เมลิออยด์ เชื้อร้าย

ผศ.นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล

0
2773

เมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดินและน้ำ เป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง พบมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทยซึ่งพบอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 40% จากการศึกษาวิจัยโดย ผศ.นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล นักวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมนักวิจัยของมหิดล-อ๊อกซฟอร์ด ทำให้ทราบว่าทั่วโลกมีประชากรเสียชีวิตจากโรคเมลิออยด์ถึง 89,000 รายต่อปี นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าใน 45 ประเทศทั่วโลกที่เมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นและมีการเสียชีวิตสูงนั้นมีการรายงานการเกิดโรคที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

ในประเทศไทย เนื่องจากเมลิออยด์เป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ตระหนักถึงอันตราย และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดอัตราการเสียชีวิต HealthToday ได้รับเกียรติจาก ผศ.นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล นักวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเมลิออยด์ในแง่มุมต่างๆ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อสร้างความตระหนก หากแต่ต้องการให้ทุกคนได้ตระหนักถึงพิษภัยของโรคร้ายชนิดนี้ และรู้เท่าทันเรื่องการป้องกันซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก

รู้จัก “เมลิออยด์”

โรคเมลิออยด์ ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1910 ที่ประเทศพม่า โดยนายแพทย์อัลเฟร็ด วิธมอร์ ชาวอังกฤษ เชื่อกันว่าเชื้อโรคชนิดนี้น่าจะมีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วเช่นกัน แต่ไม่สามารถวินิจฉัยได้เพราะต้องอาศัยการเพาะเชื้อและการระบุเชื้อที่ถูกต้องจากห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา จนกระทั่งได้เริ่มมีการทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ประมาณ 30 ปีที่แล้ว จึงพบว่าโรคเมลิออยด์เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทยเช่นกัน ในอดีตเชื่อว่าโรคเมลิออยด์พบเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพบไม่บ่อย แต่จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าโรคเมลิออยด์นี้สามารถพบได้ทั่วประเทศไทย โรคนี้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเทียบเท่าโรควัณโรค ในภาคตะวันออกและภาคใต้มีรายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในภาคกลางและภาคเหนือก็มีพบบ้างประปราย

โรคเมลิออยด์ เป็นโรคที่มีความรุนแรงอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับโรคติดเชื้ออื่นๆ คือมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 40% อาการแสดงของโรคมีความหลากหลาย ไม่จำเพาะเจาะจง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการติดเชื้อรุนแรง เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ช็อค อาจมีอวัยวะภายในล้มเหลว ติดเชื้อในกระแสเลือด และหรือ ปอดบวมร่วมด้วย และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 1-2 วัน อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก เพราะโรคเมลิออยด์ไม่ใช่โรคใหม่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อรุนแรงที่มิใช่ไข้หวัดธรรมดาควรมาพบแพทย์ และเนื่องจากโรคเมลิออยด์ไม่มีอาการจำเพาะ แพทย์และผู้ป่วยจึงไม่สามารถวินิจฉัยได้จากอาการแสดงเพียงอย่างเดียว

การวินิจฉัยโรคเมลิออยด์ทำได้ค่อนข้างยาก การวินิจฉัยยืนยันต้องใช้เวลานาน เนื่องจากการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจน้ำเหลืองหรือชุดตรวจไม่มีความแม่นยำ มีความถี่ในการเกิดผลบวกปลอมและผลลบปลอมสูง การวินิจฉัยยืนยันจำเป็นต้องอาศัยการเพาะเชื้อแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการจากสิ่งส่งตรวจต่างๆ เช่น เลือด เสมหะ ปัสสาวะ หนอง และต้องการความชำนาญของเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการณ์ในการระบุเชื้อให้ถูกต้องเท่านั้น สำหรับเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ควรระบุว่าเชื้อแกรมลบที่เพาะขึ้นจากสิ่งส่งตรวจว่าเป็นเชื้อเมลิออยด์หรือไม่ทุกครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่มักระบุเชื้อเมลิออยด์ผิดเป็นเชื้อปนเปื้อน หรือเชื้อสูโดโมแนสสปีชีส์เสมอถ้าไม่มีความชำนาญ อีกทั้งเชื้อเมลิออยด์ยังทนทานต่อยาปฏิชีวนะหลากหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคเมลิออยด์จำเป็นต้องใช้ยาที่จำเพาะต่อโรคเท่านั้น (เช่น ยาเซฟตาซิดีม หรือ ยาเมโรพีแนม)

