ความอ้วนกับโควิด19

ผศ. นพ. สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ เครือข่ายคนไทยไร้พุง (23 เมษายน 2563)

0
1494
ความอ้วน

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีนได้ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการทั้งหลายพยายามหาปัจจัยเสี่ยงที่เอื้อต่อการเป็นและเพิ่มความรุนแรงของโรคฯ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง จนกระทั่ง
เสียชีวิต ปัจจัยเท่าที่มีรายงานก็มี อายุ เพศ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง มะเร็ง แต่ไม่มีเรื่อง “ความอ้วน” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จนกระทั่งการระบาดมาถึงประเทศอิตาลี ซึ่งทำให้มีการป่วย และเสียชิวิตจำนวนมาก จึงมีรายงานจาก Gruppo Italiano per la Valutazione degli Interventi in Terapia Intensiva (https://giviti.marionegri.it)  ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ชาวอิตาลี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อายุ 60-70 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดคือ ความอ้วน1

การรายงานต่อมาจาก 14 รัฐ ในประเทศสหรัฐอเมริกา (COVID-NET) ในระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยโควิด-19 ที่นอนโรงพยาบาล 1,482 คน พบมีปัจจัยหรือโรคประจำตัวที่สำคัญ คือ

  • ความดันโลหิตสูง 49.7%
  • อ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ตร.ม.) 48.3%
  • โรคปอดเรื้อรัง 34.6%
  • โรคเบาหวาน 28.3%
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด 27.8%

และที่สำคัญกว่านั้น คือ ผู้ป่วยโควิด-19 อายุตั้งแต่ 18-64 ปี ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วยอันดับหนึ่ง คือ 49-59%2 สอดคล้องกับรายงานผู้ป่วยโควิด19 ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จำนวน 393 รายที่นอนโรงพยาบาลในช่วง 5-27 มีนาคม 2563 พบว่า ผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะปอดอักเสบรุนแรงจนการหายใจล้มเหลว 130 คน เป็นผู้ชาย (70.8%) อ้วน (43.4%) มากกว่า ผู้ป่วยที่ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 263 คน (ชาย 55.5% อ้วน 31.9%)3 ดังนั้น ฝรั่งที่อ้วนดัชนีมวลกายเกิน 30 กก./ตร.ม. ที่เป็นโรคโควิด19 อาจเพิ่มความรุนแรงของโรคมากกว่าคนผอมกว่า

การศึกษาจากประเทศจีน ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่นอนโรงพยาบาล 214 คน อายุ 18-75 ปี และตรวจพบไขมันพอกตับ 66 ราย เมื่อวิเคราะห์กับความอ้วน โดยใช้ดัชนีมวลกายเกิน 25 กก./ตร.ม. เป็นเกณฑ์ พบว่า ความอ้วนดังกล่าว สัมพันธ์กับการเพิ่มความรุนแรงของโรค ถึง 6.3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ดัชนีมวลกายน้อยกว่า (หลังจากปรับปัจจัยอื่น ๆ คือ อายุ เพศ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติแล้ว)4

การศึกษาจากนานาประเทศก็คงเป็นบทเรียนให้คนไทยโดยเฉพาะวัยทำงาน ตระหนักถึงความสำคัญของความอ้วน (น้ำหนักเกิน ส่วนสูงเป็นเมตร ยกกำลังสอง คูณ 25 หรือ ดัชนีมวลกาย เกิน 25 กก./ตร.ม.) กับ การติดเชื้อและเพิ่มความรุนแรงของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะคนที่มีไขมันพอกตับ ซึ่งมักจะไปด้วยกันกับการมี “อ้วนลงพุง” หรือ รอบเอว เกินส่วนสูงหารสอง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มไขมันที่พอกที่ตับแล้ว ยังเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง ทำให้ภูมิคุ้มกันโรค ภูมิต้านทานโรคต่ำลง และ เพิ่มการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Sorbello. The Italian coronavirus disease 2019 outbreak: recommendations from clinical practice. Anaesthesia 2020 doi:10.1111/anae.15049.
  2. Shikha Garg. Hospitalization Rates and Characteristics of Patients Hospitalized with Laboratory-Confirmed Coronavirus Disease 2019 — COVID-NET, 14 States, March 1–30, 2020. Centers for Disease Control and Prevention Morbidity and Mortiality Weekly Report, April 8, 2020.
  3. Parag Goyal. Clinical Characteristics of Covid-19 in New York City. Correspondence in New Engl J Med 2020. DOI: 10.1056/NEJMc2010419.
  4. Kenneth I Zheng. Obesity as a Risk Factor for Greater Severity of COVID-19 in Patients With Metabolic Associated Fatty Liver Disease. Metabolism. 2020 Apr 19;154244. doi: 10.1016/j.metabol.2020.154244.