ไวรัสนิปาห์…เพชฌฆาตเงียบ

นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์ อายุแพทย์สมองและระบบประสาท

0
3120
ไวรัสนิปาห์

ในช่วงปี พ.ศ. 2541 ได้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสนิปาห์ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ต่อมาได้มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ในประเทศแถบเอเชียกลาง และปัจจุบันกำลังมีการระบาดของเชื้อไวรัสอยู่ในประเทศอินเดียซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10 ราย โดยคาดว่าการระบาดเริ่มจากการบริโภคผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายและปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้เข้าไป

ทำความรู้จักไวรัสนิปาห์

เชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) เป็นเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์หรือสู่สัตว์ด้วยกัน คำว่า “นิปาห์” มีที่มาจากชื่อหมู่บ้านสุไหง นิปาห์ (Sungai Nipah) เมืองบูกิต เปลันดอค ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่พบผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่จึงได้รับการสันนิษฐานในขณะนั้นว่าสุกรอาจเป็นสัตว์นำเชื้อโรค และในเบื้องต้นคาดว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับไวรัสไข้สมองอักเสบชนิด JE (Japanese Encephalitis) แต่ในภายหลังช่วงปี พ.ศ. 2542 นักวิจัยชาวมาเลเซียได้ค้นพบว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง และไม่ใช่เชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบชนิด JE อย่างที่เข้าใจในตอนแรก ต่อมาศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงได้ประกาศตั้งชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus)

เชื้อไวรัสนิปาห์สามารถก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยมีสัตว์จำพวกค้างคาวกินผลไม้เป็นแหล่งพักอาศัยของเชื้อโรค เชื้อไวรัสนิปาห์ถูกรายงานเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 ด้วยอาการของโรคสมองอักเสบ นอกจากนี้ไวรัสชนิดนี้ยังทำอันตรายอย่างรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ในอดีตที่ผ่านมามีรายงานการระบาดของโรคนี้ในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ซึ่งมีอาณาเขตใกล้ชิดประเทศไทยเป็นอย่างมาก และการตรวจวินิจฉัยโรคนี้ทำได้ยาก ดังนั้นผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 70 ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ที่อาจมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในอนาคต

อาการแสดง

ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากสัมผัสเชื้อ ต่อมาผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และมีอาการแสดงของสมองอักเสบ เช่น ซึมลง สับสน ชักเกร็ง เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วยซึ่งอาจส่งผลต่อความดันโลหิตและชีพจรที่ลดต่ำลงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจหาเชื้อไวรัสจากตัวอย่างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายใน เช่น ปอด ไต เลือด หรือน้ำไขสันหลังของผู้ป่วย และการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ต่อเชื้อไวรัสนิปาห์ ด้วยวิธี Enzyme-Linked Immunosorbent Assay (ELISA)

การแพร่เชื้อและการป้องกัน

มนุษย์สามารถรับเชื้อไวรัสได้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ที่เป็นโรค เช่น น้ำลาย หรือปัสสาวะ นอกจากนี้สัตว์ชนิดอื่นยังเป็นที่สะสมของเชื้อโรคได้ เช่น สุกรก็สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้จากการสัมผัสหรือกินวัตถุที่ปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของค้างคาวที่เป็นพาหะได้เช่นกัน

การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ และระมัดระวังการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ และป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นสัมผัสกับสุกรที่ติดเชื้อแล้ว สำหรับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการสัมผัสสัตว์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่แว่นตาและรองเท้าบูท รวมทั้งใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาทำงาน
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหลังจากสัมผัสสัตว์หรือซากสัตว์
  • ชำระล้างของใช้และเครื่องแต่งกายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ไอโอดีน เป็นต้น

ในกรณีที่พบสัตว์ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อให้รีบแจ้งสัตวแพทย์หรือติดต่อกรมปศุสัตว์ ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์เข้าออกจากจุดเกิดโรคในรัศมี 2 กิโลเมตร ในกรณีที่ป่วยหรือสงสัยว่าได้รับเชื้อไวรัสให้รีบพบแพทย์ทันที อีกทั้งแจ้งการแพร่ระบาดได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3162

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018