นอกจากนี้เมลิออยด์ยังเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน ผู้ป่วยต้องได้รับยาฉีดประมาณ 2-3 สัปดาห์ และต้องกินยาต่อเนื่องนาน 6 เดือนเพื่อกำจัดเชื้อที่ในร่างกายให้หมดไป จากข้อมูลข้างต้นจึงสรุปได้ว่า เมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตสูง วินิจฉัยยืนยันยาก เชื้อทนต่อยาปฏิชีวนะทั่วไป ต้องใช้ยาปฏิชีวนะจำเพาะ และใช้เวลาในการรักษานาน แต่ข้อดีของโรคนี้คือ “ป้องกันได้” ซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อๆ ไป

ช่องทางเข้าสู่ร่างกาย

เชื้อเมลิออยด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง การกิน และการหายใจ ในประเทศไทยจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือประมาณ 80% ติดเชื้อเมลิออยด์ผ่านทางผิวหนัง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต้องสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาที่ต้องลงนาลุยโคลนหรือแช่อยู่ในน้ำนานๆ ทำให้ผิวหนังเปื่อยย่น เชื้อจึงเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ยิ่งผิวหนังมีบาดแผลเชื้อก็จะยิ่งเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น รองลงมาคือการติดเชื้อจากการกิน จากการสำรวจในบางพื้นที่พบว่ายังคงมีเชื้อเมลิออยด์ปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปาหมู่บ้านและแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ และยืนยันว่าก่อโรคโดยการกินจริงโดยการตรวจพบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์เดียวกันกับที่พบในผู้ป่วย ส่วนการติดต่อผ่านทางการหายใจ ในประเทศไทยพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่มักพบในประเทศที่ต้องเผชิญกับมรสุมรุนแรง เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลียตอนเหนือที่ติดกับคาบสมุทร เพราะแรงลมจะพัดพาดินให้ฟุ้งกระจายไปในอากาศ ประเทศเหล่านี้จึงมักพบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์หลังจากเกิดมรสุมหนักไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในขณะที่ประเทศไทยมักพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากในช่วงฤดูทำนา

เป็นแล้ว เป็นซ้ำได้

ผู่ป่วยโรคเมลิออยด์หลังจากรักษาจนหายดีแล้ว สิ่งสำคัญคือ “ต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ” ซึ่งการกลับเป็นซ้ำมี 2 แบบ คือ เชื้อเมลิออยด์ที่ยังเหลือค้างอยู่ในร่างกายกลับออกมาเป็นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และ การติดเชื้อใหม่ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ยังทำนาทำการเกษตรเหมือนเดิม จึงมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ และไม่ว่าจะกลับเป็นซ้ำในแบบใดก็ตาม โอกาสเสียชีวิตก็ยังสูงอยู่ดี จึงควรป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำดีที่สุด สำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคเมลิออยด์ หากมีอาการติดเชื้อ ไข้สูง หรืออาการอื่นๆ ที่รู้สึกว่ารุนแรงจนต้องมาพบแพทย์ ไม่ว่าจะไปรักษาที่ไหนก็ตาม ให้บอกแพทย์ด้วยว่าเคยป่วยเป็นโรคเมลิออยด์มาก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น

ดีที่สุดคือ “ป้องกัน”

