ช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในญี่ปุ่น เกี่ยวกับการหายตัวไปของเด็กวัยอนุบาลขณะที่เดินจากบ้านของคุณปู่กลับมายังบ้านของตนเอง ซึ่งห่างกันเพียง 100 เมตร
ในญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เด็กทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นงานชิ้นแรก เด็กจะได้รับมอบหมายให้ทำบางอย่างตามลำพัง หากหลายท่านเคยชมรายการญี่ปุ่นที่เข้ามาฉายทางโทรทัศน์ไทยหลายปีมาแล้ว เด็กอาจได้รับมอบหมายให้ไป
ซื้อของในร้านค้าในหมู่บ้านเพื่อนำกลับมาบ้าน สำหรับรายนี้เด็กได้รับมอบให้เดินทางกลับบ้านตามลำพัง แต่หายไปจากเส้นทาง ซึ่งได้มีการระดมอาสาสมัครออกตามหาเป็นระยะเวลา 3 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงผิดปกติ ทำให้ทุกคนเป็นห่วงว่าเด็กจะขาดน้ำและเกิดอันตรายได้ ในที่สุดพบเด็กห่างออกไปจากจุดเส้นทางเดินกลับบ้าน 300 เมตร อยู่ริมแอ่งน้ำ เป็นข่าวที่คนญี่ปุ่นดีใจกันทั้งประเทศ
ช่วงที่รายการญี่ปุ่นออกฉาย มีการอภิปรายกันมากว่าหากให้เด็กไทยทำงานชิ้นแรกแบบเดียวกันจะเกิดอะไรขึ้น
เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กช่วงวัย 3-6 ขวบ เด็กต้องใช้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้สามารถทำงานสำเร็จตามที่แม่บอก ตั้งแต่เรื่องการหาร้านที่จะไปซื้อของ การอธิบายของที่จะซื้อ การจ่ายเงิน รับเงินทอน การหิ้วเอาของที่ซื้อกลับมาบ้าน จะเห็นความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ความน่ารักตามวัย การใช้มุมมองแบบเด็ก ๆ และความสุขเมื่อทำภารกิจสำเร็จกลับมาบ้านสู่อ้อมกอดของแม่ด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นเด็กที่โตขึ้น ปัญหาใหญ่สำหรับสังคมไทยคือสังคมเราปลอดภัยพอที่จะให้เด็กห่างจากสายตาพ่อแม่หรือไม่ สิ่งที่เด็กเจออาจซับซ้อนเกินกว่าเด็กจะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และอีกคำถามคือ เราเลี้ยงดูลูกแบบที่มีแนวคิดการปลูกฝังความรับผิดชอบจากการลงมือทำงานเพียงพอหรือไม่
การทำงานสำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งถูกตีความให้มีเรื่องการเรียนหนังสือเพียงเรื่องเดียวที่พ่อแม่ทุ่มเทเคี่ยวเข็ญให้เด็กทำ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มถูกมอบหมายให้ทำงานหนักเกินกว่าวัยของเด็ก เช่น เด็กจำนวนหนึ่งอยู่กันตามลำพังโดยพี่ทำหน้าที่เลี้ยงน้องด้วยวัยที่ควรจะยังต้องเล่าเรียน การทำงานสำหรับเด็กเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการสำหรับเด็ก หากดูว่าเด็กมีงานอะไรบ้างที่เขาควรได้รับการสนับสนุน ให้โอกาส ให้ประสบการณ์ และมีความสุขจากความสำเร็จที่ทำงานนั้นได้สำเร็จ งานชิ้นแรกเป็นงานที่เป็นไปตามพัฒนาการ พ่อแม่ควรติดตาม หาความรู้เรื่องพัฒนาการของลูก สังเกตความสามารถของลูก เพื่อสนับสนุนเขาให้เขาสามารถทำได้ตามวัยของเขา ตัวอย่างวัยทารก เรารู้ว่าเด็กจะพยายามชันคอ ในเวลาที่อุ้มเด็กตอนที่คอยังไม่แข็ง พ่อแม่ใช้มือประคองบริเวณลำคอ และค่อย ๆ ลดการประคอง หรือให้ลูกนอนคว่ำ ใช้สิ่งของเล่นกับเขาตรงหน้าเพื่อให้เขาชันคอขึ้นจนเขาทำได้สำเร็จ การสนับสนุนลูกตามพัฒนาการอย่าง
ต่อเนื่องทำให้ลูกเติบโตตามวัย ทำงานตามพัฒนาการได้สำเร็จ ทำให้เขารู้สึกมีความสุข มีความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ และมีความมั่นคงทางใจ
นอกจากงานตามพัฒนางาน งานที่ต้องรับผิดชอบทำเองเป็นสิ่งที่พ่อแม่ออกแบบให้ลูกทำตามวัย ซึ่งเสริมงานตามพัฒนาการของลูกไปในเวลาเดียวกัน การมอบหมายงานควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้
- การมอบหมายงานต้องอยู่ในบรรยากาศที่สนับสนุนส่งเสริม ไม่ใช่การบังคับกดดันหรือด้วยความตึงเครียดหงุดหงิด เด็กมีความพร้อมที่จะร่วมมือในการทำงานตั้งแต่วัย 3-4 ขวบ พ่อแม่มักไม่ได้ฝึกเด็กมาก่อน เมื่อเป็นเด็กโตพยายามให้ทำ กลายเป็นความขัดแย้งกัน เริ่มจากให้โอกาสลูกช่วยงานในบ้าน
- สร้างสรรค์การทำงาน เป้าหมายอยู่ที่ทำงานจนสำเร็จ เช่น ในเด็กเล็กอาจช่วยวางช้อนส้อมบนโต๊ะอาหาร
รดน้ำต้นไม้ เด็กโตช่วยกันเก็บที่นอน งานอาจไม่เรียบร้อยเท่ากับพ่อแม่ทำเอง ใช้บรรยากาศ เสียงเพลง
มองด้านบวก ช้อนส้อมอาจไม่ได้วางตรงเป๊ะ แต่การที่เขาลงมือทำจนเสร็จสำคัญกว่า - ทำตัวอย่างให้ดู ทำตัวอย่างให้เด็กดู ให้เด็กทำในแบบของเขา ค่อย ๆ ช่วยให้เขาทำดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้บรรยากาศที่ส่งเสริมและสร้างสรรค์ ทำได้อย่างนี้พ่อแม่จะไม่เครียด ไม่เหนื่อย ไม่รู้สึกว่าต้องการเวลาเพิ่มเติม ค่อย ๆ เริ่มทำไปทีละอย่าง และอาจใช้สถานการณ์นอกบ้านเป็นการทำงานได้ โดยยังคงอยู่ในสายตาของพ่อแม่จนกระทั่งลูกโตพอ หรือมั่นใจในสถานการณ์ จึงจะปล่อยลูกลับสายตาได้บ้าง
การทำงานสำหรับเด็กไม่ใช่เรื่องเด็ก ๆ ไม่ใช่เพียงฝึกความรับผิดชอบต่อตนเอง การมีประสบการณ์ลงมือทำงานเป็นการฝึกความสามารถด้านความคิดที่เป็นต้นทุนให้เขามีความคิดแบบที่เรียกว่า executive function ที่เขาสามารถปรับตัวรับมือแก้ไขสถานการณ์ในชีวิตของตนเองต่อไปในวันข้างหน้า เด็กพร้อมอยากทำงานตั้งแต่ 3-4 ขวบ ความคิดการจัดการงานให้สำเร็จพัฒนาต่อเนื่องไปจนวัย 6-7 ขวบ สร้างความพร้อมที่จะเป็นเด็กโตที่สามารถร่วมมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ลูกพร้อมแล้ว พ่อแม่พร้อมหรือยังที่จะสนุกไปกับการทำงานของลูก
ภาพประกอบโดย วาดสุข
Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018