ปวดท้องเพราะพังผืด

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
38845

โดยทั่วไปธรรมชาติสร้างเนื้อเยื่อของร่างกายให้มีกลไกสำหรับป้องกันตนเอง เช่น เวลาเป็นแผลจะมีการสร้างเนื้อเยื่อมาปิดแผลทำให้เกิดแผลเป็นซึ่งมีประโยชน์ในการปกป้องร่างกาย แต่การเกิดแผลเป็นในบางแห่งบางที่กลับทำให้เกิดโทษได้ เช่น พังผืดในช่องท้อง ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บของเยื่อบุช่องท้อง เช่น จากการฉีกขาดเนื่องจากการผ่าตัดหรือจากอุบัติเหตุ เมื่อเกิดบาดแผลแล้วจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดพังผืดเป็นเส้นหรือเป็นแผ่น ทำให้ลำไส้และหรืออวัยวะภายในติดกัน เช่น ลำไส้ติดกับผนังหน้าท้อง ท่อรังไข่ติดกับลำไส้ หรือตับติดกับกระบังลม ฯลฯ

การติดกันของอวัยวะภายในช่องท้องจากพังผืดนี้ในบางกรณีไม่เกิดอาการ บางกรณีเกิดอาการปวดเล็กน้อย บางกรณีทำให้ปวดท้องมากเนื่องจากเส้นพังผืดไปรัดลำไส้ เมื่อลำไส้ถูกบีบรัดก็พยายามบีบตัวขับเคลื่อนสิ่งที่อยู่ภายในไปข้างหน้าเพื่อเอาชนะการตีบตัน การบีบตัวแรง ๆ ของลำไส้ทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาการนี้มักปวดเป็นพัก ๆ เป็น ๆ หาย ๆ เวลาเป็นจะปวดจนหน้านิ่วคิ้วขมวด เมื่อมันบีบตัวมาก ๆ แต่ถ้ายังเอาชนะความตีบตันไม่ได้ก็จะเกิดการคั่งของสารเหลวและก๊าซในลำไส้ ทำให้ลำไส้โป่งพองจนเห็นได้ในเอกซเรย์ เมื่อเป็นมากขึ้นอีกก็จะคลื่นไส้อาเจียน ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ลำไส้ที่โดนบีบ อุดตัน และโป่งพองมากขึ้น จะเริ่มขาดเลือดมาเลี้ยง จนเกิดความเสียหายจนทำให้ลำไส้ตาย ซึ่งทำให้เจ้าของลำไส้อยู่ไม่ได้เช่นกันถ้าไม่ผ่าตัดรักษาให้ทันท่วงที หรือหากในกรณีที่ไม่ควรผ่าตัดก็จะใส่ท่อผ่านจมูกลงไปในกระเพาะอาหารแล้วดูดสารเหลวและก๊าซที่อยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ออกเพื่อป้องกันการโป่งพองของลำไส้ การทำอย่างนี้จะช่วยให้ลำไส้ได้พัก หายบวม และถ้าเป็นการตีบตันเพียงบางส่วนก็อาจจะหายอุดตันได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

พังผืดที่เกิดขึ้นในช่องท้องส่วนบน เช่น จากการอักเสบของถุงน้ำดี ส่วนมากจะไม่ทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ แต่พังผืดในช่องท้องส่วนล่างหรือช่องเชิงกรานมักจะทำให้เกิดลำไส้อุดตัน เพราะลำไส้ส่วนล่างเป็นส่วนที่เคลื่อนไหวไปมาได้มาก เมื่อถูกยึดด้วยพังผืดที่จุดใดจุดหนึ่ง มันจึงมีศักยภาพที่จะบิดตัวพันรอบพังผืดหรือโดนพังผืดรัดทำให้ตีบตันและปวดท้องได้ง่าย การผ่าตัดในช่องเชิงกราน เช่น ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดทวารหนัก มีผลต่อการเกิดพังผืดที่ทำให้เกิดอาการได้มาก ผลเสียของพังผืดในช่องท้องนอกจากจะทำให้ลำไส้ติดกันอุดตันแล้ว ยังสามารถทำให้ท่อรังไข่อุดตันจนเจ้าของเป็นหมัน เพราะไข่ไม่สามารถเดินทางไปพบกับเชื้ออสุจิตามปกติได้ ผู้หญิงที่มีเยื่อบุมดลูกงอกผิดที่จึงมักจะเป็นหมันเพราะเหตุนี้