จากการวิจัยพบว่า “การสวมใส่รองเท้าบูทช่วยป้องกันการติดเชื้อเมลิออยด์ได้มาก” เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้รับเชื้อผ่านทางผิวหนัง อย่างไรก็ตามการใส่บูทเดินในนาไม่ใช่เรื่องง่าย จากการศึกษาทำให้ได้ทราบข้อเท็จจริงว่าถึงแม้จะมีการแจกรองเท้าบูทให้กับเกษตรกรไว้สวมใส่ป้องกัน แต่ส่วนใหญ่มักใส่อยู่ไม่กี่วันก็ถอดเก็บ เพราะบูทที่แจกเป็นบูทลุยน้ำ ใส่แล้วโคลนดูด เดินลำบาก ร้อน ใส่ทำนาทั้งวันไม่ไหว นอกจากนี้พื้นที่นาในบางจังหวัดระดับน้ำในนาจะสูงมาก บูทลักษณะนี้จึงแทบไม่ช่วยอะไร ที่สะท้อนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือบางคนใส่เพราะกลัวหอยเชอรี่บาด กลัวเป็นมะเร็งจากการสัมผัสถูกยาฆ่าแมลง โดยที่ไม่รู้เลยว่าการใส่บูทยังช่วยป้องกันอีกหนึ่งโรครุนแรง ซึ่งก็คือ “โรคเมลิออยด์” ได้ด้วย แต่ก็มีบางคนที่รู้แต่ใส่ไม่ไหว เพราะร้อนและเดินยาก ปัจจุบันมีบูทรุ่นใหม่เกิดขึ้นหลายแบบ เช่น บูทนินจา หรือเอี๊ยมลุยน้ำ ซึ่งก็พอใช้ได้ ช่วยให้เดินง่ายขึ้น แต่ยังแก้ปัญหาเรื่องความร้อนไม่ได้ ราคาค่อนข้างสูง และขาดง่ายกว่าบูทลุยน้ำ ดังนั้นบูทที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริงจึงควรเป็นบูทที่ถูก ทน และระบายความร้อนได้ดี โดยหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เร่งทำวิจัยในเรื่องนี้ เพื่อให้ได้รองเท้าบูทที่เหมาะสมกับการใช้งานจริงและมีราคาเหมาะสมสำหรับประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเกษตรกรส่วนหนึ่งเชื่อว่าถ้าใส่รองเท้าบูทแล้วจะทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่ายขึ้นเพราะความอับชื้นและการเสียดสี จึงเลือกที่จะเดินลุยดินลุยโคลนด้วยเท้าเปล่า ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้าได้มากกว่า สิ่งที่แนะนำคือ ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจดูเท้าในตอนเช้าก่อนเป็นลำดับแรก ก่อนใส่บูทให้โรยแป้งเด็กและสวมถุงเท้าสูง จะช่วยแก้ปัญหาความอับชื้นและการเสียดสีได้ และควรใส่บูททุกครั้งที่ลงนา

นอกจากนี้ยังมีวิธีการป้องกันอื่นๆ อีก เช่น การดื่มน้ำต้มสุก แม้ว่าจะมีการรณรงค์เรื่องนี้กันมานานแล้ว แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับสังคมแวดล้อมเป็นหลัก อย่างเรื่องของการดื่มน้ำต้มสุก ถ้าในชุมชนไม่มีใครริเริ่ม ไม่มีบ้านไหนต้ม คนอื่นๆ ก็ไม่ต้ม ยังคงทำตามกัน คือกินน้ำประปาหมู่บ้าน น้ำบ่อ น้ำฝนแบบไม่ต้มสุกเหมือนเดิม ซึ่งไม่เพียงเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมลิออยด์เท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอื่นๆ ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะถ้าประชาชนไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรค การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันก็ไม่เกิด ซึ่งจากการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชน เรามักจะได้รับคำถามกลับมาว่า “โรคเมลิออยด์อันตรายจริงหรือ? ทำไมไม่เคยเห็นรณรงค์อะไรในทีวีเลย” ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้หลังอ่านบทความเรื่องนี้จบแล้วก็คือ ขอให้เราช่วยกันส่งต่อข้อมูลนี้ให้ทุกคนที่รู้จักและทุกคนที่เรารัก ให้พวกเขา “รู้จัก” และ “ป้องกัน” ตัวเองจากโรคเมลิออยด์

ต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเมลิออยด์ รวมทั้งการวินิจฉัยและระบุเชื้อสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่

www.melioidosis.info/th

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 179 March 2016