คัดจมูก เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของหลอดเลือดบริเวณโพรงจมูก ทำให้ผนังเยื่อบุโพรงจมูกบวม ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการคัดจมูกมีหลายประเภท เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ภูมิแพ้ อาการติดเชื้อที่โพรงไซนัส นอกจากนี้การใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูกมากเกินจำเป็นก็เป็นสาเหตุของอาการคัดจมูกได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญในการป้องกันปัญหาแทรกซ้อนจากอาการคัดจมูกคือ การค้นหาสาเหตุและการรักษาอาการคัดจมูกที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก เนื่องจากอาการคัดจมูกอาจรุนแรงจนกระทบต่อการได้ยินและพัฒนาการด้านการสื่อสาร สำหรับเด็กแรกเกิด (น้อยกว่า 3 เดือน) จะยังไม่สามารถหายใจทางปากได้ ดังนั้นอาการคัดจมูกอาจส่งผลต่อการรับประทานนม หรืออาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้ นอกจากนี้อาการคัดจมูกยังอาจส่งผลให้นอนหลับไม่เพียงพอ นอนกรน หรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการคัดจมูกอาจดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- สูดดมไอน้ำร้อน เพื่อช่วยลดอาการคัดจมูก โดยต้มน้ำ 4-6 ถ้วย และใช้ผ้าขนหนูกางเหนือศีรษะเพื่อกักเก็บไอน้ำให้มากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพที่ดีควรทำติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อาจดื่มน้ำผลไม้เพื่อลดความข้นเหนียวของน้ำมูก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเนื่องจากอาจทำให้เกิดการสูญเสียน้ำมากขึ้นและทำให้อาการแย่ลง
- นอนพักผ่อนในบริเวณที่มีความชื้นเหมาะสม หากความชื้นไม่เพียงพออาจใช้เครื่องทำไอระเหย (vaporizer) หรือเครื่องปรับความชื้นอากาศ (air humidifier)
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะหากอาการคัดจมูกมีสาเหตุจากไข้ละอองฟาง รวมทั้งหลีกเลี่ยงสารก่อความระคายเคืองอื่น ๆ เช่น ควันบุหรี่
- ใช้ลูกยางดูดน้ำมูก สำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กที่จำเป็นต้องสั่งน้ำมูก โดยอาจใช้น้ำเกลือหยอดจมูกข้างละ 2-3 หยด เพื่อให้น้ำมูกเหลวขึ้นก่อนให้ลูกยางดูดน้ำมูก
- นอนหลับในท่าคว่ำหน้า จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้
- น้ำเกลือล้างจมูก มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการคัดจมูกได้ดี
หากอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มาพร้อมกับอาการจาม คันตา หรือน้ำตาไหล เป็นไปได้ว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุโรคภูมิแพ้ ในกรณีนี้ยาต้านฮีสทามีนอาจช่วยบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาเภสัชกรร้านยา และปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด
แม้ว่าอาการคัดจมูกจะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และอาจทุเลาได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ไม่แนะนำให้ปล่อยทิ้งไว้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป อาการดังกล่าวได้แก่ คัดจมูกนานเกิน 10 วัน, มีไข้สูง, น้ำมูกมีสีเหลืองหรือเขียวร่วมกับมีอาการปวดบริเวณไซนัสหรือมีไข้ เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้น, เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนและมีไข้ หรือไปพบแพทย์เมื่ออาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ทำให้ลูกน้อยของคุณหายใจลำบาก
Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018