หมอนรองกระดูกสันหลัง

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
1229
หมอนรองกระดูกสันหลัง

บ่ายวันหนึ่งขณะที่กำลังตรวจผู้ป่วยนอกอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้ช่วยหมอก็เข็นคนไข้ชายรูปร่างกำยำดูแข็งแรง (อย่างน้อยก็ตัวใหญ่กว่าหมอ) ที่ร้องอย่างสุดเสียงว่า “ปวดหลังมาก ๆ ครับหมอ ช่วยผมด้วย!!!”

คนไข้หลายคนของหมอที่นั่งรออยู่หน้าห้องหรือแม้กระทั่งผู้อ่านเองคงสงสัยว่าคนไข้รายนี้น่าจะได้รับอุบัติเหตุอะไรมาแน่ ๆ แต่เปล่าเลย เขาบอกว่าแค่ก้มยกลังหนักประมาณ 30 กิโลกรัมแล้วจู่ ๆ ก็ปวดหลังขึ้นมาทันทีจนแทบเดินไม่ได้ ต้องลงไปนอน คำพูดแบบนี้เหมือนก้องอยู่ในหูของหมอเพราะสมัยหมอเด็ก ๆ น่าจะสักประมาณ 7-8 ขวบ แม่เล่า
ให้ฟังว่า อยู่ดี ๆ พ่อก็ปวดหลังมากจนเดินไม่ได้หลังจากไปก้มยกของหนักมา สุดท้ายแม่เลยพาพ่อไปส่งโรงพยาบาล แล้วหมอก็ผ่าตัดเอาเยื่อ ๆ เหมือนนุ่นสีขาว ๆ ออกมาให้ดู แล้วบอกว่านี่เป็นหมอนรองกระดูกสันหลังของพ่อที่ไปกดเส้นประสาทจนทำให้ปวดหลัง ต้องขอบคุณหมอท่านนั้นมากที่ช่วยให้คุณพ่อกลับมาเดินได้ ไปเที่ยวกับหมอได้ตามปกติ แล้วก็คงเป็นครั้งแรกที่หมอได้ยินคำว่า “หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท” จนบัดนี้หมอได้รู้จักกับเจ้าโรคนี้มากขึ้น เพราะได้เรียน ได้รักษาคนไข้โรคนี้มาหลายต่อหลายคน ถ้าอย่างนั้นเรามาเข้าเรื่องหมอนรองกระดูกกันเลยนะครับ

ย้อนกลับมาที่คนไข้รายนี้นะครับ เล่าว่าหลังไปก้มยกของหนักแล้วจู่ ๆ ก็ปวดหลังขึ้นมาทันที รวมทั้งเหมือนมีอาการแปล๊บ ๆ เหมือนไฟช็อตลงขาข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลาจนเดินแทบไม่ได้ นี่แหละครับเป็นอาการที่ชัดมาก ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือที่เรียกว่า Herniated Disc Pulposus ส่วนใหญ่มักเป็นทันทีทันใด

หมอนรองกระดูกถ้าดูจากในรูปจะเห็นว่าหมอนรองกระดูกเป็นเหมือนฟองน้ำซิลิโคนคอยรองรับกระดูก
สันหลังแต่ละปล้อง แล้วด้านหลังของกระดูกแต่ละปล้องจะมีเส้นประสาทมาเลี้ยงที่ขา
ในภาวะปกติหมอนรองกระดูกจะเป็นตัวพยุงหรือคล้าย ๆ โช้คของรถคอยรับแรงกระแทกที่หลัง แต่ถ้าเกิดอยู่ในท่าที่ไปเพิ่มแรงกดแรงดันที่หลังมากเกินปกติ ไม่ว่าจะเป็น
ก้มยกของ ไอจามแรง ๆ เบ่งแรง ๆ หมอนรองก็เคลื่อนจะไปกดเส้นประสาทจนทำให้เกิดอาการดังข้างต้นได้ พวกนี้มักจะเป็นทันที บางรายรุนแรงมากถึงขั้นมีกล้ามเนื้อขาบางส่วนอ่อนแรง หรือกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ ถึงขั้นที่ต้องรีบผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่ทับออก แต่เดี๋ยวก่อน!! อย่าเพิ่งตกใจนะครับ เพราะโดยมากแล้วคนไข้ที่เป็นก็รักษาโดยการที่ไม่ต้องผ่าตัดก็หายได้เหมือนกันครับ

 

ถ้าอย่างนั้นเรามาดูขั้นตอนการรักษากันหน่อยนะครับ สำหรับวิธีการรักษาโดยส่วนมากหมอจะดูจากอาการคนไข้เป็นหลัก ร่วมกับดูปริมาณหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนมากดทับเส้นประสาท

  • ในกรณีที่เป็นน้อย ส่วนใหญ่จะให้การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดได้ หลักการคือพยายามลดแรงกดแรงดันที่หลังลงให้ได้มากที่สุด วิธีก็คือให้นอนราบให้ได้มากที่สุด เพราะอย่างที่หมอบอกไว้คือ หมอนรองเหมือนฟองน้ำซิลิโคน มันเคลื่อนออกมาทับได้ก็มีโอกาสเคลื่อนกลับเข้าที่เดิมได้เหมือนกันครับ โดยมักจะให้ร่วมกับยาแก้ปวดลดการอักเสบ หรือบางรายก็ให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ลดอาการได้เช่นกัน จากนั้นหมอจะมาดูอาการอย่างต่อเนื่องว่า อาการปวด อาการแปล๊บไฟช็อตลงขาดีขึ้นบ้างไหม ร่วมกับการให้ทำกายภาพบำบัดไปด้วยกัน ส่วนใหญ่อาการมักจะดีขึ้นภายใน 2-3 อาทิตย์ คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็อย่าเผลอตัวไปก้มยกของหนักอีกนะครับ เพราะอาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้
  • ในรายที่เป็นมาก หมอนรองกระดูกเคลื่อนที่ไปกดทับเส้นประสาทชิ้นใหญ่ หรือมีอาการร่วม เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ ก็อาจจะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเอาชิ้นที่ทับนั้นออก ส่วนจะผ่าตัดผ่านทางกล้องหรือผ่าตัดแบบเปิดนั้น คงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์และพยาธิสภาพของโรคนะครับ

พอจะทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนถ้าเกิดเราไปเผลอใช้งานหลังแบบผิด ๆ เมื่อรู้ข้อมูลแล้วจะได้หาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นขึ้นมาได้ครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018