สมองเสื่อมลิววี่บอดี้

ผศ.ดร.นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
1478
สมองเสื่อมลิววี่บอดี้

ทุกวันนี้หากพูดถึงภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้าง แต่ถ้าพูดถึง “โรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้” หลายคนอาจจะงงว่า ห้ะ…โรคอะไรนะ! ไม่เห็นเคยได้ยินมาก่อน แต่ที่จริงแล้วแล้วโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่หรือโรคแปลกประหลาดอะไรหรอกครับ มีการค้นพบมานานหลายสิบปีแล้ว และยิ่งกว่านั้นโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้นี้คือโรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มของภาวะสมองเสื่อมเลยทีเดียว โดยเป็นรองเพียงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (vascular dementia) เท่านั้น

ในอดีตโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้เป็นโรคที่ถูกพูดถึงน้อยมากในสื่อสาธารณะ เรียกว่าแทบไม่มีใครรู้จัก เพราะเวลาพูดถึงโรคในกลุ่มสมองเสื่อม คนส่วนใหญ่ก็มักจะกล่าวถึงโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ตัวโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้มาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาจากข่าวการเสียชีวิตของโรบิน วิลเลียม ดารา
นักแสดงชื่อดัง ที่ต่อมามีการเปิดเผยว่าโรบินนั้นเจ็บป่วยด้วยโรคนี้และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเสียชีวิตของเขา

สาเหตุ

โรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้พบว่ามีความผิดปกติของโปรตีนที่เรียกว่า แอลฟ่า ซินนิวคลิน (alpha-synuclein) สะสมกันเป็นกลุ่มก้อนในสมอง [เรียกว่า ลิววี่บอดี้ (Lewy Body)] มีผลทำให้การทำงานของเซลล์ประสาทแย่ลงจนผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ทั้งด้านการคิด การเคลื่อนไหว หรือพฤติกรรม

อาการ

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้จะมีปัญหาเรื่องความจำ สมาธิ และการคิดการตัดสินใจ ซึ่งอาการเหล่านี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับโรคอัลไซเมอร์ โดยมีข้อแตกต่างเล็กน้อยคือ ในโรคอัลไซเมอร์ปัญหาเรื่องหลงลืมจะเป็นอาการที่เด่นชัดที่สุด ในขณะที่โรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้ความผิดปกติของสมาธิจะเป็นอาการที่ค่อนข้างเด่น อย่างไรก็ตามโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้จะมีอาการอื่น ๆ อีกที่ไม่ค่อยพบในโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่

  • อาการขึ้น ๆ ลง ๆ โดยบางครั้งผู้ป่วยจะมีช่วงเวลาที่สมาธิแย่ลง ดูเหมือนใจลอย วอกแวกง่าย หรือดูไม่ค่อย
    ตื่นตัว (ดูซึม ๆ) ซึ่งจะเป็นอยู่นานหลายชั่วโมงหรืออาจจะนานถึงสองสามวัน จากนั้นอาการจะดีขึ้น ซึ่งอาการ
    แบบนี้จะเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะ ซึ่งต่างจากโรคอัลไซเมอร์ที่อาการในแต่ละวันจะค่อนข้างคงที่คล้าย ๆ เดิมไม่มีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ
  • เห็นภาพหลอน เป็นอาการเด่นอันหนึ่งที่พบได้บ่อยในโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้ ผู้ป่วยอาจจะเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เช่น บอกว่าเห็นหมาแมววิ่งในบ้านทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เลี้ยง หรือเห็นคนที่ตายไปแล้วอยู่ในบ้าน เป็นต้น
  • มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหว อาการจะคล้ายกับที่พบในโรคพาร์กินสัน ได้แก่ มือสั่น เดินตัวเกร็ง เคลื่อนไหวช้าลง หรือเดินเซ ซึ่งอาการเหล่ามักจะเริ่มเป็นในเวลาใกล้เคียงกับอาการด้านสมาธิและความจำ

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี อาการจะเป็นแบบค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-8 ปีหลังจากเริ่มมีอาการ

การวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมประเภทนี้ค่อนข้างซับซ้อนและต้องตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น จิตแพทย์ แพทย์อายุรกรรมประสาท หรือแพทย์อายุรกรรมผู้สูงอายุ โดยการตรวจต้องอาศัยการซักประวัติอาการ
ความผิดปกติ การทดสอบความสามารถของสมอง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการสแกนสมอง จึงจะสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นหากอ่านแล้วสงสัยว่าญาติของเรามีอาการใกล้เคียงกับที่กล่าวไปข้างต้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมครับ

การรักษา

ในปัจจุบันโรคสมองเสื่อมลิววี่บอดี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงเป็นไปในลักษณะของการชะลอการดำเนินโรคและลดอาการต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยพบว่ายาในกลุ่ม acetylcholinesterase inhibitors สามารถชะลอการแย่ลงของความสามารถของสมองได้เล็กน้อย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์ เช่น เห็นภาพหลอนอย่างมาก หรือมีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว ก็อาจให้ยารักษาตามอาการเพื่อลดอาการเหล่านี้ได้ ในผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว การทำกายภาพบำบัดหรือใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการเดินสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้เองมากขึ้นและทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น

สำหรับผู้ดูแล ความเข้าใจในตัวโรคเป็นสิ่งสำคัญ หลายครั้งพบว่าญาติทะเลาะกับคนไข้ในเรื่องการเห็นภาพหลอน หรือหงุดหงิดที่คนไข้จำไม่ได้แล้วถามซ้ำ ๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอาการหลักของโรคนี้ หากผู้ดูแลเข้าใจ จะช่วยลดความเครียดลงได้ และสามารถดูแลผู้ป่วยได้ต่อไปในระยะยาว

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018