ดวงตาเมื่อยล้า

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
9098
ดวงตาเมื่อยล้า,ปวดตา

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านในที่นี้น่าจะเป็นหนุ่มสาวออฟฟิศ หรืออย่างน้อยก็ทำงานที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งจ้องหน้าจอมือถือเป็นประจำ และน่าจะเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับสายตามากันบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหลังจากที่ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ดวงตาเมื่อยล้าได้

สาเหตุอาการตาล้า   

โดยมากเกิดจากการใช้สายตาอย่างหนักและติดต่อกันเป็นเวลานาน  โดยเฉพาะกิจกรรมต่อไปนี้

  • การอ่าน หรือการเขียน
  • การใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงการจ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือหน้าจอโทรทัศน์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
  • การขับรถ ก็จำเป็นจะต้องใช้สายตาในการเพ่งจ้องติดต่อกันเช่นเดียวกัน

การทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลทำให้เกิดอาการล้าและอ่อนเพลียของดวงตาในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ยิ่งถ้าจำเป็นต้องทำในสิ่งแวดล้อมที่มีแสงสว่างไม่เหมาะสม เช่น แสงจ้าหรือแสงน้อยเกินไปจะยิ่งเป็นภาระให้กับดวงตามากขึ้น เนื่องจากการที่ดวงตาจะโฟกัสไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้สิ่งที่ต้องการมองมีความคมชัดนั้นจำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาช่วยในการปรับโฟกัส การเพ่งจ้องนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้เกิดการเมื่อยล้า และนำมาซึ่งภาวะปวดตาหรือดวงตาเมื่อยล้าได้

อาการของภาวะตาล้า

นอกจากอาการปวดตาที่หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์กันมาอย่างดีแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ อีก เช่น

  • แสบหรือระคายเคืองตา
  • ตาปรับโฟกัสไม่ได้ ส่งผลให้เห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน อาจเป็นชั่วขณะ แต่ในบางรายอาจเกิดเป็นระยะเวลานานได้
  • น้ำตาไหล หรือในทางตรงกันข้ามอาจจะทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้
  • ตาแพ้แสงหรือไวต่อแสงมากกว่าปกติ คือไม่สามารถมองแสงที่ตามปกติเคยมองได้โดยไม่เกิดปัญหาอะไร แต่
    หลังจากที่ใช้สายตาไปนาน ๆ จะทำให้ดวงตาทนต่อแสงได้น้อยลง พอโดนแสงแล้วจะเกิดอาการระคายเคืองได้ง่ายกว่าปกติ
  • ในบางคนจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ หรือปวดบริเวณหัวคิ้วร่วมด้วย

ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เป็นสาเหตุหลักของปัญหาสายตาหลายอย่างที่เกิดขึ้น การที่หน้าจอเหล่านี้เป็นอันตรายกว่าการเพ่งจ้องเอกสารกระดาษหรือหนังสือเนื่องจากหน้าจอมีการเปล่งแสงออกมาด้วยตัวเอง และหลายครั้งที่มีการปรับแสงที่ไม่เหมาะสม มีความต่างของค่าแสงที่มากเกินไป สีสดเกินไป มีไฟกระพริบอยู่ตลอดเวลา ทำให้ดวงตาต้องทำงานหนักกว่าปกติ ที่น่ากลัวก็คือปัญหานี้ไม่ได้พบแค่ในผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวออฟฟิศที่จำเป็นจะต้องทำงานหน้าจอเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงกลุ่มเด็กอายุน้อยที่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเล่นเกมหรือโซเชียลติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อีกด้วย

ถึงแม้ว่าภาวะตาล้าหรือภาวะปวดตานี้จะยังไม่มีหลักฐานออกมายืนยันว่าจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างไร แต่ผลจากภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ตาพร่ามัว ก็ส่งผลเสียต่อการทำงานในระยะสั้น และสร้างความรำคาญรวมไปถึงก่อให้เกิดความไม่สบายเนื้อสบายตัวได้

วิธีป้องกันภาวะตาล้า

  • ตั้งคอมพิวเตอร์ เอกสารที่ต้องการอ่าน หรือหน้าจอที่ต้องการมองให้ห่างจากใบหน้า 50-66 เซ็นติเมตรเนื่องจากเป็นระยะที่ใช้กล้ามเนื้อตาในการโฟกัสน้อยที่สุด เป็นระยะที่สบายตาที่สุดสำหรับการทำงานหรือการอ่านเป็นเวลานาน ๆ
  • ปรับแสงสว่างของทั้งหน้าจอและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่จ้าหรือมืดจนเกินไป ระวังไม่ให้มีแสงสะท้อนดวงไฟหรือแสงอื่น ๆ สะท้อนจากหน้าจอซึ่งจะทำให้สายตาต้องโฟกัสมากกว่าปกติ
  • พยายามกระพริบตาให้บ่อยขึ้นกว่าปกติในขณะที่ใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ เนื่องจากช่วงที่จ้องหน้าจอ เรามักจะกระพริบตาน้อยลงกว่าปกติ ทำให้ตาระคายเคืองได้ง่าย การกระพริบตาบ่อย ๆ จะช่วยลดภาวะระคายเคืองและตาแห้งลงได้
  • จำกัดการใช้สายตาที่ไม่จำเป็น เชื่อว่าหลายคนคงจะเป็นกันบ้าง…ที่พอมีเวลาพักจากการทำงานก็มานั่งเล่นเกมหรือโซเชียลบนโทรศัพท์มือถือ แต่จริง ๆ แล้วการพักแบบนั้นทำให้สายตาไม่มีช่วงที่ได้พักเลย ในกลุ่มที่ใช้สายตาในการทำงานเยอะอยู่แล้ว ควรจะลดการจ้องหน้าจอในช่วงเวลาพักลง และโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ใช้โทรศัทพ์มือถือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะจำกัดเวลาในการเล่น เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสายตา
  • จัดพื้นที่ในการทำงานไม่ให้ต้องก้มหรือเงยมากเกินไป จัดเอกสารและหน้าจอที่ต้องเพ่งมองให้อยู่ในระนาบเดียวกันเพื่อถนอมสายตาให้ไม่ต้องปรับโฟกัสถี่เกินไป

เทคนิคบรรเทาอาการ

ในกรณีที่เกิดภาวะตาล้าหรือปวดตาขึ้นแล้ว ทางแก้ที่พอจะทำได้เองที่บ้านคือ

  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อลดการระคายเคืองที่เกิดขึ้น
  • หากมีอาการปวดบริเวณกระบอกตาหรือรอบดวงตา อาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบรอบ ๆ ดวงตา

แต่ถ้าปฏิบัติตามที่กล่าวมาร่วมกับพักการใช้สายตาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีอาการตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หรือแสบตามาก ควรจะไปพบจักษุแพทย์  เพื่อสายตาที่สดใสและใช้งานได้ดีต่อไปในระยะยาว

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018