จับโกหก

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
2640

การโกหกอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนทุกคน ว่ากันว่าในทุกวันคนเราจะต้องเจอกับการโกหกอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเราโกหกคนอื่น หรือคนอื่นโกหกเราก็ตาม ซึ่งการโกหกอาจเป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ดังนั้นสิ่งที่คนจำนวนมากสนใจก็คือ “แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเรากำลังโดนโกหกอยู่” ในบทความนี้เรามาลองดูกันครับว่าจากการศึกษาวิจัยแล้ว เราสามารถสังเกตสัญญาณของการโกหกได้จากอะไรบ้าง

คนทั่วไปมีความสามารถในการจับโกหกได้ดีแค่ไหน? หากให้คนส่วนใหญ่ตอบจะพบว่าคนเรามักคิดว่าตัวเองสามารถจับโกหกคนอื่นได้ดี หรืออย่างน้อยก็จับโกหกแฟนได้เก่ง แต่ความจริงแล้วผิดถนัดครับ การศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่มีทักษะในการจับโกหกไม่ต่างจากการโยนหัวก้อยเท่าไหร่เลย การศึกษาของศาสตราจารย์ไวส์แมนพบว่าคนเราจับโกหกได้ถูกต้องเพียง 51.8% เท่านั้น!

ในความเชื่อของคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าพฤติกรรมของคนโกหกคือการไม่สบตา มีท่าทีกระสับกระส่าย หรือขยับมือไปมา ซึ่งความจริงแล้ว “ไม่จริงครับ” คนโกหกส่วนใหญ่ไม่ได้มีท่าทีเช่นนั้น ยกเว้นคนที่ตื่นเต้นหรือกลัวอย่างมากจนควบคุมตัวเองไม่ได้เท่านั้นถึงจะมีอาการดังกล่าว แต่คนส่วนใหญ่มีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีกว่านั้นครับ มีการศึกษาจำนวนมากที่ถ่ายวิดีโอของคนที่กำลังโกหกแล้วนำมาวิเคราะห์ พบว่าคนที่โกหกมีพฤติกรรมประเภทไม่สบตาหรือกระสับกระส่ายไม่ได้แตกต่างจากคนที่กำลังพูดความจริงเลย

บทสนทนาต่อไปนี้ถูกเผยแพร่ในรายการ Tomorrow’s World ทางบีบีซี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ไวส์แมน ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์เซอร์โรบินเป็นเวลาสั้นๆ แบ่งเป็น 2 ตอน โดยมีเนื้อหาการสัมภาษณ์ดังนี้

ตอนที่ 1

ไวส์แมน : คุณโรบินครับ คุณชอบภาพยนตร์เรื่องไหนมากที่สุดครับ

เซอร์โรบิน : Gone with the Wind ครับ

ไวส์แมน : ทำไมถึงชอบเรื่องนี้ครับ

เซอร์โรบิน : อืม…มันเป็นหนังที่คลาสสิคครับ นักแสดงก็ยอดเยี่ยม มีดาราเก่งๆ หลายคน เช่น คลาร์ก เกบิล นอกจากนั้นก็มีนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมอย่าง วิเวียน ลีห์ อีกด้วย ยอดเยี่ยมที่สุดเลยครับ

ไวส์แมน : คุณชอบตัวละครตัวไหนมากที่สุดครับ

เซอร์โรบิน : อ๋อ เกเบิลครับ

ไวส์แมน : คุณดูเรื่องนี้กี่รอบแล้วครับ

เซอร์โรบิน : อืม…ผมคิดว่าน่าจะสัก 6 รอบแล้วนะ

ไวส์แมน : แล้วดูครั้งแรกเมื่อไหร่ครับ

เซอร์โรบิน : ก็ตั้งแต่ที่หนังออกฉายครั้งแรกแหละครับ ผมว่าน่าจะเป็นปี ค.ศ.1939

ตอนที่ 2

ไวส์แมน : คุณโรบินครับ คุณชอบภาพยนตร์เรื่องไหนมากที่สุดครับ

เซอร์โรบิน : อืม… Some Like It Hot ครับ

ไวส์แมน : ทำไมถึงชอบเรื่องนี้ครับ

เซอร์โรบิน : เพราะทุกครั้งที่ผมดู มันก็ยิ่งตลกมากขึ้นเรื่อยๆ เลยครับ หนังมีรายละเอียดที่ผมชอบมาก และยิ่งชอบมากขึ้นทุกครั้งที่ได้ดูเลยครับ

ไวส์แมน : คุณชอบตัวละครตัวไหนมากที่สุดครับ

เซอร์โรบิน : อืม…ผมว่าเป็นโทนี เคอร์ติสครับ เขาเล่นได้แบบ…มี เสน่ห์มาก… และก็ฉลาดมากด้วย เขาเลียนแบบแครี แกรนด์ได้เหมือนมากเลย แถมยังตลกมากอีกด้วย โดยเฉพาะเวลาพยายามต่อต้านไม่ให้ตัวเองหลงเสน่ห์ของมาริลิน มอนโร

ไวส์แมน : แล้วคุณดูครั้งแรกเมื่อไหร่ครับ

เซอร์โรบิน : ผมว่าเป็นตอนที่หนังเข้าฉายนะ …เออ… แต่ผมจำไม่ได้แล้วครับว่าเมื่อไหร่

 

อ่านจบแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ หนึ่งในสองของบทสนทนานี้เซอร์โรบินพูดความจริง ส่วนอีกอันหนึ่งพูดโกหกครับ พอเดาได้ไหมครับว่าตอนไหนจริง ตอนไหนโกหก?

สัญญาณของการโกหก

หลังจากก่อนหน้านี้เราได้รู้แล้วว่าการพยายามสังเกตการสบตาหรืออาการกระสับกระส่ายนั้นได้ผลน้อยมากในการจับโกหก คราวนี้เรามาดูกันครับว่าจริงๆ แล้วสัญญาณของการโกหกมีอะไรบ้าง? ในที่นี้ผมใช้คำว่า “สัญญาณ” เนื่องจากการมีอาการใดอาการหนึ่งนั้นไม่ได้เป็นการยืนยันนะครับว่าคนๆ นั้นโกหก มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ ดังนั้นสัญญาณในที่นี้จึงเป็นเพียงสิ่งที่กระตุ้นให้เราสังเกตว่า “อาจจะ” มีการโกหกเกิดขึ้น ซึ่งหากเราอยากรู้ให้แน่ชัดก็จำเป็นจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

คำพูดและวิธีพูด

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าจริงๆ แล้วการสังเกตพฤติกรรมของคนพูด แทบไม่ช่วยอะไรเลยในการสังเกตการโกหก ตรงกันข้าม การมัวสังเกตท่าทางมักทำให้เราไขว้เขวจากสิ่งที่ควรสังเกตจริงๆ นั่นคือคำพูดและวิธีพูด

ศาสตราจารย์ไวส์แมนได้ทำการทดลองซึ่งเป็นอันเดียวกับบทสัมภาษณ์ที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมข้างต้นนั่นแหละครับ โดยให้ผู้เข้าร่วมทดลองบอกว่าตอนไหนกันแน่ที่เซอร์โรบินโกหก ซึ่งผู้ร่วมทดลองแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามการสื่อสาร 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) อ่านบทสัมภาษณ์จากกระดาษเหมือนที่ผู้อ่านอ่านจากในกรอบนั่นแหละครับ 2) ฟังแต่เสียงโดยไม่เห็นภาพ และ 3) ดูวิดีโอการสัมภาษณ์ซึ่งเห็นทั้งภาพและเสียง เดาได้ไหมครับว่ารูปแบบไหน คนตอบถูกมากกว่ากัน

โดยทั่วไปเรามักเดากันว่าการเห็นทั้งภาพและเสียงจะช่วยให้ตอบถูกมากกว่า แต่การศึกษานี้ผิดครับ กลุ่มคนที่ดูวิดีโอตอบถูกเพียง 51.8% ซึ่งดีกว่าการเดาสุ่มนิดเดียว ในขณะที่คนอ่านเป็นตัวหนังสือตอบถูก 64.2% ส่วนคนที่ฟังแต่เสียงตอบถูกมากที่สุดคือ 73.4% ดังนั้นแล้วจะเห็นว่าการสนใจไปที่น้ำเสียงและเนื้อหาคำพูดช่วยในการสังเกตการโกหกได้ดีที่สุด โดยลักษณะของคนที่กำลังพูดโกหกมักจะเป็นดังต่อไปนี้ครับ

