เห็บกัด!!

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
9793
เห็บกัด

เห็บ (Ticks) เจ้าวายร้ายตัวกระจิดริดที่หมออยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จักในฉบับนี้ เรามักพบเห็นเจ้าเห็บตัวน้อยติดอยู่กับสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรา เช่น สุนัขหรือแมว แต่ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่เห็บชอบไปอาศัยดูดเลือด เช่น กระรอก กวาง หนู นก หรือแม้กระทั่งตัวมนุษย์เอง ก็สามารถตกเป็นเหยื่ออันโอชะของเจ้าวายร้ายตัวนี้ได้เช่นกัน โดยเห็บจะอาศัยการไต่ขึ้นไปบนผิวเหยื่อ และดำรงชีพด้วยการดูดเลือดเพื่อใช้เลือดในการเจริญเติบโตและเปลี่ยนระยะตามวงจรชีวิตจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย

เห็บ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เห็บแข็ง (Hard ticks) และเห็บอ่อน (Soft ticks) โดยที่เห็บแข็งจะมีแผ่นแข็ง (Scutum หรือ Dorsal shield) ปกคลุมอยู่ที่ด้านบนของลำตัว ส่วนเห็บอ่อนจะไม่มี หากมองจากด้านบนของ
ตัวเห็บ ในเห็บแข็งจะสามารถเห็นส่วนหัว (Capitulum) ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นเห็บอ่อน ส่วนหัวนี้จะซ่อนอยู่
ด้านล่างจึงไม่สามารถมองเห็นได้

เห็บเป็นสัตว์ที่ไม่มีปีกจึงไม่สามารถบินหรือกระโดดได้ อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า พุ่มไม้ หรือแม้กระทั่งกองใบไม้ก็อาจมีเห็บซ่อนตัวอยู่ได้เช่นกัน เห็บจะเกาะอยู่ตามใบไม้หรือใบหญ้า เวลาเจอเหยื่อจะค่อย ๆ คลานเข้าไปที่เหยื่อ แล้วหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการดูดเลือด บ่อยครั้งที่เห็บมักจะชอบซ่อนตัวอยู่ตามบริเวณที่อับชื้น เช่น ซอกรักแร้
ซอกคอ ขาหนีบ เป็นต้น

ขณะที่ดูดเลือด เห็บจะหลั่งน้ำลายออกมา ซึ่งในน้ำลายนั้นจะมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายยาชา ดังนั้นเวลาถูกเห็บกัด เหยื่อจึงไม่รู้สึกเจ็บ และไม่รู้สึกตัวว่าถูกกัด นอกจากนี้ ในน้ำลายของเห็บยังมีเชื้อโรคหลายชนิดซึ่งสามารถส่งผ่านมาสู่เหยื่อได้ รวมทั้งโรคจากเหยื่อก็สามารถส่งผ่านมาที่เห็บได้เช่นกัน โดยเมื่อเห็บไปกัดเหยื่อรายต่อไปก็จะเป็นการนำเชื้อจากเหยื่อตัวแรกไปสู่เหยื่อตัวที่สองได้

เห็บกัด

เห็บ…นำโรค

เห็บสามารถนำโรคได้หลายชนิด เห็บแข็งและเห็บอ่อนนำโรคไม่เหมือนกัน ที่พบบ่อยแต่อาจจะเป็นโรคที่
คนไทยไม่ค่อยคุ้นชิน เช่น Lyme disease, Anaplasmosis, Babesiosis, Tularemia, Rocky Mountain spotted fever จะเห็นว่ามีแต่
ชื่อโรคแปลก ๆ ทั้งนั้นเลยใช่ไหมคะ สาเหตุที่เราไม่ค่อยคุ้นชินกับโรคเหล่านี้เนื่องจากโรคดังกล่าวมักเกิดในแถบยุโรปและอเมริกา แต่บางโรคก็มีรายงานการเกิดในทวีปเอเชียได้บ้าง ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่มีในปัจจุบันโดยการนำเห็บและสัตว์มาตรวจหาเชื้อโรค พบว่าเห็บและสัตว์ในประเทศไทยสามารถนำเชื้อโรคเหล่านี้ได้ แต่มีรายงานการติดเชื้อในประชากรไทยน้อยมาก มีเพียงบางโรคเท่านั้นที่สามารถตรวจพบและมีรายงานการติดเชื้ออย่างชัดเจน เช่น Tularemia ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ Francisella tularensis พบรายงานการติดเชื้อในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 โดยโรคนี้มักจะเกิดในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย จึงได้ชื่อว่า โรคไข้กระต่าย (Rabbit Fever) สันนิษฐานว่าเกิดจากการ
นำเข้ากระต่ายจากต่างประเทศซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคนี้ปนเปื้อนอยู่ ดังนั้นควรตรวจสอบเอกสารรับรองการปลอดโรคก่อนซื้อสัตว์ทุกชนิด

