ช่วงเวลาคุณภาพ และระยะห่างที่พอดี

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
6313
ชีวิตคู่
“จงยืนอยู่ด้วยกัน แต่ว่าอย่าใกล้กันนัก 
เพราะว่าเสาหินในวิหาร นั้นก็ตั้งอยู่ห่างกันฉันใด
ต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็มิอาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันและกันได้”
คาริล ยิบราน

คิดว่าเป็นประเพณีส่วนตัวของผมไปแล้วที่ทุกเดือนกุมภาพันธ์จะต้องเขียนบทความที่เกี่ยวกับเรื่องของความรัก ซึ่งในส่วนปีนี้ผมจะพูดถึงสองสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตคู่ที่ดี นั่นคือเรื่องของ ความใกล้ชิด และ ระยะห่าง

ช่วงเวลาที่มีคุณภาพ (quality time)

การใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพเป็นเคล็ดลับอันหนึ่งของการรักษาความสัมพันธ์ให้ดีงาม หากขาดสิ่งนี้ไป ความห่างเหินก็จะเข้ามาแทนที่ และกัดกร่อนความสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว จนหมดรักได้ในวันหนึ่ง

คำว่าช่วงเวลาที่มีคุณภาพ หรือเรียกสั้นๆ ว่าช่วงเวลาดี ๆ นี้ คือเวลาที่คนสองคนจะได้อยู่ใกล้ชิด ใส่ใจกัน หรือทำกิจกรรมที่มีความสุขร่วมกัน เวลาที่มีคุณภาพนั้นไม่ใช่หมายถึงการที่คน 2 คนนั่งอยู่ในห้องเดียวกันเฉย ๆ เพราะหลายครั้งเราพบว่าแม้จะมีอีกคนนั่งอยู่ในห้องเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีแต่อย่างใด (คือแม้ตัวใกล้ แต่ใจก็ห่างกันได้)

ดังนั้นคุณภาพของเวลาที่มีให้ต่อกันจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าปริมาณ โดยช่วงเวลาดี ๆ นี้ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานมาก ๆ แบบ 5-6 ชั่วโมง ที่จริงแล้วเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ครึ่งชั่วโมงต่อวัน หากเป็นเวลาที่มีคุณภาพก็เพียงพอแล้วสำหรับหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์

โดยทั่วไปเวลาที่มีคุณภาพสามารถทำได้หลายแบบ ได้แก่

  • ช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการได้พูดคุยกันอย่างตั้งใจ ไม่ทำอย่างอื่นไปด้วย (เช่น เล่นโทรศัพท์) ไม่ตัดบท ไม่พูดแทรก แบ่งปันเรื่องราวของกันและกัน แต่ไม่ใช่พูดแต่เรื่องตนเองจนอีกฝ่ายไม่ได้พูด
  • กิจกรรมที่ทำร่วมกัน ควรเลือกกิจกรรมที่พอใจและมีความสุขทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เรามีความสุขอยู่ฝ่ายเดียว ส่วนเขาต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำแบบทนทุกข์ ถ้าแบบนั้นก็ไม่ควร
  • ช่วงเวลาพิเศษหรือเทศกาล เช่น การฉลองวันเกิด วันครบรอบ ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศประจำปี เป็นต้น

เวลาคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมายกับชีวิตคู่มาก บางทีอาจมีความหมายมากกว่าการให้เงินทองหรือสิ่งของด้วยซ้ำไป เพราะมันคือสัญลักษณ์แสดงถึงความใกล้ชิด ผูกพัน เติมเต็มความรัก และลดความเหงาให้กันและกัน

ระยะห่างที่พอดี

ความเชื่อที่ถูกเข้าใจผิดบ่อยที่สุดอันหนึ่งของชีวิตคู่คือการที่จะต้องใช้ชีวิตแบบตัวติดกัน ทำอะไร ไปไหนมาไหนสองคนเสมอ ไม่แยกจากกัน ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่!!! การมีชีวิตคู่ยังคงจำเป็นต้องมีระยะห่างที่เหมาะสมอยู่ ดังนั้นการหาจุดสมดุลระหว่างความใกล้ชิดและระยะห่างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ชีวิตคู่

ความใกล้ชิดและอิสระ

เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน สิ่งที่เรียกว่าความใกล้ชิดกับอิสระจะเกิดขึ้นเสมอ และในขณะเดียวกันสองสิ่งนี้ก็เป็นพลังที่ตรงกันข้ามกัน ความใกล้ชิดก็คือความอยากดึงดูดเข้าหากัน อยู่ด้วยกัน แชร์ความคิดความรู้สึกร่วมกัน ส่วนอิสระก็คือความต้องการที่จะแยกออกห่างกัน เพื่อที่จะได้มีอิสรภาพ ทำอะไรที่อยากทำ และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นในชีวิตคู่ที่ดี พลังทั้งสองด้านนี้ต้องสมดุลจึงจะไม่เกิดปัญหา