  • เนื้อหาสั้นกว่า การโกหกโดยที่ไม่ได้เตรียมคำพูดมาก่อนมักจะทำให้การตอบสั้นกว่าการพูดความจริง หรือลงรายละเอียดได้ไม่มาก หากดูจากบทสนทนาที่เป็นตัวอย่างแล้วจะสังเกตเห็นว่าโดยภาพรวมแล้วเซอร์โรบินจะตอบในตอนที่ 2 ค่อนข้างยาวกว่าตอนที่ 1 ในแต่ละคำถาม
  • ไม่พูดถึงตัวเองหรือไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึก เนื่องจากการพูดโกหกสิ่งที่พูดมักเป็นเรื่องที่นึกขึ้นมาเอง จึงเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากตัวเองจริงๆ ทำให้เวลาพูดมักจะไม่พูดถึงตัวเองหรือไม่มีการใส่อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองลงไปเท่าไหร่ ในตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ในตอนที่ 2 เซอร์โรบินพูดถึงตัวเอง (ใช้คำว่า “ผม”) บ่อยกว่าในตอนที่ 1 มาก และในตอนที่ 1 เซอร์โรบินพูดถึงนักแสดงแค่ว่า “มีนักแสดงเก่งๆ พวกเขายอมเยี่ยมมากเลย” ซึ่งเป็นการพูดแบบทั่วๆ ไป ในขณะที่ตอนที่ 2 พูดว่า “เขา(นักแสดง) เล่นได้แบบ …มี เสน่ห์มาก … และก็ฉลาดมากด้วย เขาเลียนแบบแครี แกรนด์ได้เหมือนมากเลย แถมยังตลกมากอีกด้วย โดยเฉพาะเวลาพยายามต่อต้านไม่ให้ตัวเองหลงเสน่ห์มาริลิน มอนโร” จะเห็นได้ว่าการพูดมีการใส่อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดลงไปมากกว่า ในรายละเอียดที่เป็นส่วนตัวกว่า
  • ตอบในสิ่งที่ไม่น่าจะตอบได้ หรือตอบละเอียดมากแบบไม่น่าจะเป็นไปได้ คนที่โกหกหลายคนมักจะมีความคิดว่า การตอบไม่ได้อาจทำให้เราถูกจับได้ จึงพยายามตอบให้ได้มากที่สุด ทำให้หลายเรื่องที่ไม่น่าจะจำได้ก็สามารถตอบได้ หรือบางครั้งตอบรายละเอียดเยอะมากแบบไม่น่าจะเป็นไปได้ ในตัวอย่างการสัมภาษณ์จะเห็นว่าเซอร์โรบินตอบคำถามว่า “ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อไหร่” ได้ในตอนที่ 1 (ซึ่งเป็นการโกหก) แต่ในตอนที่ 2 ที่พูดความจริงกลับตอบว่าจำไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงหากมีใครถามเราว่า “ดูหนังเรื่อง …… เมื่อไหร่” หากเป็นหนังเก่าเป็นสิบปี ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะจำได้
  • ความลังเลหรือการตอบช้า เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราอาจใช้สังเกตได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นกับสถานการณ์และเนื้อหาในการพูดคุยด้วย หากเป็นการถามแบบธรรมดาในคำตอบที่น่าจะตอบได้ทันทีแต่คนตอบลังเลหรือดูชะงักไปอันนี้อาจจะเป็นสัญญาณให้เราสงสัยได้ เช่น หากเราถามเพื่อนว่า “เป็นไงบ้าง วันหยุดไปเที่ยวไหนรึเปล่า” โดยปกติคำถามนี้คนส่วนใหญ่น่าจะตอบได้เลยโดยไม่ต้องคิดหรือลังเลแต่หากเพื่อนเราดูลังเลกว่าจะตอบ อันนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนอันหนึ่ง

แต่สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในเรื่องของความลังเลก็คือมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และวิธีการถามเป็นอย่างมาก คำถามคล้ายเดิม หากเป็นภรรยาถามสามีว่า “เมื่อวานไปไหนมา” (พร้อมสีหน้าจริงจัง) การลังเลในการตอบของสามีอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุนอกจากการโกหก เช่น สามีกำลังคิดว่า “ถามทำไม” หรือ “นี่สงสัยอะไรอีกล่ะ” ก็ได้ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะโกหก

สีหน้า

ที่จริงแล้วสิ่งที่มีประโยชน์ในการสังเกตการโกหกไม่ใช่ลักษณะท่าทางแต่เป็นสีหน้า เพราะการขยับมือหรือการสบตาเป็นสิ่งที่ไม่ยากที่จะควบคุม แต่สิ่งที่ควบคุมได้ยากที่สุดหากเราไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพก็คือสีหน้านั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้การสังเกตสีหน้าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนักสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน หรือปกติไม่ค่อยได้สังเกตอารมณ์หรือสีหน้าของผู้อื่น

โดยหลักการทั่วไปเราจะเริ่มนึกถึงสัญญาณของการโกหกเมื่อเกิดความไม่สอดคล้องกันของเนื้อหาที่พูดกับอารมณ์ที่แสดงออก ซึ่งอารมณ์ที่ไม่สอดคล้องนี้เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ นั่นคือ การปกปิดอารมณ์ที่มีอยู่ หรือเป็นอารมณ์ที่เกิดจากการโกหกโดยตรง

