สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันตนเองจากโรคภัย เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย

0
1574

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ประชาชนควรสร้างภูมิคุ้มกัน และปกป้องตนเองจากโรคภัยต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย แพทย์แนะผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนก่อนหากมีการผลิตวัคซีน COVID-19 สำเร็จ

เนื่องในสัปดาห์แห่งการสร้างภูมิคุ้มกัน (World Immunization Week) ระหว่างวันที่ 24 – 30 เมษายน ของทุกปี เพื่อต้องการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงคุณค่าในการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการปกป้องคนนับล้านชีวิตให้รอดพ้นจากความเสี่ยงของโรคติดต่อมากมายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยหนึ่งในวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่ประสบความสำเร็จและคุ้มค่าที่สุดในโลกคือการฉีดวัคซีน โดยมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้นักวิจัยต่างเร่งผลิตวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังในภาวะวิกฤตครั้งนี้ รวมถึงยังได้สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของวัคซีนมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ยังมีผู้คนส่วนหนึ่งที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนว่าอาจส่งผลต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดภาวะเรียนรู้ช้าหรือพิการได้ อย่างไรก็ตาม มีแพทย์จากนานาประเทศต่างก็ยืนยันว่าการฉีดวัคซีน “มีความปลอดภัยสูง” และ “มีความจำเป็นอย่างมาก” ในการจำกัดวงจรการระบาดของโรคร้ายที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง หรืออาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้

ศ. เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

ศ. เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา  ปัจจุบันเป็นประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะแพทย์ผู้บุกเบิกเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ยาปฏิชีวนะในโรคติดเชื้อ และโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้ก่อตั้งสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ก่อตั้ง Asian Society of Pediatric Infectious Diseases และเป็นนายกสมาคมคนแรก ที่ร่วมก่อตั้ง Asia-Pacific Society of Clinical Microbiology and Infection รวมถึงได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กของโลก (President, World Society of Pediatric Infectious Diseases) ได้ทำการวิจัยในระยะแรกศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ค้นพบ macrophage aggregation factor ตีพิมพ์ใน Journal of Immunology รวมถึงทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ยาต้านจุลชีพ และวัคซีน ให้ข้อมูลว่า…

“การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีความจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดโรคอุบัติใหม่และยังเป็นโรคระบาดอีกด้วย เช่นเดียวกับภาวะวิกฤต COVID-19 ในช่วงเวลานี้ ปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีกลไกในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรคหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ

1. ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และมีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายจุลินทรีย์หรือสิ่งแปลกปลอมได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่จะป้องกันโรคได้หลายชนิด ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล

2. ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับสิ่งแปลกปลอม โดยจะตอบสนองจำเพาะกับเชื้อโรคผ่านเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ซึ่งจะจดจําเชื้อโรคได้ และจะตอบสนองในครั้งหลังๆ ได้เจาะจงและรวดเร็วขึ้น รวมถึงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

สำหรับกรณีของการสร้างภูมิคุ้มกันโดยวัคซีนนั้น จะเป็นการแนะนำให้ร่างกายให้ได้รู้จักกับเชื้อโรคหรือบางส่วนของเชื้อโรค โดยที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถเรียนรู้วิธีต่อสู้ป้องกันตนเอง เสมือนกับเป็นการซ้อมรบ เมื่อถึงคราวได้รับเชื้อหรือติดเชื้อนั้นเข้าจริง ๆ โดยสารที่เรียกว่าแอนติเจนในวัคซีนก็จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้หรือสารที่สามารถต้านทานเชื้อขึ้นมาได้

ศ. เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา  กล่าวเสริมว่า เนื่องด้วยทุกวันนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก และจากการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น ปัจจุบันคนไทยมีอายุขัยคาดการณ์เฉลี่ยตามช่วงเวลา (period life expectancy) ประมาณ 70-80 ปี ซึ่งต่างจากอดีตที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 40-50 ปี จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีอายุที่ยืนยาวโดยปราศจากโรคภัย ฉะนั้นการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา และการสร้างย่อมดีกว่าการซ่อม เพราะจะทำให้ร่างกายของเราสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างยั่งยืน โดยระหว่างที่ยังรอคอยความหวังจากวัคซีนโควิด-19 ขอแนะนำวิธีการดูแลตนเองเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยวิธีง่าย ๆ 4 อย่าง คือ

