PM2.5 และ ผลกระทบต่อสมอง

ร.ท.นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์ระบบประสาท

0
1208

ชุมชนเมืองโดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีการใช้รถยนต์รวมทั้งพาหนะอื่น ๆ เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่จะมีใครคิดถึงผลที่ตามมาจากมลพิษทางอากาศจะกลับมาทำลายร่างกายมนุษย์เองในหลายระบบ ไม่เพียงเฉพาะระบบทางเดินหายใจ แต่ยังรวมถึงอวัยวะที่สาคัญ คือ “สมอง” อีกด้วย

ในยุคปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักฝุ่นขนาดจิ๋วที่เรียกว่า PM2.5 (ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 μM) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมประมาณ 20-30 เท่า ฝุ่น PM2.5 นี้ไม่ใช่เป็นมลพิษทางอากาศชนิดเดียวที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังมีก๊าซพิษอีกหลายอย่าง อาทิเช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), โอโซน (O3), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) รวมทั้งยังพบว่ามีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ในอากาศที่เราหายใจอีกด้วย

ประชากรทั่วโลกมากกว่า 90% ได้รับมลพิษทางอากาศ (Air pollution) เกินค่ามาตรฐาน ซี่งปัญหาของมลพิษทางอากาศนี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังพบตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกระจายเป็นวงกว้าง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO พบว่า ในทุกปีจะมีประชากรถึง 7 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากการได้รับมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิด โรคมะเร็งปอด, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคหัวใจ, และโรคสมอง (World Health Organization)

มลพิษที่เราหายใจเข้าไปไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะที่ระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ฝุ่น PM2.5 ยังสามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด รวมทั้งผ่านเข้าทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก (Olfactory nerve) และผ่านเข้าไปยังสมองโดยตรง เมื่อฝุ่นจิ๋วผ่านเข้าไปยังสมองแล้ว จะไปกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในสมอง โดยตรวจพบสารการอักเสบหลายชนิด อาทิเช่น interleukin 6 (IL-6), tumor necrosis factor α (TNF-α) มีผลทำให้เซลล์สมองได้รับการบาดเจ็บ เกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ เนื้อสมองส่วนเนื้อขาว (white matter) มีการฝ่อเหี่ยวมากกว่าคนปกติอีกด้วย

สารการอักเสบเหล่านี้ไปกระตุ้นให้เส้นเลือดในสมองให้เกิดการอักเสบ ทำให้การทำงานของเยื่อบุเส้นเลือดทำงานผิดปกติ (endothelial dysfunction) เกิดเส้นเลือดแข็งได้ง่ายกว่าปกติ (atherosclerosis) นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งยังพบว่ามีการก่อตัวของก้อนโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง (β-amyloid, α- synuclein, tau protein) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์กินสันอีกด้วย

การศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับ PM2.5 ในประเทศแถบยุโรปจำนวน 13 ประเทศ ประชากรจำนวนมากกว่า 3 แสนคน ติดตามเป็นระยะเวลาเฉลี่ยนานถึง 14 ปี (ESCAPE project) ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มคนที่ได้รับ PM2.5 มากกว่า 15 μg/m³ จะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 5 μg/m³

 

ในเด็กมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของระดับ PM2.5 ต่อความผิดปกติทางการพัฒนาด้านสติปัญญา อาทิเช่น มีสติปัญญาด้อยลง (global intelligence quotient; IQ), การพัฒนาการช้าลง (ทั้ง cognitive และ psychomotor development), มีปัญหาการได้ยินและการพูด รวมทั้งยังมีผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น(Attention deficit) และ ภาวะออทิซึม (Autism) เพิ่มมากขึ้นถึง 68%

ในผู้ใหญ่พบว่า การได้รับฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า และทำให้เกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มได้ถึง 34% รวมทั้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยทุก ๆ 10 μg/m3 ของระดับ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมองประมาณ 13% ถ้าได้รับฝุ่นจิ๋วในระดับความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มคนที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองอยู่แล้ว การได้รับ PM2.5 ยังเป็นการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในคนกลุ่มนี้อีกด้วย

ในกลุ่มคนที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งสมองจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ ฝุ่น PM2.5 รวมทั้งมลภาวะในอากาศชนิดอื่น ๆ สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ โดยพบว่าในช่วงเวลาที่มีฝุ่นขนาดจิ๋วอยู่ในระดับสูง เช่น ฤดูหนาว จะพบคนที่เป็นไมเกรนเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติประมาณ 4 -13%

คนที่ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีฝุ่น PM2.5 ปริมาณสูง จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพสมอง และเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีข้อมูลว่าการรับประทานผักและผลไม้ (มากกว่า 3.5 serving ต่อวัน) จะช่วยลดผลกระทบของฝุ่นจิ๋วต่อร่างกายได้ เนื่องจากผลของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีในผักและผลไม้ รวมทั้งมีข้อมูลของ Vitamin E และ Omega 3 ที่สามารถช่วยลดการอักเสบและ oxidative stress ในเส้นเลือดของมนุษย์ที่ได้รับ PM2.5

ข้อมูลจากหลักฐานทางการแพทย์ดังกล่าวข้างต้นจะพบว่า ฝุ่น PM2.5 และมลภาวะในอากาศชนิดอื่น ๆ มีผลกระทบต่อร่างกายในหลายระบบ รวมทั้งระบบสมอง การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นขนาดจิ๋วในสถานที่ที่มี PM2.5 อยู่ในระดับสูง การใช้เครื่องป้องกันอย่างเหมาะสม การรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงความตระหนักในการช่วยลดมลภาวะในอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของตัวเราเองและคนที่เรารัก

 

Resource: HealthToday Magazine, No.216 April 2019