โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)

รศ.พญ.ไพจิตต์ อัศวธนบดี

0
2331
กระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังของกระดูกสันหลังและข้อกระดูกเชิงกราน มีอุบัติการณ์ทั่วโลกร้อยละ 0.1 – 1.0 เป็นโรคที่พบบ่อยในคนอายุน้อย โดยโรคเริ่มต้นเมื่ออายุเฉลี่ย 26 ปี น้อยรายเกิดก่อนอายุ 16 ปีหรือหลังอายุ 40 ปี พบบ่อยในเพศชาย สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ชัดแจ้ง แต่จากหลักฐานการศึกษาพบความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปัจจัยทางพันธุกรรมคือยีนเอชแอลเอ บี 27 (HLA B27) และแบคทีเรียบางชนิดในลำไส้ ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาถึงอุบัติการณ์ของโรคนี้

อาการสำคัญที่สัมพันธ์กับโรค

อาการแสดงสำคัญของโรคนี้คือ ปวดตึงหลังเรื้อรังนานมากกว่า 3 เดือน โดยเป็นมากช่วงตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังการพักนิ่ง ๆไม่ได้ขยับตัวเป็นเวลานาน ๆ และทุเลาลงเมื่อลุกขยับตัวหรือเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยจะปวดตึงหลัง หลังค่อม ไม่สามารถก้ม หงาย บิด หรือเอี้ยวลำตัวได้อย่างเต็มที่ การหายใจเข้าและหายใจออกทำได้จำกัดเนื่องจากการอักเสบที่ข้อและขอบกระดูกซี่โครง ผู้ป่วยมักปวดบริเวณสะโพกและร้าวลงต้นขาเนื่องจากข้อกระดูกเชิงกรานอักเสบ บางรายเจ็บข้อสะโพกและบวมอักเสบที่ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า นิ้วเท้าอาจบวมอักเสบตลอดลำนิ้วคล้ายไส้กรอก ผู้ป่วยหลายรายเจ็บส้นเท้าเวลาเดินเนื่องจากการอักเสบที่ปลายเอ็นร้อยหวายหรือปลายเอ็นฝ่าเท้า อาจมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเกิดการอักเสบที่อวัยวะนอกกระดูกและข้อ เช่น ช่องหน้าม่านตาอักเสบ ทำให้ปวดตาและตาพร่ามัว ผื่นผิวหนังสะเก็ดหนาที่ฝ่าเท้า ผื่นแดงเป็นวงขาวที่ปลายองคชาติและเยื่อบุช่องปากหรือลิ้น ท่อปัสสาวะอักเสบทำให้แสบขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ ลิ้นหัวใจห้องล่างซ้ายอักเสบ มีการปิดกั้นสัญญาณการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดมวนท้องหรือท้องเสียจากลำไส้อักเสบ และภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น

ผลกระทบ

ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะมีการดำเนินโรคมากขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ข้อถูกทำลายและมีการสร้างกระดูกใหม่ออกมาเชื่อมข้อ ทำให้เกิดความผิดรูปของกระดูกสันหลังและข้ออย่างถาวร ภาวะกระดูกพรุนทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่าย การอักเสบเรื้อรังของช่องนัยน์ตาทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หัวใจเต้นผิดจังหวะและลิ้นหัวใจรั่วทำให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว ในระยะท้ายผู้ป่วยจะมีสุขภาพทรุดโทรม คุณภาพชีวิตเลวลง ทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดและภาวะแทรกซ้อน อยู่ในสภาวะทุพพลภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และอายุขัยสั้นลง