พังผืดบางอย่างป้องกันได้ บางอย่างป้องกันไม่ได้ สิ่งที่ป้องกันได้คือ หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บของเยื่อบุช่องท้อง เช่น ไม่ผ่าตัดโดยไม่จำเป็น หรือหลีกเลี่ยงการเกิดหนองในอวัยวะสตรีจากเพศสัมพันธ์

หลายคนอาจจะงงว่าการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นมีด้วยหรือ มีแน่ เช่น บางคนที่จะเดินทางไปเรียนต่างประเทศแล้วไปขอให้หมอช่วยผ่าตัดไส้ติ่งออกด้วยความเข้าใจผิดว่าสามารถป้องกันการเป็นโรคนั้นในขณะที่อยู่เมืองนอกเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก แต่การผ่าตัดไส้ติ่งทุกครั้งอาจจะทำให้เกิดพังผืดในช่องท้องที่ทำให้ลำไส้ติดกัน เกิดอาการปวดท้องขึ้นมาได้เหมือนกัน เป็นการหนีเสือปะจระเข้ บางคนรำคาญการมีประจำเดือนจึงไปจ้างให้หมอช่วยตัดมดลูกออกจะได้สบายไร้กังวลไปชั่วนิรันดร์ แต่อาจจะจบลงด้วยการปวดท้องจากลำไส้ติดกันแทน

ที่ว่ามานี่คือการผ่าตัดที่ควรหลีกเลี่ยง แต่การผ่าตัดบางอย่างควรจะรีบทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดพังผืด เช่น คนปวดท้องจากโรคไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบผ่าตัด บางคนจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ขอผัดผ่อนการผ่าตัดรอจนไส้ติ่งแตก ทำให้มีพังผืดเกิดขึ้นมากหลังผ่าตัด ทำให้เกิดโรคปวดท้องเรื้อรังรักษาไม่หาย หรือเป็นโรคลำไส้อุดตันต้องผ่าตัดเลาะพังผืด ต้องเสี่ยงกับการปวดท้องไปตลอดชีวิตโดยไม่ควรจะเป็น

พังผืดในช่องท้องไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนไข้กลัวเท่านั้น แม้แต่หมอก็ไม่ชอบ หมอผ่าตัดช่องท้องทุกคนกลัวพังผืดในช่องท้อง เนื่องจากการผ่าตัดลงไปเลาะมันออกถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วไม่ควรไปทำ เพราะยิ่งผ่ายิ่งเกิดพังผืดมากขึ้น เช่น ถ้าคนไข้ปวดท้องจากลำไส้ติดกันเพราะพังผืด ถ้ามีอาการน้อย ๆ ก็ใช้วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด  ถ้าอาการทุเลาลงได้หมอก็จะไม่ผ่าตัด เพราะการผ่าตัดบางกรณีผ่ายาก การผ่าตัดลงไปเลาะพังผืดอาจทำให้เกิดบาดแผล หรือทะลุอวัยวะที่มันยึดติดอยู่ เช่น ลำไส้ เมื่อลำไส้ทะลุจะมีของเหลวในลำไส้ซึ่งมีเชื้อโรคแบคทีเรียอยู่มากมายออกมาแปดเปื้อนช่องท้อง ทำให้เกิดการอักเสบทั่วไปหรือเป็นฝีในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้พังผืดเกิดมากยิ่งขึ้น รักษายากยิ่งขึ้น ในบางกรณีการทะลุของลำไส้เกิดปรากฏขึ้นมาภายหลังผ่าตัดเสร็จแล้วเป็นฝีในท้อง หรือเกิดเป็นรูเปิดออกมาทางแผลผ่าตัด มีปัญหาในการรักษามากขึ้น การติดเชื้อในช่องท้องจากการรั่วของลำไส้ถ้ารักษาไม่ได้ ไม่ทันก็อาจจะมีผลเสียต่อชีวิตร่างกายและจิตใจได้มาก ศัลยแพทย์จึงไม่ชอบพังผืดในช่องท้อง

เมื่อลำไส้อุดตันจากพังผืด การรักษาเบื้องแรกคือวิธีไม่ผ่าตัด แต่เมื่อรักษาอย่างนั้นไม่หายแล้วศัลยแพทย์ก็จำเป็นต้องผ่าตัดลงไปเลาะพังผืดออก ทั้งที่รู้ว่าการผ่าตัดเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของการเกิดพังผืด แต่ก็จำเป็นต้องผ่าลงไปบรรเทาการอุดตันของลำไส้ และพยายามเรียงลำไส้ให้เป็นระเบียบ โดยหวังว่ามันจะเกิดพังผืดติดกันใหม่ในลักษณะที่ไม่อุดตันลำไส้

Resource: HealthToday Magazine, No.190 February 2017