ลูกหาย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
3165
ลูกโตขึ้น

เสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ วันที่เด็ก ๆ ได้มีกิจกรรมกับครอบครัว โดยเฉพาะได้ไปเที่ยวงานวันเด็กกับพ่อแม่ ยกเว้นเด็กที่โตแล้ว อาจมีกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดทั้งในและนอกสถานที่โดยไม่มีพ่อแม่ไปด้วย คงเป็นภาพที่พ่อแม่ทุกคนสัมผัสได้ตั้งแต่วันที่ลูกเป็นทารก ลูกอยู่ในสายตาตลอดเวลา จนถึงวันที่ลูกโตขึ้นเรื่อย ๆ ห่างจากสายตาพ่อแม่ จนถึงวันที่เขาไปเริ่มใช้ชีวิตตามลำพัง นาน ๆ จะได้กลับมาร่วมกิจกรรมครอบครัวกัน

ลูกหายไปเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดสำหรับคนเป็นพ่อแม่ บางรายโชคดีได้ลูกกลับคืนมา ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่หายจากกันที่มีผลต่อการกลับมาสร้างความผูกพันกันอีกครั้งหนึ่ง  สำหรับพ่อแม่ทุกคนอาจเคยรู้สึกใจหายตอนที่รู้สึกว่าลูกเริ่มโต เริ่มมีชีวิตของตัวเอง เริ่มห่างหายไปจากกิจกรรมของครอบครัว แม้จะอยากให้ลูกอยู่ในสายตาไปตลอด แต่ลูกก็เติบโตและหายไปจากชีวิตของพ่อแม่ไปตามวัย วันเด็กสำหรับบางครอบครัวจึงไม่ใช่วันที่จะชวนลูกที่โตจนไม่สนใจที่จะเที่ยวงานวันเด็กกับพ่อแม่อีกแล้ว พ่อแม่คงต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านเหมือนวันเสาร์อื่น ๆ ในขณะที่ลูกหายไปอยู่กับกิจกรรมที่เขาสนใจ

เมื่อแรกเกิด เด็กทุกคนมีความสามารถเพียงการดำรงชีวิตตามสัญญาณชีพและสัญชาตญาณ เด็กต้องการการปกป้องดูแลจากพ่อแม่ ด้วยสัญชาตญาณเด็กจะส่งเสียงร้องขอให้พ่อแม่เข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกไม่สบายจากสาเหตุใด ทั้งง่วง หิว ไม่สบายตัว พ่อแม่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่กลายเป็นพื้นฐานด้านอารมณ์ สังคม และการ
เรียนรู้ของลูก

สมองของเด็กมีการเก็บความทรงจำที่ได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่และคนรอบข้าง เป็นเส้นทางระบบประสาทในสมองของเขา สิ่งสำคัญคือการที่เด็กรับรู้การตอบสนองที่ทำให้เขารู้สึกสบาย เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนเขาจดจำได้ กลายเป็นความผูกพันที่มีต่อพ่อแม่ และมีผลต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็ก

การเติบโตของเด็กทำให้เด็กเริ่มสนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว ก้าวออกไปสัมผัส เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยพื้นฐานที่มั่นคงในวัยทารก เด็กจะเปิดโลกของตนเองอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่เก็บตัว หรือโบยบินออกไปหาคนแปลกหน้าจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าพ่อแม่เป็นคนสำคัญของเขา แม้ในระหว่างที่เติบโตขึ้น เด็กจะออกจากสายตาพ่อแม่นานขึ้น แต่ความผูกพันยังคงมีอยู่ บางครั้งมีความคึกคะนอง มีอารมณ์อยากท้าทาย แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง เด็กมักสามารถหยุดตัวเอง คิดถึงพ่อแม่อยู่เสมอ ถึงวัยแยกจากพ่อแม่จะเห็นเด็กที่สามารถแยกจากพ่อแม่ไปมีกิจกรรมในชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ

ไม่เพียงแต่เด็กที่ต้องเรียนรู้ผูกพัน และแยกจากกับพ่อแม่ได้เมื่อถึงวัย พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะตอบสนองลูกอย่าง
เหมาะสมกับวัยเพื่อสร้างและรักษาความผูกพันกับลูก และเรียนรู้ที่จะแยกจากลูกด้วย การเหนี่ยวรั้งลูกไว้ด้วยเงื่อนไขทางอารมณ์ของพ่อแม่จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างมั่นคงของลูก