ถึงแม้ว่าในเมืองไทยจะพบอุบัติการณ์ของโรคที่นำโดยเห็บน้อยมาก แต่ปัจจุบันการเดินทางข้ามทวีปใช้เวลาเพียงไม่นาน ดังนั้นหากมีคนไทยไปเดินป่าที่สหรัฐอเมริกา แล้วบังเอิญถูกเห็บที่มีเชื้อโรคกัดโดยไม่รู้ตัวและไม่ได้กำจัดตัวเห็บออก ก็สามารถนำพาเห็บที่มีเชื้อโรคกลับมายังประเทศไทย และสามารถแพร่เชื้อออกไปเป็นวงกว้างได้

ป้องกันไม่ให้เห็บกัด  

ดังนั้นหากเรามีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ เช่น เดินป่า ปีนเขา ตกปลา ตัดหญ้า ทำสวน ควรจะป้องกันไม่ให้เห็บหรือแมลงอื่น ๆมากัด โดยใช้ยากันยุงที่มีส่วนประกอบของ DEET (N, N-Diethyl-meta-toluamide) โดยเลือกที่มีความเข้มข้นอยู่ในช่วง 20-50% ทาผิวหนังส่วนที่อยู่นอกร่มผ้า และอย่าลืมทาครีมกันแดดก่อนทายากันยุงด้วยนะคะ

อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า เห็บมีการปล่อยสารที่ออกฤทธิ์คล้ายยาชาทำให้เหยื่อไม่รู้ตัวขณะที่ถูกกัด และเห็บมักจะชอบกัดบริเวณซอกอับต่าง ๆ ดังนั้นหลังจากกลับจากการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทุกครั้ง ควรสำรวจว่ามีตัวอะไรมากัดหรือเกาะอยู่ตามร่างกายหรือไม่ (Check ticks) โดยก่อนอื่นให้อาบน้ำทันทีหรือภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากการทำกิจกรรม จากนั้นให้ทำการสำรวจร่างกายโดยใช้กระจกที่สามารถมองเห็นได้ทั้งตัว หรือถือกระจกสำรวจว่ามีเห็บหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ เกาะอยู่ตามร่างกายหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ รูหูและรอบ ๆ ใบหู รวมทั้งต้นคอ ผม และหนังศีรษะ นอกจากนี้ต้องสำรวจดูเสื้อผ้าและสัตว์เลี้ยงว่ามีเห็บมาเกาะหรือไม่ พาสัตว์ไปฉีดวัคซีนและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากสัตว์มีอาการป่วยให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที

เมื่อถูกเห็บกัด!!

เห็บกัด

ถ้าหากพบเห็บเกาะอยู่ที่ผิวให้รีบกำจัดออกทันที ข้อสำคัญคือ ต้องไม่ให้ปากของเห็บซึ่งใช้ดูดเลือดที่ผิวหนังขาดออก แนะนำให้ใช้ที่คีบ (Forceps) ถ้าเรียกภาษาบ้านเราก็คือ “แหนบ” นั่นเอง คีบตัวเห็บให้ชิดผิวหนังมากที่สุด ยกตัวเห็บตั้งตรง แล้วค่อย ๆ ดึงตัวเห็บออกช้า ๆ ห้ามใช้มือเปล่าในการดึงออก จากนั้นให้ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำและสบู่
ร่วมกับใช้แอลกอฮอล์หรือเบตาดีนในการล้างแผล หลังจากนั้นให้สังเกตอาการตนเอง หากเกิดอาการผิดปกติขึ้น เช่น
มีไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่น หรือแผลเกิดขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

สุดท้ายนี้อย่าลืมใช้ DEET ก่อนออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะป้องกันการถูกเห็บกัดแล้ว ยังป้องกันโรค
อื่น ๆ ที่มากับยุง เช่น ไข้เลือดออกหรือมาลาเรียอีกด้วยนะคะ ด้วยความปรารถนาดี…หมอพลอย

ข้อมูลอ้างอิง

  • https://www.cdc.gov/ticks/index.html
  • https://www.researchgate.net/profile/Chatanun_Eamudomkarn/publication/319524524_chei_ynghim_sa_twphaethysar_Tick-borne_pathogens_and_their_zoonotic_potential_for_human_infection_In_Thailand/links/59b0b0e2a6fdcc3f8889b650/chei-ynghim-sa-twphaethysar-Tick-borne-pathogens-and-their-zoonotic-potential-for-human-infection-In-Thailand.pdf?origin=publication_detail
  • http://beid.ddc.moph.go.th/th_2011/content.php?items=27
  • http://www.cueid.org/content/view/1401/71/

 

Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018