เครื่องช่วยฟัง

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป

0
3875
เครื่องช่วยฟัง

เครื่องช่วยฟัง หรือ Hearing Aid มีประวัติความเป็นมายาวนานไม่แพ้อุปกรณ์ใดๆ ที่เราเคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ โดยในยุคแรกๆ หรือราวคริสต์ศักราช 1700 เครื่องช่วยฟังอาศัยหลักการทำงานเหมือนลำโพง คือมีปลายด้านหนึ่งเปิดเป็นช่องใหญ่ ส่วนอีกด้านเป็นช่องเปิดเล็กๆ สำหรับแหย่เข้าไปในรูหู เครื่องช่วยฟังในยุคนั้นมักมีขนาดใหญ่โต ดังนั้นวัสดุที่นำมาใช้จึงต้องเลือกสรรให้เห็นถึงความร่ำรวยของผู้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ อาทิ ทองเหลือง ทองแดง เงิน ทองคำ งาช้าง แต่น่าเสียดายที่ไม่ว่าจะใช้วัสดุชนิดใด หรือราคาแพงแค่ไหน แต่เครื่องช่วยฟังลักษณะนี้ก็ยังไม่สามารถขยายเสียงได้มากนัก

จุดเปลี่ยนของเครื่องช่วยฟังนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการมาถึงของโทรศัพท์และไมโครโฟน หรือราวๆ 100 ปีต่อมา ในยุคพัฒนานี้เครื่องช่วยฟังถูกปรับปรุงให้มีขนาดเล็กลง มีกำลังขยายของเสียงมากขึ้น จนถึงจุดที่สามารถนำไปใส่บริเวณหลังใบหู หรือแม้กระทั่งใส่เข้าไปในรูหูของผู้ใช้ได้เลยทีเดียว ว่าแต่อุปกรณ์จิ๋วชิ้นนี้มีความจำเป็นและคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ตามไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

จำเป็นแค่ไหน

เมื่ออายุมากขึ้น ประสาทหูและอวัยวะต่างๆ ในรูหูที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณคลื่นเสียงจะค่อยๆ เสื่อมลงตามกาลเวลา ผู้สูงอายุจะค่อยๆ สูญเสียการได้ยิน โดยเริ่มจากเสียงสูงๆ ก่อน สังเกตได้ว่าผู้สูงอายุมักไม่ค่อยได้ยินเสียงแหลมๆ สูงๆ แต่จะได้ยินเสียงต่ำมากกว่า นอกจากนี้การจะได้ยินเสียงแต่ละครั้งก็ต้องใช้ความดังมากขึ้นจนบางครั้งดูเหมือนตะโกนคุยกันทั้งๆ ที่นั่งอยู่ข้างกันนี่เอง เครื่องช่วยฟังในท้องตลาดส่วนใหญ่จึงเข้ามามีบทบาทตรงนี้ คือทำหน้าที่เป็นตัวจับสัญญาณคลื่นเสียงและขยายเสียงเหมือนเป็นลำโพงจ่อเข้าไปในรูหู ทำให้เสียงที่เข้ามากระทบแม้เพียงเบาๆ นั้นดังมากขึ้นจนถึงระดับที่ได้ยินได้ ไม่ว่าจะด้วยการนำเสียงผ่านอากาศ หรือสารพัดวิธีแล้วแต่ชนิดของเครื่องช่วยฟังที่เลือกใช้

อย่างไรก็ตามเรามักจะพบว่ามีผู้สูงอายุหรือผู้ที่ประสาทหูเสื่อมไปนานๆ แล้วส่วนหนึ่งที่สมอง ‘ลืม’ วิธีการแปลผลคำพูด เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนเราเคยจำได้ว่าคำนี้แปลว่าอย่างนี้ แต่พอไม่ได้ยินคำนี้นานๆ ก็ค่อยๆ ลืมไปว่ามันแปลว่าอย่างไรกันแน่ สมองของคนที่ประสาทหูเสื่อมไปนานๆ ก็เช่นกัน ดังนั้นเครื่องช่วยฟังจะไม่สามารถให้ประโยชน์สูงสุดได้ถ้าไม่ได้รับการบำบัดด้านการได้ยินควบคู่กันไปด้วย

ใช้งานอย่างไร

เนื่องจากโรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินนั้นมีมากมาย เครื่องช่วยฟังจึงถูกผลิตขึ้นในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างตรงจุด การเลือกเครื่องช่วยฟังจึงจำเป็นต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหู คอ จมูก ซึ่งเป็นผู้ประเมินการได้ยินของคนไข้และเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสม ดังนั้นในแง่ของการเลือกสรรเครื่องมาใช้งานจึงอาจจะยุ่งยากสักหน่อย แต่ในแง่ของการใช้งานจริงส่วนใหญ่จะใช้งานง่ายมาก เพียงแค่เหน็บหรือทัดเอาไว้กับใบหู เครื่องก็จะช่วยขยายสัญญาณเสียงให้เองโดยแทบไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร สำหรับบางรุ่นที่เป็นดิจิตอลมากๆ และสามารถเลือกปรับโหมดให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น รอบข้างมีเสียงดัง เครื่องอาจจะปรับโหมดเพื่อลดเสียงรบกวน ลดการขยายเสียงลงเพื่อให้เกิดความสบายหู เครื่องรุ่นใหม่เหล่านี้อาจใช้งานยากสักนิด แต่ถ้าเป็นเครื่องธรรมดาๆ ถือว่าใช้งานง่ายมาก คุณปู่คุณย่า อาม่าอาอึ้มใช้กันเป็นแน่นอน

อีกปัญหาหนึ่งที่พบในผู้ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังก็คือ ถึงแม้ว่าเครื่องรุ่นใหม่ๆ จะถูกออกแบบมาให้นุ่ม ใส่ง่าย ไม่เจ็บหู แต่บรรดาผู้สูงอายุทั้งหลายที่ใช้เครื่องช่วยฟังมักจะรำคาญไปเสียก่อนที่เครื่องจะทันได้แสดงศักยภาพออกมาให้เห็น และเนื่องจากโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินนั้นมีหลากหลายมาก เครื่องช่วยฟังจึงมีหลากหลายรูปแบบและราคาตามไปด้วย คงยากที่จะสรุปได้ว่าราคาคุ้มค่าหรือไม่

ทนทานหรือไม่

เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้เป็นประจำทุกวัน เครื่องช่วยฟังจึงต้องการการบำรุงรักษาเป็นระยะ ทั้งการดูแลทำความสะอาดให้ปราศจากขี้หูซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งสัญญาณคลื่นเสียง การดูแลเรื่องแบตเตอรี่ ส่วนใหญ่พบว่าเครื่องช่วยฟังจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ราวๆ 5 ปีโดยเฉลี่ย

สำหรับใครที่มีผู้ใหญ่ในบ้านกำลังประสบกับปัญหาการได้ยิน เครื่องช่วยฟังน่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ถึงกระนั้นก่อนตัดสินใจไปซื้อหาเครื่องช่วยฟังมาใช้ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อเข้ารับการประเมิน และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 179 March 2016