กลุ่มอาการโรงเรียนประจำ

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1925

สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีโรงเรียนประจำมาก โรงเรียนประจำขึ้นชื่อเรื่องวินัยและการอบรมสั่งสอนที่เป็นระเบียบ ช่วยให้เด็กเป็นผู้นำ และมีความรับผิดชอบสูง อย่างไรก็ตามมีวิวาทะเรื่องข้อดีและข้อเสียของโรงเรียนประจำมาตลอด ข้อเขียนต่อไปนี้ถอดความจากบทความหลายชิ้นของ Joy Schaverien นักจิตวิเคราะห์สายจุง (Jungian) ซึ่งได้บัญญัติศัพท์ กลุ่มอาการโรงเรียนประจำ (Boarding School Syndrome) ขึ้นและอธิบายอย่างละเอียดในวารสาร British Journal of Psychotherapy  อย่างไรก็ตามขอย้ำว่านี่เป็นบทเรียนจากต่างประเทศ มิใช่ประเทศไทย

“การออกจากบ้านอย่างฉับพลันในวัยเด็กส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์ (attachment) เวลาเด็กได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตในบ้าน ครอบครัวมีเวลาปรับตัวเข้าหากัน การเติบโตของเด็กเกิดขึ้นจากการเจรจาต่อรองระหว่างพ่อแม่และลูกตลอดชั่วระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน แต่ที่โรงเรียนประจำไม่มีการเจรจาต่อรองแบบนี้ เด็กมีหน้าที่ปรับตัวเข้าสู่ระบบและกติกา โดยที่ตนเองต้องไปจากพ่อแม่ พี่น้อง สัตว์เลี้ยง และตุ๊กตาที่บ้าน ทั้งหมดนี้(อาจจะ)ทำให้เด็กปิดตัวเองจากความสัมพันธ์อื่นๆ (intimacy) นำไปสู่ปัญหาใหญ่คืออารมณ์เศร้าในผู้ใหญ่ ขาดความสามารถที่จะพูดถึงหรือเข้าใจสภาวะอารมณ์ของตนเอง มีแนวโน้มที่จะหนีจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด ไปจนถึงทำลายความสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว ความรุนแรงของปัญหาจะมีน้อยลงหากเด็กไปโรงเรียนประจำเมื่อโตพอสมควรแล้ว”

ผลลัพธ์ที่เกิดแก่ผู้ใหญ่ซึ่งมีประวัติไปโรงเรียนประจำตั้งแต่เล็กนั้นจะอยู่ในระดับไม่รู้ตัว เพราะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างพัฒนาการ อะไรที่ขาดหายไปก็จะหายไปตั้งแต่แรก โตแล้วก็ไม่รู้ว่าตนเองไม่มี ผลจากขาดความสามารถที่จะพูดถึงหรือเข้าใจสภาวะอารมณ์ของตนเอง โดยที่โรงเรียนประจำส่วนมากก็มีมาตรฐานระดับสูงของตนเอง(อาจจะ)ทำให้เกิดอุปนิสัยดังนี้

“ไม่ฟังใคร มาตรฐานสูง ภาคภูมิใจในตนเองอย่างมาก ไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นโดยง่าย มีทีท่าชวนให้ผู้อื่นว่าหยิ่ง ครั้นเวลาทำอะไรผิดพลาดมักไม่ยอมรับว่าตนเองเสียใจอยู่ภายใน ตีค่าผลงานของตนเองสูงเกินจริงในขณะที่รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าตนเองไม่ดีพอ”

พ้นจากอุปนิสัยก็จะเป็นระดับมีอาการทางจิตบางประการที่รบกวนคุณภาพชีวิต เช่น วิตกกังวลง่าย ซึมเศร้าง่าย ย้ำคิดย้ำทำ มีปัญหาความสัมพันธ์ ใช้สุราหรือสารเสพติด ไปจนถึงหมดไฟง่ายไม่ยอมทำอะไรอีก

ผู้ใหญ่ที่ผ่านโรงเรียนประจำหลายๆ คนร้องไห้ไม่เป็นทั้งที่ซึมเศร้า สาเหตุมาจากการที่ไม่รู้จะร้องกับใครในวัยเด็ก ไม่รู้วิธีที่จะเล่าถึงความรู้สึกของตนเอง บรรยายไม่เป็น และแม้ว่าจะพยายามหาเพื่อนแต่มักหลีกหนีในตอนท้ายแล้วชอบที่จะแก้ปัญหาคนเดียวเสียมากกว่า มักมีงานยุ่งหรือทำตัวยุ่งอยู่ตลอดเวลาเพื่อมิให้ว่าง ฝังตัวอยู่กับที่ทำงานมากกว่าที่บ้านแต่ก็ไม่รู้สึกว่าที่ทำงานคือบ้าน ในคนที่มีอาการมากบางคนจะพูดออกมาว่าไม่มีบ้าน และมีแนวโน้มโทษตนเองเมื่อเกิดเหตุผิดพลาดแม้ว่าจะแสดงออกอีกแบบหนึ่ง

ที่เล่ามามีแต่แง่ลบก็จริง อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ที่ผ่านโรงเรียนประจำจำนวนมากเป็นผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเหนือคนอื่น ก็เพราะวินัยที่เข้มงวดตนเองอย่างดี และโหมงานเพื่อมิให้ตนเองว่างนั่นเอง พวกเขามักได้รับความยอมรับนับถือในเรื่องความสามารถจากเพื่อนร่วมงาน  แต่แม้ว่าจะได้รับคำชื่นชมอย่างไรก็เหงาอยู่ดี ย้ำว่าทั้งหมดนี้มิได้เป็นกับทุกคน เป็นเฉพาะกับคนที่มาปรึกษาแพทย์ซึ่งไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไร และตัดประเด็นเรื่องการถูกละเมิดในโรงเรียนตามที่ชอบเห็นกันในภาพยนตร์ออกด้วย

ตามทฤษฎีพัฒนาการ หลังจาก 5 ขวบเด็กควรมีตัวตนของแม่ สายสัมพันธ์กับแม่ และตัวตนของตนเองพร้อมพอสมควร การไปโรงเรียนเมื่ออายุ 6-7 ขวบสอดคล้องกับพัฒนาการช่วง Industry ของ Erik H. Erikson อยู่แล้ว นั่นคือเด็กๆ มีความพร้อมระดับหนึ่งที่จะไปพบเพื่อนและคนอื่นๆ ในสังคม

ข้อแตกต่างสำคัญ(อาจจะ)เป็นดังที่ Joy Schaverien เขียนในตอนต้น กล่าวคือเด็กที่ไม่ไปโรงเรียนประจำมีโอกาสได้เจรจาต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านทุกเย็น สงครามย่อยๆ น่ารักๆ นี้คือปัจจัยสำคัญของพัฒนาการ แต่เด็กที่ไปโรงเรียนประจำมีโอกาสนี้อย่างมากเพียงสัปดาห์ละ 1 ช่วงเวลา

ปริมาณเวลาที่ต่างกันนี้(อาจจะ)มีนัยยะสำคัญ

 

Resource : HealthToday Magazine, No.186 October 2016