ปกติเมื่ออาหารไหลลงสู่กระเพาะอาหารแล้ว ร่างกายจะมีหูรูดบีบบังคับไม่ให้อาหารไหลย้อนจากกระเพาะอาหารขึ้นไปยังหลอดอาหาร แต่บางคนหูรูดดังกล่าวอาจเสียสภาพ หย่อนยาน ปิดไม่สนิท ทำให้เมื่อรับประทานอาหารมากเกินไป หรือเมื่อมีแรงดันในช่องท้องสูงจึงมีอาหารและกรดในกระเพาะอาหารบางส่วนไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหารได้ เรียก “กรดไหลย้อน” แต่ด้วยเนื้อเยื่อหลอดอาหารของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทนกรดมากนัก อาการแสบร้อน
กลางอก มีเสมหะ แสบคอ แสบลิ้น มีกลิ่นปาก ฟันผุจึงเกิดขึ้น หากมีการไหลย้อนมาถึงหลอดอาหารส่วนบน ผู้ป่วยก็จะมีอาการบริเวณคอและกล่องเสียงร่วมด้วย เช่น เสียงแหบ ไอ กระแอมบ่อย หากรักษาไม่ถูกวิธีอาจพัฒนาไปเป็นหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หลอดอาหารตีบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้
ในอนาคต
ข้อมูลจากสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันมีคนไทยทุกเพศทุกวัยป่วยเป็น
โรคกรดไหลย้อน 9.2% ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่มีอายุมากขึ้น ที่สำคัญคือพบว่าคนวัยทำงานก็ประสบปัญหากรดไหลย้อนสูงขึ้นด้วย การรักษานอกจากรับประทานยาลดกรดและการผ่าตัดแล้ว การปรับพฤติกรรมแก้กรดไหลย้อนก็ช่วยได้มากทีเดียว
เทคนิคปรับพฤติกรรมบอกลากรดไหลย้อน
ในการปรับพฤติกรรมแก้กรดไหลย้อนนั้นจะมุ่งเน้นที่การลดการไหลย้อนของกรดไปยังหลอดอาหาร โดยลดแรงดันในช่องท้อง และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดอาหารเป็นหลัก ดังนี้
ข้อควรระวังเรื่องแรงดันในช่องท้อง
- รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยมื้อ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแก๊สอย่างโซดา น้ำอัดลม และไม่ควรดื่มน้ำหลังอาหารครั้งละมาก ๆ
- งดนั่ง นอน ออกกำลังกาย ยกของหนัก ก้ม ๆ เงย ๆ หลังอาหารทันที แต่ควรเดินหรือยืนหลังอาหารแทน จะช่วยลดแรงดันในช่องท้องได้มาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นจนเกินไปโดยเฉพาะบริเวณเอว เพราะจะยิ่งบีบเค้นให้อาหารไหลย้อนเข้าหลอดอาหารมากขึ้น
- หากน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักเป็นการด่วน เพราะน้ำหนักตัวที่มากจะส่งผลให้แรงดันในช่องท้องสูงได้เช่นกัน
สิ่งกระตุ้นการระคายเคืองเยื่อบุหลอดอาหาร
- อาหารมัน ๆ สามารถกระตุ้นการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้อาการแย่ลงได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง อาหารมัน อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน นมไขมันเต็มส่วน หรืออาหารที่มีไขมันแฝง เช่น ชีส เบเกอรี่หน้าครีมต่าง ๆ เค้กเนย เป็นต้น ควรเลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา เต้าหู้ ถั่วต่าง ๆ หรือนมไขมันต่ำแทน โดยเฉพาะนมไขมันต่ำหรือนมถั่วเสริมแคลเซียมเป็นแหล่งแคลเซียมและวิตามินดีที่ดี มีส่วนช่วยในการป้องกันอาการกรดไหลย้อนได้
- อาหารที่มีสภาวะเป็นกรด เช่น มะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ มะขามเปรี้ยว น้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูเข้มข้น สับปะรด ส้ม ทำให้กรดเพิ่มขึ้นได้ ควรเลือกรับประทานผักผลไม้อื่น ๆ แทน โดยเฉพาะผัก ธัญพืชที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ลูกเดือย กระเจี๊ยบเขียว เห็ดหูหนู อาหารเหล่านี้มีใยอาหารที่ทำหน้าที่ดูดซับกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยลดอาการจากกรดไหลย้อนได้ อีกทั้งหากเลือกให้หลากหลายสีก็จะช่วยให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกัน ทำให้การอักเสบของหลอดอาหารลดลง และลดความเสี่ยงของการพัฒนาเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้อีกด้วย
- อาหารเผ็ดและสมุนไพรบางชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม พริกไทย สามารถรับประทานได้เล็กน้อย หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้มีอาการแสบร้อนกลางอกเพิ่มขึ้น
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มผสมมิ้นต์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะมื้อเย็น
- ควันบุหรี่ไม่ว่าจากตนเองหรือผู้อื่นสูบล้วนทำให้เยื่อบุหลอดอาหารระคายเคืองได้ เพราะควันบุหรี่กระตุ้นให้การหลั่งกรดเพิ่มขึ้น และทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะนานขึ้น เสี่ยงต่อการ
ไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ผู้ป่วยจึงมีอาการแย่ลง และไอมากขึ้นได้ - พักผ่อนให้เพียงพอ และมีวิธีรับมือกับความเครียดจะช่วยลดการหลั่งกรดได้
สุดท้ายเมื่อรักษากรดไหลย้อนจนดีขึ้นแล้ว ก็อย่าได้ดีใจกลับไปทำพฤติกรรมเช่นเดิม เพราะไม่นานกรดไหลย้อนก็อาจมาเคาะประตูเรียกอีกได้ ผู้ป่วยควรรักษาพฤติกรรมดี และปล่อยผ่านพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงให้เป็นนิสัย เพราะนี่คือการรักษาที่ตรงจุดที่สุด และช่วยป้องกันโรคกรดไหลย้อนไม่ให้แวะเวียนมาอีกอย่างถาวร
Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018