  1. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายได้ออกแรงหรือได้เคลื่อนไหวร่างกายทำให้สุขภาพแข็งแรง สมรรถภาพของหัวใจและปอดดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น และส่งผลทำให้อายุยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ
  2. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ รวมถึงสามารถรับประทานอาหารหรือวิตามินเสริม คนที่ขาดแร่สังกะสี (Zinc) หรือวิตามินดี จะมีภูมิต้านทานลดลง แร่สังกะสีจะมีในถั่ว งา สาหร่าย เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ส่วนวิตามินดี ได้จากแสงแดด
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ควรอดนอน เพราะร่างกายจะต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ได้ และทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง
  4. ทำจิตใจเบิกบาน ไม่ให้เครียด คนที่เครียดหรือซึมเศร้าจะมีภูมิต้านทานลดลง ป่วยบ่อยขึ้น

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยง หากจำเป็นก็ควรหาวิธีป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 2 เมตร และหมั่นฆ่าเชื้อโรคด้วยการล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรล้างมือก่อนที่จะสัมผัส ตา จมูก ปาก เสมอ ทำความสะอาดสิ่งที่เราแตะต้องบ่อย เช่น ลูกบิดประตู พื้นผิวโต๊ะทุกวัน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดการติดเชื้อในสังคมและการแพร่เชื้อในชุมชน เนื่องด้วยการผลิตวัคซีนนั้น จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 – 18 เดือน เพราะการที่จะนำวัคซีนไปฉีดในร่างกายมนุษย์ที่แข็งแรงนั้นยิ่งต้องมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยจริง ๆ และสามารถป้องกันโรคได้จริง ๆ โดยปกติแล้ว การพัฒนาวัคซีนจะต้องผ่านการทดสอบขั้นต้นในห้องปฏิบัติการและทดลองในสัตว์ก่อน จึงจะมาถึงขั้นตอนการทดลองทางคลินิก (clinical trials) หรือการทดลองกับมนุษย์ซึ่งมีอยู่ 3 ระยะด้วยกัน ระยะแรกจะเป็นการทดสอบในกลุ่มเล็กเพื่อดูเรื่องความปลอดภัย วิธีให้ ขนาดของยา และผลข้างเคียงเป็นหลัก ระยะที่สองจะทดลองในกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ผู้มีลักษณะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของวัคซีน เช่น มีอายุหรือข้อมูลสุขภาพแบบเดียวกัน รวมทั้งทดสอบในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรค ระยะที่สามจะทดลองกับประชากรในวงกว้างเป็นกลุ่มใหญ่หลายพันคน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคและผลข้างเคียงเปรียบเทียบกับยาหลอก

ศ. เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ให้ความเห็นว่า “กรณีที่มีการผลิตวัคซีนสำเร็จและประกาศใช้แล้ว ในระยะแรก วัคซีนย่อมมีราคาค่อนข้างสูงและมีปริมาณจำกัด จึงจำเป็นจะต้องจำกัดกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงให้ได้รับวัคซีนเป็นอันดับแรก ๆ ก่อน คือ

1. กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบสร้างภูมิเริ่มเสื่อม และถ้าอายุ 80 ปีขึ้นไป ระบบก็จะทำงานได้น้อยลง

2.กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เพราะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด และโรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม ยิ่งเสี่ยงสูงเพราะปกติก็หายใจลำบากอยู่แล้ว เพราะมีไขมันเต็มช่องท้อง ทำให้ดันเนื้อที่ปอดเหลือนิดเดียว เป็นต้น เมื่อมีวัคซีนที่ได้ผลดีรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือมิฉะนั้นจะกลายเป็นวัคซีนของคนที่มีเงินเท่านั้น

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี อาจจะต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ระบบสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อให้ต่อสู้กับเชื้อใหม่ ๆ ได้ สังเกตได้ว่าไม่มีเด็กเสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะสามารถสู้กับเชื้อไวรัสนี้ได้ ทำให้เด็กไทยที่ติดเชื้อมีจำนวนไม่มากและมักเป็นเด็กที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 เด็กที่ติดเชื้อพบว่ามีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการ แต่สิ่งที่กังวล คือเด็กที่ติดเชื้ออาจนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้สูงวัยในบ้านได้ ในทางกลับกัน ยังมีโรคอื่น ๆ อีกมากมายในวัยเด็กที่ผู้ปกครองควรตระหนักรู้และจำเป็นต้องพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบตามกำหนด เพราะเป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคระบาดที่สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้หากไม่ป้องกัน เช่น โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคโปลิโอ โรคหัด ไวรัสตับอักเสบ บี และไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น”

การฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรลงจากโรคที่ป้องกันได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่คุ้มค่า ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่คนไทย