ถ้ารู้สึกใจหายกับการที่ลูกเริ่มหายหน้าหายตาไปจากกิจกรรมครอบครัว พ่อแม่ต้องทบทวนให้มั่นใจว่าเรากับลูกมีความผูกพันกันมั่นคงไหม ดูจากช่วงเวลาที่ลูกยังเป็นเด็กเล็ก เรามีเวลาดูแลลูก ช่วยให้ลูกรู้สึกสบายเวลาที่เขารู้สึกไม่สบาย มีเวลาที่มีความสุข ยิ้ม หัวเราะด้วยกัน มีเวลาเล่น อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่น่าจดจำ ช่วยให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ ปลอบประโลมเวลาที่ลูกอารมณ์ไม่ดี ถ้าทำมาได้ตลอด ขอให้เชื่อมั่นในตัวลูกว่าเขาเพียงแต่ออกไปเรียนรู้การใช้ชีวิตตามวัยของเขา เด็กที่มีความผูกพันดี มีความมั่นคงเชื่อมั่นในการออกสู่โลกภายนอก และยังคงกลับมาหาแรงสนับสนุนจากพ่อแม่เป็นระยะ

ถามใจพ่อแม่เองว่าบางครั้งเราใจหายที่รู้สึกเหมือนกับว่าลูกห่างเราออกไปเรื่อย ๆ ไหม ความรู้สึกแบบนี้เกิดกับพ่อแม่ได้ แต่ต้องไม่เอาความกังวลที่จะแยกจากลูกที่เริ่มโตไปเหนี่ยวรั้ง ต่อรอง จุกจิกจนลูกรู้สึกอึกอัด พะวักพะวนทั้งอยากโตเป็นตัวของตัวเอง ทั้งหงุดหงิดกับท่าทีที่ถูกปฏิบัติเหมือนเขาเป็นเด็กเล็ก ๆ ตลอดเวลา จะคิด จะตัดสินใจ จะทำอะไรก็ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ตั้งหลักใหม่ อย่าเอาความรู้สึกที่ตัดสินว่าลูกหายไป ไม่เป็นลูกเล็ก ๆ อย่างที่เราต้องการมารบกวนความผูกพันที่จะมีกับลูก

  • ให้ลูกมั่นใจเสมอว่าพ่อแม่เป็นที่ปรึกษาเวลาที่เขามีเรื่องไม่สบายใจ หรือเวลาที่เขาอยากเล่าเรื่องดี ๆ เกี่ยวกับ
    ตัวเขา
  • สัมผัสลูกผ่านทางสายตา รอยยิ้ม คำพูด สัมผัสให้มากขึ้น ลดภาษาที่ยืดยาว วกวน หรือต่อว่า
  • อดทนเวลาที่ลูกแยกจากไปมีกิจกรรมตามวัยหรือเวลาส่วนตัวของลูก รักษาเวลาที่อยู่ด้วยกันให้เป็นเวลาที่พูดคุย ผ่อนคลาย ทำให้ยังรักษาความสัมพันธ์และระยะใกล้ชิดกับลูกไว้
  • บางครั้งหงุดหงิดไม่สบายใจเวลาที่ลูกหายไป หากได้รับคำอธิบาย และมาจากความเข้าใจผิดของพ่อแม่ ต้องรู้จักยอมรับความเข้าใจผิด และขอโทษลูกได้
  • อย่าตะโกนใส่หรือตะโกนไล่หลังลูกเวลาที่ไม่สามารถพูดคุยหรือดึงให้ลูกมาสนใจได้ รักษาระดับอารมณ์ให้ได้ก่อนการคุยกันในเรื่องที่อยากทำข้อตกลงกับลูก
  • เด็กแต่ละคนมีท่าทีการแสดงออกต่อความผูกพันที่มีกับพ่อแม่แตกต่างไปตามลักษณะของเด็ก เด็กบางคนท่าทีเหมือนไม่สนใจ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ใส่ใจความรู้สึกของพ่อแม่ เด็กยังคงต้องการการเข้าหาพ่อแม่ แต่ด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน

ตัวลูกไม่อาจอยู่ในสายตาพ่อแม่ไปได้ตลอดอย่างที่พ่อแม่ต้องการ แต่การที่ลูกมีความมั่นคง มีความผูกพันอย่างพอเหมาะเป็นสิ่งพ่อแม่สร้างให้กับลูก ถ้ามั่นใจในความผูกพันที่มีต่อกัน พ่อแม่ควรจะมีท่าทีผ่อนคลายกับลูกให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองไปอย่างที่อยากจะเป็น ถ้าวันเด็กปีนี้ไม่มีเด็กในบ้านแล้ว ก็เป็นวันสบาย ๆ ของพ่อแม่กับการดูแลตนเอง และทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018