PM2.5: อันตราย และการคัดเลือกหน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน

ศ.ดร.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล พ.บ., ว.ว. (กุมารเวชศาสตร์), ว.ว. (กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา), Ph.D.

0
1751

“Particulate Matters 2.5 (PM2.5)” เป็นอนุภาคขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 เท่าของเส้นผมมนุษย์ สามารถเข้าสู่อวัยวะภายในได้โดยไม่ถูกกรองโดยระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบ มลพิษทางอากาศจาก PM2.5 นี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และนับวันมลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เพิ่มอัตราการตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ การกำเริบของโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ของระบบ
ทางเดินหายใจ โรคผิวหนังผื่นแพ้ ไขมันพอกตับและตับอักเสบ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสม ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดการกำเริบของโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง
(โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี (systemic lupus erythematosus, SLE) เพิ่มอัตราป่วยและตายด้วยโรคมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่น ๆ เป็นต้น)

วิธีการป้องกันพิษจาก PM2.5 ที่ดีที่สุด คือ “การหลีกเลี่ยงการสัมผัส ได้แก่ หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มี PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐาน แต่หากมีความจำเป็นต้องไปในพื้นที่ดังกล่าว วิธีการป้องกันที่ได้ผลดีคือ การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพป้องกัน PM2.5 ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจากพิษ PM2.5 เช่น ผู้ที่เป็นโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เป็นต้น หากจำเป็นต้องสัมผัส PM2.5 โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องใช้วิธีป้องกันการสัมผัส PM2.5 ที่มีประสิทธิภาพ

หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกัน PM2.5 นั้นต้องเป็นหน้ากากที่มีรูกรองที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กมากพอที่จะกรองอนุภาคนี้ได้ถึง 95-99% ปัจจุบันหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกัน PM2.5 มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน PM2.5 เช่น N95 และ KN95 สำหรับประชาชนทั่วไปที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกัน PM2.5 นั้น หน้ากากทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถใช้ทดแทนกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกัน PM2.5 ยังขึ้นกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 อย่างถูกวิธี จะต้องใส่ให้ปิดปกคลุมจมูกและปากได้อย่างมิดชิด ซึ่งทำให้มีปริมาณอากาศที่ไม่ได้ผ่านการกรองไหลเข้าไปภายในหน้ากากน้อยกว่า 8% ในกรณีที่ไม่มีลิ้นสำหรับระบายอากาศ จะมีผลทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก หากต้องใส่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงต้องล้างมือก่อนการสวมใส่และหลังการถอดออกทุกครั้ง และหากหน้ากากมีการเปื้อน ควรใช้
ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

หน้ากากมาตรฐานชนิด KN95 นั้นมีจุดเด่นคือ มีความหนา 4 ชั้น มีลิ้นสำหรับระบายอากาศออกทางเดียว (on way valve) ช่วยระบายอากาศและความร้อนจากลมหายใจออก ผลิตจากผ้าโพลีโพรพิลีนชนิดไม่ถักทอและเมลต์โบลน (nonwoven polypropylene and meltblown) ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ สามารถนำกลับมาใช้ได้ถึง 3-4 ครั้ง
ขึ้นอยู่กับสภาวะและลักษณะการใช้งาน นอกจากนี้ยังได้ออกแบบมาให้สวมใส่สบายและเข้ากับรูปหน้าของทุกคน จึงทำให้เกิดความสบายไม่อึดอัดในขณะใช้งาน สามารถใส่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเวลานาน

ดังนั้น นอกจากการเลือกซื้อหน้ากากอนามัยที่ได้การรับรองมาตรฐานที่สามารถป้องกัน PM2.5 ได้แล้ว การสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงจะช่วยให้หน้ากากมีประสิทธิภาพป้องกันและกรอง PM2.5 ได้มากที่สุด