การรักษายิ่งเร็วยิ่งดี

หลักการรักษาโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดคือ ให้การรักษาโรคให้เร็วที่สุด โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดอาการปวดตึงและอักเสบ หยุดยั้งการดำเนินโรค รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนและความผิดรูป การรักษาประกอบด้วย การใช้ยา กายภาพบำบัด และการผ่าตัด ยารักษาโรคลำดับแรก คือ กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และยาแก้ปวด ผู้ป่วยที่มีโรคไม่รุนแรงมักดีขึ้นจากยารักษาตามอาการนี้ ยารักษาโรคลำดับที่ 2 คือ กลุ่มยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ได้แก่ ซัลฟาซาลาซีน เม็ทโธเทร็กเซท เลฟลูโนไมด์ และ อาซ่าไธโอปรีน มักใช้ในผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบร่วมด้วย ส่วนกลุ่มสเตียรอยด์จะใช้เป็นยาเสริมการรักษา เช่น ข้ออักเสบเรื้อรังที่ดื้อต่อการรักษาจะได้รับการเจาะข้อดูดน้ำไขข้อออกแล้วตามด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อนั้น หรือการอักเสบที่ปลายเอ็นยึดติดกับกระดูกจะทุเลาลงด้วยการฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ เป็นต้น ยารักษาโรคลำดับที่ 3 เป็นยาที่สงวนไว้ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีโรคกำเริบรุนแรงซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น เป็นยาในกลุ่มสารชีวภาพซึ่งออกฤทธิ์ต้านสารที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการอักเสบในโรคนี้ ได้แก่ กลุ่มยาออกฤทธิ์ต้านสารทีเอ็นเอฟ (TNF) และยาออกฤทธิ์ต้านสารอินเตอร์ลิวคิน-17 (interleukin-17) ทั้งนี้แพทย์จะทำการประเมินระยะของโรคและตรวจสอบสภาวะพื้นฐานทางร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียดทั้งก่อนและระหว่างให้การรักษาทางยาอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยทุกรายจะต้องทราบวิธีปฏิบัติตนเองและเรียนรู้การจัดท่าทางในชีวิตประจำวัน ยืน เดิน นั่ง และทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คอและหลังจะต้องยืดตรงไว้เสมอ หลีกเลี่ยงการก้มคอ ก้มหลัง หรือนั่งหลังค่อมเป็นเวลานาน ๆ ไม่นอนหนุนหมอนสูงเกินไป ฟูกที่นอนต้องแน่นไม่อ่อนยวบ ฝึกทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ การยืดเอ็นหรือกล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวข้อให้ได้ตามองศาการทำงานปกติจะช่วยป้องกันความผิดรูปของข้อและกระดูกสันหลัง การฝึกเกร็งกล้ามเนื้อส่วนหลัง หน้าท้อง และต้นขา จะช่วยเพิ่มกำลังความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทำให้ข้อมีเสถียรภาพและลดอันตรายจากอุบัติเหตุที่กระทำต่อข้อ การรักษาด้วยการผ่าตัดจะพิจารณาในรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น ผ่าตัดเลาะเยื่อบุข้อออกในข้ออักเสบเรื้อรังซึ่งดื้อต่อการรักษาทางยา การผ่าตัดซ่อมเอ็นที่เปื่อยขาด การผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังผิดรูป และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแทนข้อที่ถูกทำลายเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ เป็นต้น

โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด เป็นโรคที่พบบ่อยในเพศชายอายุน้อย มาด้วยอาการปวดหลังเรื้อรังนานเกิน 3 เดือน อาจพบร่วมกับการอักเสบของข้อกระดูกเชิงกราน ข้อสะโพก และปลายเอ็นที่ยึดติดกับกระดูก การพยากรณ์โรคดีหากโรคไม่รุนแรงและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงไม่ตอบสนองต่อยาต้านการอักเสบและยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคจะมีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยยากลุ่มสารชีวภาพ การปฏิบัติตนและจัดท่าทางในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องพร้อมกับฝึกทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอมีบทบาทสำคัญในการป้องกันความผิดรูป การผ่าตัดรักษาจะพิจารณาเพื่อแก้ไขความผิดรูปของข้อและกระดูกสันหลังเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขมากที่สุด

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018