จงอย่าอยู่ใกล้กันเกินไป

ชีวิตคู่เป็นชีวิตที่อยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ทำให้หลายคู่เกิดปัญหาเรื่องของขอบเขต (boundary) ได้โดยง่าย หลายคนมีจินตนาการว่าชีวิตคู่คือการที่คนสองคนรวมกันเป็นหนึ่ง เสมือนเป็นคนเดียวกัน ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องในอุดมคติ (ideal) ที่ไม่เป็นจริง เพราะคนทุกคนต่างก็มี “ตัวตน” และความเป็นตัวของตัวเองอยู่ มีความชอบ ความต้องการ และสิ่งที่เป็นตัวเราอยู่ หลายครั้งที่การมีอุดมคติแบบเราคือคนเดียวกัน ทำให้ลืมไปว่าคนอื่นก็เป็นอีกคนหนึ่ง มีความรู้สึก ความคิด และความต้องการที่ต่างไปจากเรา

ดังนั้นระยะห่างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น การอยู่ใกล้ชิดกันมาก ๆ แบบตัวติดกัน โดยทั่วไปมักจะพบได้ในช่วงแรก ๆ ที่คบกัน แต่ถ้ายังเป็นแบบนั้นไปเรื่อย ๆ มักจะจบลงที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (หรือทั้งคู่) รู้สึกว่าถูกควบคุม อึดอัด และเบื่อหน่ายจนอยากไปหาอิสรภาพ จึงต้องเข้าใจว่าการที่อีกฝ่ายต้องการเวลาของตัวเองบ้างเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้แปลว่าเขาไม่รัก! เพียงแต่เขาอาจต้องการพื้นที่ส่วนตัวบ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและพบบ่อยคือกิจกรรมที่แต่ละคนสนใจ ในความจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าคนสองคนจะชอบทำกิจกรรมเหมือนกันทุกอย่าง การจะลากให้อีกฝ่ายทำเหมือนเราทั้งหมดจึงเป็นไปแทบไม่ได้ เช่น ผู้ชายชอบเตะบอล ผู้หญิงชอบเล่นโยคะ เราไม่ควรคาดหวังให้ผู้หญิงต้องไปเตะบอลกับผู้ชาย และผู้ชายไปเล่นโยคะกับผู้หญิง ดังนั้นการแยกกันทำกิจกรรมบางอย่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในทางตรงกันข้ามเราไม่ควรคาดหวังหรือบังคับให้เค้าต้องเลิกทำกิจกรรมที่ชอบเพียงเพราะเราไม่ทำ

ข้อควรระวังสำหรับอุดมคติแบบเราสองคนคือหนึ่งเดียวกัน

· คิดว่าสิ่งที่เราชอบทำ เขาก็ต้องชอบทำเหมือนกัน

· เขาต้องรู้สึกและคิดเหมือนเราทุกอย่าง

· เขาต้องเดาใจฉันออกสิ เช่น ฉันอยากทำอะไร อยากได้อะไร ต้องเดาได้สิ

ซึ่งความเชื่อหรือความคาดหวังแบบนี้ย่อมนำมาซึ่งความผิดหวัง และเมื่อผิดหวังก็นำไปสู่ความโกรธและเสียใจ

ระยะห่างที่เหมาะสม

เวลาคุณภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตคู่ แต่ในขณะเดียวกันระยะห่างก็เป็นสิ่งสำคัญของชีวิตคู่เช่นกัน แล้วระยะห่างที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร? จริง ๆ แล้วไม่มีคำตอบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละคู่ บางคู่ที่มีความเป็นส่วนตัวสูงก็อาจจะมีระยะห่างที่มากหน่อย บางคู่ก็อาจจะน้อยหน่อย ขึ้นกับนิสัยและบุคลิกภาพของแต่ละคน ทั้งนี้อาจจะต้องพูดคุยและปรับกันเอาเอง แต่โดยทั่วไปแล้วระยะห่างที่พอดีควรจะประกอบไปด้วย

  • มีความเป็นตัวของตัวเองได้พอสมควร
  • มีเวลาทำสิ่งที่ตนเองรัก (แม้ว่าอีกฝ่ายอาจไม่ชอบทำกิจกรรมนั้น)
  • มีเวลาอยู่คนเดียวเพื่อคิดหรือทำธุระของตัวเองบ้าง
  • เรื่องส่วนตัวของตัวเอง (ที่ไม่เกี่ยวกับอีกฝ่าย) สามารถคิด ตัดสินใจได้เอง โดยไม่ต้องขออนุญาตไปซะทุกเรื่อง

สิ่งสำคัญคือ แต่ละคนต้องมีเวลาที่ได้อยู่คนเดียวบ้าง และต้องอยู่ได้ รวมถึงสามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง ไม่ควร
ใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่า คู่ไม่อยู่ถึงกับอยู่ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถมีความสุขได้ อันนี้ถือว่าเรายังไม่เป็นผู้ใหญ่
มากพอ (mature) ไม่มีตัวตนที่ชัดเจนและเข้มแข็งพอ ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ชีวิตคู่จะสามารถมีความสุขได้ยืนยาวหากเป็นแบบนี้

หากให้สรุปสั้น ๆ ในเรื่องของความใกล้ชิดและระยะห่างสำหรับชีวิตคู่ ก็น่าจะเป็น “ใกล้ชิดกันมากพอที่จะรู้สึกถึงความรักความผูกพัน แต่ก็มีระยะห่างพอที่แต่ละคนจะมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่”

 

Resource : HealthToday Magazine, No.202 February 2018