บอระเพ็ดพุงช้าง

ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล

0
7057

บอระเพ็ดมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง มีรายงานว่าหัวบอระเพ็ดพุงช้างนำมาดองเหล้ากินเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยให้กระชุ่มกระชวย สุขภาพแข็งแรง สรรพคุณเป็นยาบำรุงกำหนัด แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรี แก้อาการปวดศีรษะ ไมเกรน ผสมกับยาสมุนไพรอื่น ๆ มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน

บอระเพ็ดพุงช้าง เป็นพืชในสกุลเดียวกันกับกระท่อมเลือดและสบู่เลือด คือ Stephania ที่ผ่านมาพบว่ามีการเรียดชื่อไทยซ้ำซ้อนกัน เช่น เรียกกระท่อมเลือดว่าสบู่เลือด หรือเรียกบอระเพ็ดพุงช้างว่าสบู่เลือด เป็นต้น

ความแตกต่างของบอระเพ็ดพุงช้าง สบู่เลือด และกระท่อมเลือด

ลักษณะ บอระเพ็ดพุงช้าง กระท่อมเลือด สบู่เลือด
น้ำยาง ใส แดง ใส
ลักษณะพืช ไม้เลื้อย ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุกตั้ง
ใบ รูปไข่กว้างถึงกว้างมาก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม รูปคล้ายวงกลม
ปลายใบ มน มนและเป็นติ่งหนามสั้น เป็นติ่งหนามสั้น
ขอบใบ เรียบ หยักซี่ฟัน เรียบ
โคนใบ รูปหัวใจถึงตัด ตัดถึงรูปหัวใจ แบบก้นปิด
กลีบดอก มี มี ไม่มี
กลีบดอกเพศผู้ 3 3
กลีบดอกเพศเมีย 2 2

สรรพคุณบอระเพ็ดพุงช้าง

หัว ดองเหล้ากินขับเสมหะ บำรุงกำลัง มีการศึกษาวิจัยไม่ระบุส่วนที่ใช้เพื่อพัฒนาใช้เป็นยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากมีสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholinesterase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทในสมองบางชนิด อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาสมุนไพรตัวนี้เพื่อใช้เป็นยาต้านมะเร็งอีกด้วย สรรพคุณทางยาอื่น ๆ ได้แก่ ทำให้เจริญอาหาร แก้อาการตกเลือดของสตรี รวมทั้งอาการตกขาว ช่วยรักษาอาการผอมแห้ง หน้าตาซีดเซียว ไม่มีน้ำมีนวล อย่างไรก็ตามควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้บอระเพ็ดพุงช้างในสตรี สำหรับผู้ที่เลือดจางหรือเลือดน้อยใช้หัวนำมาต้มกิน แก้เลือดลม ลดความดันโลหิต นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนไว้กินเป็นยาอายุวัฒนะ หัวหรือราก ใช้แก้ไข้ ลดไข้ของเด็กได้ แก้หอบหืด ขับลม ดอก แก้โรคผิวหนังมีผื่นคัน ดอกหรือผล ย่อยอาหาร เถา น็ขับพยาธิในลำไส้ ปรุงเป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี เถาหรือลำต้นกระจายลมที่แน่นในอก ใบ ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกายรักษาแผลสดและแผลเรื้อรังได้ รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันตามตัวได้ เปลือกต้นและใบ แก้ไข้มาลาเรีย รากหรือใบ บำรุงประสาท บำรุงเส้นประสาท ป้องกันโรคความจำเสื่อม ลำต้นหรือส่วนหนาม แก้เสมหะในคอและทรวงอก แก้บิด

ข้อควรระวัง มีสารที่มีพิษต่อไต อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

(ประโยคด้านล่างใช้ประกอบใต้รูปภาพของกระท่อมเลือด)

น้ำยางสีแดงของกระท่อมเลือดนำมาใช้เป็นหมึกเพื่อใช้สักยันต์ตามตัวเพื่อทำให้หนังเหนียวได้

 

 

Resource : HealthToday Magazine, No.188 December 2016