สามีภรรยาทำงานที่เดียวกัน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
5424
ชีวิตคู่

ความจริงสามีภรรยาไม่ควรทำงานที่ทำงานเดียวกัน เพราะอาจกระทบกับความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานที่ต้องแยกระหว่างความเป็นเพื่อนร่วมงานกับการเป็นคนคนเดียวกันในฐานะสามีภรรยา อย่างไรก็ตามอาจมีข้อยกเว้นได้บ้าง เช่น เป็นการร่วมงานช่วงสั้นก่อนที่อีกฝ่ายจะเข้าสู่งานใหม่  หรือในบางสถานะอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต่างคนต่างมีงานสอนของตัวเอง เป็นอิสระในทางวิชาการ และไม่ได้ทำงานบริหารในคณะหรือในมหาวิทยาลัย การทำงานในที่ทำงานที่แยกจากกันทำให้ต่างฝ่ายต่างทำงานอย่างเป็นอิสระในที่ทำงานของตนเอง

หลายคู่พบรักกันในที่ทำงาน แต่งงานกัน และอาจต้องทำงานร่วมกันต่อหลังแต่งงาน ด้วยเหตุจำเป็นหลายอย่าง การเปลี่ยนที่ทำงานอาจทำไม่ได้ง่าย ที่ทำงานทำให้ได้ใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกัน เป็นสิ่งที่ช่วยในเรื่องของครอบครัว แต่การทำงานในที่ทำงานเดียวกันหลังแต่งงาน มีเรื่องที่จะต้องระมัดระวัง

  • การรักษาเวลาครอบครัว แม้จะทำงานในที่ทำงานเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่รับผิดชอบ ในเวลางานต้อง
    รับผิดชอบการทำงานของตนเอง นอกเวลางานจึงจะเป็นเวลาของครอบครัว แม้ทำงานที่เดียวกันก็อาจรู้สึกว่าไม่ได้มีเวลามากสำหรับครอบครัว และอาจขัดแย้งกันเหมือนคู่อื่น ๆ ที่รู้สึกว่าได้เวลาจากอีกฝ่ายน้อยกว่าที่ต้องการ เพราะฉะนั้น ‘การสื่อสาร’ เพื่อรักษาเวลาครอบครัวยังคงต้องดำเนินไปเช่นเดียวกับทุกครอบครัวที่ทำงาน
  • การคุยกันเรื่องงาน เป็นทั้งโอกาสและข้อควรระวัง การทำงานในที่ทำงาน ด้วยสายงานที่ใกล้เคียงทำให้สามารถเข้าใจลักษณะงานที่ทำของกันและกัน แลกเปลี่ยนคุยกันเรื่องงานได้ง่าย แต่ข้อระวังยังคงมีอยู่ในการเอาเรื่องที่ทำงานกลับบ้าน จนอีกฝ่ายอึดอัดใจ หรือไม่อยากรับฟังตลอดเวลา รวมทั้งการออกความเห็นก็แยกได้ยากระหว่างความเป็นสามีภรรยากับความเป็นเพื่อนร่วมงาน
  • การรักษาพื้นที่ส่วนตัว หลังการแต่งงาน การให้พื้นที่ส่วนตัวกับคู่สมรสเป็นเรื่องสำคัญ พื้นที่ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ส่วนตัว การทำงานร่วมกันมีโอกาสที่จะเดินทางไปกลับด้วยกัน รับประทานอาหารร่วมกัน แต่ในเวลางานต้องแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ เวลามีกิจกรรมที่ทำงานสามารถร่วมกิจกรรมโดยอยู่ในตำแหน่งและหน้าที่ของตนเองในที่ทำงาน ต่างฝ่ายต่างมีขอบเขตส่วนตัวในที่ทำงาน
  • การเคารพกันในที่ทำงาน เช่นเดียวกับการให้พื้นที่การทำงานเป็นพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อ
    ฝ่ายหนึ่งเป็นหัวหน้างาน การให้เกียรติ ไม่ก้าวก่าย หรือแสดงให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจผิดว่าเรามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในหน้าที่การงานของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นการบั่นทอนอีกฝ่ายในการทำงาน
  • ความเป็นมืออาชีพ การทำงานอย่างเป็นมืออาชีพเป็นความรู้ความสามารถเฉพาะตัวที่สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ เมื่อต้องแสดงความเห็นตามความเชี่ยวชาญ ต้องมีความเป็นอิสระที่จะแสดงความเห็น หากเห็นต่างเป็นเรื่องที่ต้องคุยตัดสินใจในการทำงาน กลับถึงบ้านต้องยอมรับการทำหน้าที่ในครอบครัว ไม่เอาความขัดแย้งกลับมาต่อที่บ้าน รวมทั้งการยอมรับการได้รับการโปรโมทของคู่สมรส
  • เรื่องไม่เป็นเรื่องในที่ทำงาน เรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องในชีวิตคู่ได้ กลับไปทบทวนเรื่องที่ผ่านมา เรื่องที่เก็บมาคิด เป็นเรื่องที่ทำให้เราขาดความเป็นมืออาชีพในการทำงานไหม หรือเป็นเรื่องต้องมีขอบเขตเป็นเรื่อง
    ส่วนตัวเขาในที่ทำงาน บางเรื่องไม่เกี่ยวกับเราทั้งคู่ แต่เอาเรื่องคนอื่นในที่ทำงานมาขยายจนทำให้เวลาส่วนตัว
    ในครอบครัวนอกเวลางานเสียไปด้วย หลักพื้นฐานของคนมีครอบครัวที่ทำงาน บ้านคือบ้าน ที่ทำงานคือที่ทำงาน จัดสรรความสมดุลเรื่องการใช้เวลาให้พอเหมาะ

การทำงานที่ทำงานเดียวกันไม่ใช้ข้อห้าม แต่ต้องตระหนักเสมอว่าต้องมีการจัดการมากกว่าแค่การจัดสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัวเหมือนครอบครัวอื่น ๆ  สิ่งที่ต้องทำ คือ การพูดคุยสื่อสารกันหากรู้สึกว่ามีเรื่องรบกวนใจ เช่น บอกตรง ๆ ว่าไม่ชอบให้อีกฝ่ายแสดงแบบไหนเวลาอยู่ด้วยกันในที่ทำงาน ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถอยออกมาให้มีขอบเขตความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะการมีตำแหน่งทางบริหารของคู่สมรสในที่ทำงาน ต้องเคารพ ให้เกียรติ
ถอยออกมา ยืนห่างออกมาในที่ทำงาน รักษาการใช้เวลาในครอบครัวอย่างมีความหมายแม้จะมีเวลาในที่ทำงาน และบางครั้งในชีวิตการทำงาน การเสียสละของฝ่ายหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายเดินไปตามฝันของการทำงานเป็นสิ่งที่มีความหมาย อาจหมายถึงการยอมแยกกันในที่ทำงาน ยอมแยกที่ทำงาน ยอมชดเชยเวลางานกับเวลาครอบครัว ความเสียสละนี้อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ แต่ส่งผ่านการแสดงออก การตอบรับความเสียสละของอีกฝ่ายอาจไม่ต้องการคำพูดเช่นกัน แค่การแสดงความรู้สึกว่าเข้าใจ และเติมด้วยคำพูดชื่นชม เป็นยาชูรสชีวิตคู่

Resource: HealthToday Magazine, No.211 November 2018