  • การปกปิดอารมณ์ที่เป็นอยู่ ในกรณีนี้เจ้าตัวโกหกเพื่อปกปิดอารมณ์ที่มีอยู่เดิม เช่น เราเดินไปทักเพื่อนว่า “แก เป็นไงบ้าง” แล้วเพื่อนเราตอบว่า “สบายดี ไม่เป็นไร” แต่เราเห็นสีหน้าดูเศร้าอย่างชัดเจน นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า สีหน้าไม่สอดคล้องกับคำตอบที่ว่า “สบายดี” เป็นต้น
  • สีหน้าที่เกิดจากการโกหกโดยตรง โดยส่วนใหญ่เวลาที่คนกำลังโกหกมักจะแสดงอารมณ์ (สีหน้า) อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างนี้ ได้แก่ 1) กลัว ซึ่งเกิดจากการกลัวถูกจับได้หรือกลัวผลที่จะตามมา 2) รู้สึกผิด ซึ่งเกิดจากความรู้สึกผิดที่ต้องโกหก และอย่างสุดท้ายซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักนั่นคือ 3) ดีใจ สีหน้าดีใจที่อาจหลุดให้เห็นในคนโกหกมักจะเกิดจากความสะใจหรือภูมิใจ (ที่โกหกได้) รู้สึกว่าเหนือว่าหรือควบคุมอีกฝ่ายได้ หรืออาจเกิดจากความสนุกตื่นเต้นจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในคนที่ชอบความเสี่ยงหรือท้าทาย

ดังนั้นแล้วหากเราถามเพื่อนว่า “เมื่อวานไปเที่ยวไหนมา” ซึ่งเป็นคำถามชวนคุยทั่วไป แล้วเพื่อนเราแสดงสีหน้ากลัวออกมาตอนที่ตอบว่า “…ก็ไม่ได้ไปไหนนะ” ก็เป็นสิ่งที่อาจฉุกให้เราคิดว่าเพื่อนเราอาจกำลังปกปิดบางอย่างก็เป็นได้ แต่ก็เช่นเดียวกับความลังเลนั่นคือการตีความสีหน้าต้องทำอย่างระมัดระวังและพิจารณาสถานการณ์ด้วยเสมอ เช่น ภรรยาถามสามีว่า “เมื่อวานไปไหนมา” (ด้วยเสียงดุๆ) สามีอาจแสดงสีหน้ากลัวออกมาทั้งที่ไม่ได้โกหกหรือไม่ได้ทำอะไรไม่ดีมา แต่เป็นความกลัวที่เกิดจากการคิดว่า “เอาล่ะสิ เดี๋ยวต้องมีทะเลาะกันอีกแน่” เป็นต้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือวิธีสังเกตสัญญาณของการโกหกครับ แต่สิ่งที่ต้องย้ำเตือนเสมอคือ การจับโกหกไม่ได้บอกถึงสาเหตุหรือแรงจูงใจของการโกหกนะครับ การโกหกของคู่เราอาจเกิดจากความหวังดีก็ได้ เช่น ภรรยาถามสามีว่า “ไปตรวจสุขภาพมาเป็นไงบ้าง” สามีอาจโกหกว่า “ไม่เป็นอะไร ปกติดี” ทั้งที่ความจริงเจอว่ามีโรคความดันโลหิตสูง แต่เนื่องจากรู้ว่าภรรยาเป็นคนขี้กังวลก็เลยไม่อยากบอกความจริง เป็นต้น นอกจากนี้หากถามว่าชีวิตเราควรนั่งจับโกหกคนอื่นแค่ไหน คำตอบของผมคือแทบจะไม่จำเป็นครับ เราไม่จำเป็นที่ต้องมานั่งจับโกหกทุกคนที่เราเจอในชีวิต เพราะมักไม่มีประโยชน์อะไรและไม่ได้เปลี่ยนอะไร การคอยจับผิดตลอดเวลามักจะทำให้คนที่อยู่ด้วยรู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข แถมยังอาจทำให้เราไม่สบายใจเองอีกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • Ekman P, 2007. Emotions revealed: recognizing faces and feelings to improve communication and emotional life. New York: Henry Holt and Company.
  • Wiseman R, 1995. The MegaLab Truth Test. Nature; 373:391.
  • Wiseman R, 2007. Quirkology. London: Conville& Walsh Ltd.

 

Resource : HealthToday Magazine, No.186 October 2016