่ได้เกิดจากตัวอาการเจ็บป่วยของโรค) แบบนี้ไม่เข้ากับมาตรานี้ครับ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าหากใครได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทแล้ว ทำอะไรก็ไม่ผิดอีกเลย อันนี้จึงเป็นความเชื่อที่ผิดครับ เพราะในความเป็นจริงต้องพิจารณาเป็นแต่ละการกระทำไป

บางคนอาจสงสัยเพิ่มเติมว่า อ้าว! แล้วแบบนี้กรณีที่ป่วยจนทำผิดจริง แต่ไม่ต้องรับโทษ ก็ปล่อยตัวออกมาเฉย ๆ เลยเหรอ? แล้วจะไม่ออกมาทำผิดซ้ำอีกเหรอ อันนี้ก็จะมีข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งครับคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 48

“ถ้าศาลเห็นว่า การปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษหรือการได้รับการลงโทษตาม มาตรา 65 จะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะสั่งเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้”

ซึ่งสรุปง่าย ๆ คือแม้จะไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลสามารถสั่งให้ไปรักษาในโรงพยาบาลนานเท่าไหร่ก็ได้ จนกว่าจะเพิกถอนคำสั่ง ซึ่งโดยทั่วไปการเพิกถอนคำสั่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อรักษาจนอาการหายดีแล้วนั่นเอง

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะกังวลว่า ถ้ามีข้อกฎหมายยกเว้นโทษหรือลดโทษแบบนี้ ผู้ต้องหาจะไม่สวมรอยหรือแกล้งป่วย เพื่อไม่ต้องรับโทษเหรอ? บอกเลยครับว่ายาก! เพราะเมื่อไหร่ที่เป็นคดีความจะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและทุกฝ่ายมักทำด้วยความรอบคอบอย่างมาก การตรวจวินิจฉัยมักทำโดยจิตแพทย์หลายคนและทีมสหวิชาชีพ (เช่น นักจิตวิทยา) การแกล้งป่วยนั้นไม่ได้ทำกันง่าย ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในโรคทางจิตเวชจริง ๆ ทำให้ทำไปก็ไม่เหมือน หรือต่อให้รู้จักอาการแต่การแสดงให้เนียนระดับหลอกจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้คงต้องระดับนักแสดงออสการ์ ซึ่งคนทั่วไปคงไม่มีใครทำได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการทดสอบอีกหลายอย่าง เช่น แบบทดสอบทางจิตวิทยา ซึ่งหากไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้จริง ๆ คงไม่มีทางรู้ว่าต้องตอบยังไง ดังนั้นการแกล้งป่วยระดับตบตาจิตแพทย์และทีมงานได้นั้นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018