ต้านอ้วน…สู้โควิด

ผศ. นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์

0
2370

เราคงได้ยินข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ว่าปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิดแล้วจะเกิดอาการรุนแรง
การรักษาได้ผลไม่ดี และอาจจะเกิดอันตรายจากการติดเชื้อไวรัสโควิดจนถึงแก่ชีวิตได้ก็คือ “ความอ้วน”

หลังจากไวรัสโควิด 19 ได้แพร่ระบาดทั่วโลกมาระยะหนึ่งแล้ว ข้อมูลทางวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดโรคติดเชื้อโควิด 19 ระบุว่า การที่เชื้อไวรัสตัวนี้จะไปทำอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ ของคนเราจนเกิดอาการรุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้นั้น เกิดจากกลไกการอักเสบที่รุนแรง ซึ่งจะแสดงออกแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยพบว่า
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการมากหรือน้อย หรือรุนแรงมากจนกระทั่งเสียชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับ
“ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย” ซึ่งแต่ละคนจะมีความสามารถไม่เหมือนกัน

แม้ว่าจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการปกป้องการติดเชื้อต่าง ๆ แต่ข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้นั้นยอมรับว่า ความอ้วนมีผลต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ส่งผลทำให้อาการและการแพร่กระจายเชื้อของคนอ้วนนานกว่าคนที่มีน้ำหนักและรูปร่างปกติถึงร้อยละ 42 นอกจากนี้ยังพบว่า
ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 นั้น ความอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัว
ในโรงพยาบาล รวมทั้งมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีข้อมูลโดยตรงถึงผลของความอ้วนว่าจะทำให้มีการป่วยหนักและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด 19 ในอัตราเท่าใด แต่ผลของการศึกษาวิจัยเบื้องต้นที่ออกมาจากอู่ฮั่นและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทาง
การแพทย์ที่เชื่อถือได้ของประเทศจีนพบว่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีรูปร่างและ BMI ปกติ คือมี BMI น้อยกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ผู้ป่วยที่มี BMI มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าอย่างชัดเจน และเมื่อแยกกลุ่มออกมาเป็นกลุ่มที่รอดชีวิตและเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 พบว่า ในกลุ่มที่เสียชีวิตนั้น ร้อยละ 88.2 มีค่า BMI มากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Thromboembolism) ที่เกิดจากพยาธิสภาพของการติดเชื้อไวรัสโควิดในรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำนั้นพบได้สูงกว่าในผู้ป่วยโรคอ้วน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ความอ้วนน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดมีอาการรุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเมื่อข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มขึ้นจากรายงานทางการแพทย์ของประเทศทางตะวันตกและสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากกว่าที่เสียชีวิตในประเทศจีนหลายต่อหลายเท่า ข้อมูลใหม่ ๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์และแน่นอนมากขึ้น ในระหว่างนี้ก็คงต้องพึ่งพาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและข้อมูลเท่าที่มีอยู่ไปก่อน

อีกทฤษฏีหนึ่งที่น่าจะนำมาอธิบายความสัมพันธ์ของความอ้วนกับอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิดก็คือ คนที่อ้วนและมีไขมันมากจะมีจำนวนของตัวรับที่เรียกว่า ACE2 สูง และ ACE2 นั้นเป็นตัวรับที่จะจับกับไวรัสโควิด 19 และเป็นจุดที่ไวรัสจะเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ การมีจำนวนตัวรับ ACE2 มากจึงเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การติดเชื้อไวรัสโควิดรุนแรงขึ้น และเกิดอันตรายมากกว่า รวมทั้งผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและใช้ยาจำพวก ACE1s inhibitor และ ARBs blocker ก็จะไปเพิ่มตัวรับ ACE2 ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิดรุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคความดันโลหิตสูงนั้นมักจะมาคู่กันกับโรคไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง และอ้วนลงพุง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพโดยรวมทั้งสิ้น และเมื่อเพิ่มปัจจัยเสี่ยงด้านการเพิ่มโอกาสเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิดและระบบภูมิคุ้มกันลดลงจากโรคอ้วนด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้อันตรายจากการติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ลดน้ำหนักสู้โควิด

มาถึงตอนนี้ทุกคนคงจะรู้กันดีแล้วว่าไวรัสโควิด 19 นี้จะอยู่กับพวกเราไปอีกยาวนานเป็นปีหรือมากกว่านั้น การรักษาสุขภาพจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะต้องลดโอกาสการติดเชื้อให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ด้วยการรักษาระยะห่าง และไม่ไปอยู่ในที่ที่มีโอกาสในการติดเชื้อสูงแล้ว อาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับที่
พอเพียง รวมทั้งการเสริมสารอาหารที่จำเป็นในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้รับรอง และการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็น่าจะเป็น NEW NORMAL ที่ทุกคนจะต้องเร่งทำกันเป็นอันดับแรก ๆ

เอกสารอ้างอิง

  1. Risk of COVID-19 for patient with obesity . Obesity Reviews 2020:1-2.
  2. Maier HE ,Lopez R ,Sanchez N et al.Obesity increase the duration of influenza A virus shedding in adults . J Infect Dis 2018;218:1378.
  3. Peng YD, Meng K Guan HQ et al .Clinical characteristic and outcome of 112 cardiovascular diseases infected with 2019-n CoV. Zhonghua Xin Xue Guan Bing Za Zhi.2020;48 ( abstract)
  4. Patel AB , Verma A . COVID -19 and angiotensin-converting enzyme inhibitors and angiotensin receptors blockers. What is the evidence. JAMA 2020; http://doi.org/10.1001/jama.2020.4812.
  5. Kassir R. Risk of COVID‐19 for patients with obesity. Obesity Reviews. 2020;21(6).

TH20OB00001