เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเดินทาง

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1230
เดินทางระหว่างตั้งครรภ์

เนื่องในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ เป็นวันแม่แห่งชาติ และเป็นวันหยุดยาว 3 วัน หลายครอบครัวจึงถือโอกาสนี้ไปเที่ยวพักผ่อน หมอจึงได้รับคำถามมาว่า แล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ล่ะ…สามารถเดินทางไปเที่ยวได้หรือไม่ แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรจึงจะปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

  1. เช็คอายุครรภ์

อันดับแรกเริ่มจากที่ตัวคุณแม่ก่อนว่ามีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ อายุครรภ์ตอนที่จะเดินทางเป็นเท่าไหร่ เคยมีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ครั้งนี้หรือครั้งก่อนหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะประวัติการแท้งบุตร เลือดออกทางช่องคลอด ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ปกติเราจะแบ่งการตั้งครรภ์เป็น 3 ไตรมาส (Trimester)

  • ไตรมาสแรก (First trimester) คือ ช่วงตั้งแต่เป็นตัวอ่อน (Embryo) จนถึงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์
  • ไตรมาสสอง (Second trimester) คือ อายุครรภ์ตั้งแต่ 14 สัปดาห์ จนถึงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์
  • ไตรมาสสาม (Third trimester) คือ อายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ จนกระทั่งคลอด

เนื่องจากไตรมาสแรก คุณแม่จะยังมีอาการแพ้ท้อง ร่วมกับร่างกายอยู่ในช่วงกำลังปรับตัว อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติแท้งบุตรมาก่อน ส่วนไตรมาสที่สามมีความเสี่ยงต่อเลือดออกทางช่องคลอด ภาวะครรภ์เป็นพิษ และการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถเดินทางได้โดยปลอดภัยคือ ช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์

  1. ตรวจสอบรายละเอียดการเดินทาง

อันดับต่อมาจะต้องถามรายละเอียดของการเดินทาง ว่าจะเดินทางไปที่ใด ที่พักเป็นแบบใด ไปกี่วัน ไปอย่างไร และทำกิจกรรมอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ (จัดอยู่ในไตรมาสที่สอง) ไม่มีโรคประจำตัว ขับรถจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวที่ชลบุรีกันเอง ซึ่งการเดินทางใช้เวลาไม่นาน ความเสี่ยงจะค่อนข้างน้อย ในทางกลับกัน หญิงตั้งครรภ์คนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นเดินทางไกล เช่น เดินทางโดยเครื่องบินจากประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกา ความเสี่ยงก็จะสูงมากขึ้น ซึ่งต้องมาดูรายละเอียดการเดินทางของแต่ละบุคคลเป็นกรณีไป

  1. ตรวจร่างกาย

นอกจากการฝากครรภ์ตามกำหนดและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว หญิงตั้งครรภ์ที่จะเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางไปต่างประเทศ ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อดูว่าการตั้งครรภ์ครั้งนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร และเมื่อใกล้เวลาที่จะเดินทาง ควรไปตรวจกับสูตินรีแพทย์ให้แน่ใจอีกครั้ง  พร้อมกับขอใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลว่าขณะนี้อายุครรภ์เท่าไหร่ เป็นครรภ์เดี่ยวหรือครรภ์แฝด กำหนดคลอดประมาณวันที่เท่าไหร่ โรคประจำตัวและยาที่รับประทานเป็นประจำ และสามารถเดินทางในทริปนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะถ้าเดินทางโดยเรือหรือเครื่องบิน ควรตรวจสอบข้อกำหนดของเรือหรือสายการบินนั้น ๆ ว่ากำหนดอายุครรภ์ที่สามารถเดินทางได้ที่อายุครรภ์เท่าไหร่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลที่ประเทศไทย รวมไปถึงรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลที่เราสามารถเข้าไปรับบริการ หากเกิดปัญหาขึ้นระหว่างการเดินทาง

นอกจากนี้ควรจะซื้อประกันการเดินทางที่ครอบคลุมทั้งหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกเกิดไว้ด้วย แนะนำให้เลือกแผนประกันที่สามารถส่งตัวกลับมารักษายังประเทศไทยได้ (Medical Evacuation Insurance)

  1. อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ หญิงตั้งครรภ์ควรจะรู้ว่าอาการอะไรที่ผิดปกติและต้องไปพบแพทย์โดยทันที เช่น เลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรืออาการของครรภ์เป็นพิษ เช่น ตรวจพบความดันโลหิตสูง ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

นอกจากโรคที่จำเพาะต่อการตั้งครรภ์แล้ว โรคอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย ไข้หวัด ก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าหากถ่ายเหลว แต่ถ่ายเป็นน้ำอย่างเดียว ไม่มีมูกหรือเลือด การรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองคือการดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนน้ำที่สูญเสียออกไป แต่ถ้ามีไข้ร่วมด้วย มีถ่ายเป็นมูกหรือเลือด หรือมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ควรไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

โรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ไข้ซิก้า (Zika virus infection) ซึ่งทำให้ทารกมีความผิดปกติ มีศีรษะเล็กตั้งแต่แรกเกิด (Congenital microcephaly) โดยอาการของผู้ที่ติดเชื้อมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการเล็กน้อย จนกระทั่งมีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตาแดง มีผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งโรคนี้นำโดยยุงลาย ดังนั้นควรป้องกันยุงกัดด้วยการสวมเสื้อแขนขายาว และสำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET ซึ่งสามารถป้องกันโรคอื่น ๆ ที่นำโดยยุงและแมลงได้ด้วย

  1. ฉีดวัคซีน

วัคซีนที่แนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน (Tdap) ที่จำเป็นต้องฉีดในทุกการตั้งครรภ์ โดยหลีกเลี่ยงวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ่ (live vaccine) ในทุกกรณี ยกเว้นจะมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

จะเห็นได้ว่าหญิงตั้งครรภ์ก็สามารถเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนได้ แค่ต้องมีการเตรียมตัวมากกว่าคนทั่วไป รวมถึงการวางแผนสำหรับกรณีฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น หลังอ่านบทความนี้จบแล้ว หากมีใครเดินทางไปเที่ยวที่ไหน อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ…หมอพลอย

 

Tips

· การขึ้นเครื่องบินของหญิงตั้งครรภ์ ควรเลือกนั่งบริเวณที่ติดกับทางเดิน สามารถลุกเดินได้สะดวก เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดที่ขา

· การคาดเข็มขัดนิรภัย ควรให้สายที่พาดผ่านหน้าตักหรือสะโพกลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับครรภ์ของคุณแม่ ส่วนสายที่พาดผ่านแนวบ่า ให้พาดผ่านร่องไหล่ให้พอดี หากเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดแรงกระชากของเข็มขัดนิรภัย สายเข็มขัดจะได้ไม่เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์

 

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018