ยุง ตัวอันตรายที่ต้องระวัง!

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1983

การเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากจะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินโดยการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องระวังก็คือ “การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด” เพราะถึงแม้ “ยุง” จะตัวเล็ก แต่พิษสงร้ายแรงไม่ใช่เล่น นอกจากจะสร้างความรำคาญแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดมาสู่คนอีกด้วย

โรคไข้เลือดออก

พบในเขตร้อนชื้น โดยมี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค ในประเทศไทยมักพบการระบาดในช่วงฤดูฝนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมักพบการระบาดในผู้ป่วยที่มีบ้านเรือนหรือชุมชนใกล้เคียงกัน

เมื่อถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด บางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ แต่ถ้ามีอาการมักมาด้วย ไข้สูงลอย หนาวสั่น ปวดศีรษะ หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจมีผื่นขึ้นได้หลายรูปแบบ ผื่นที่บ่งบอกว่าใกล้หายแล้วจะมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีขาวบนผื่นผิวหนังสีแดง และมีอาการคัน

สาเหตุที่เรียกว่า “ไข้เลือดออก” เนื่องจากในช่วงที่ไข้ลง เกล็ดเลือดจะค่อย ๆ ต่ำลงอย่างมากจนอาจจะพบเลือดออกในผู้ป่วยบางรายได้ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะเป็นเลือด หากร้ายแรงกว่านั้นอาจพบเลือดออกในปอด ช่องท้อง หรือในสมองได้ รวมไปถึงสารน้ำจะรั่วออกจากหลอดเลือดทำให้ความเข้มข้นเลือดสูงขึ้น ความดันโลหิตต่ำลง อวัยวะภายในขาดเลือดไปเลี้ยง จนอาจทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว นำไปสู่การเสียชีวิตได้

ในช่วงวันแรก ๆ ของไข้ การวินิจฉัยแยกโรคอาจทำได้ยาก ต้องมีการเจาะเลือดติดตามเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นของเม็ดเลือด และเกล็ดเลือดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการเจาะหาค่า Dengue NS1Ag ซึ่งจะพบในผู้ป่วยไข้เลือดเลือดออกในช่วง 1-4 วันแรก หลังจากนั้นค่าจะลดลงจนตรวจไม่พบ

อย่างไรก็ตามเรายังสามารถตรวจจากค่าแอนติบอดี (Antibody) ได้ เนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่การตรวจด้วยวิธีนี้อาจพบการติดเชื้อตัวอื่นที่อยู่ในตระกูลเดียวกับไข้เลือดออกได้ เช่น เชื้อไวรัสซิกา จึงอาจทำให้วินิจฉัยผิดไปว่าเป็นไข้เลือดออกทั้งที่ความจริงเป็นการติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ถึงแม้จะวินิจฉัยผิดพลาดไปก็ไม่ได้มีผลทางการรักษามากนัก เพราะอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกัน และไม่มียาฆ่าเชื้อที่จำเพาะต่อโรค ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ถ้ากินอาหารไม่ได้ ก็ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้ายังพอดื่มน้ำได้ก็ควรจะดื่มด้วยตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะร่างกายจะดูดซึมน้ำในปริมาณที่เหมาะสมมากกว่าการให้ทางหลอดเลือดดำ

โรคซิกา

โรคนี้มีอยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว พบรายงานผู้ป่วยในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่มักจะไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยเนื่องจากแยกอาการจากโรคอื่นได้ค่อนข้างยาก ตัวเชื้อมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน

อาการที่พบจะใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น ไข้ มีผื่นตามตัว ตาแดงแต่ไม่มีขี้ตา ปวดศีรษะ ปวดข้อ อ่อนเพลีย อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และถ่ายเหลวได้ สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ การติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด และทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ถ้าเป็นผู้หญิงต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ส่วนผู้ชายต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 6 เดือน เพราะเชื้อไวรัสซิกาจะอยู่ในน้ำอสุจิได้ค่อนข้างนาน

โรคมาลาเรีย

ในเมืองไทยยังคงพบการติดเชื้ออยู่เรื่อย ๆ แต่ลดลงจากอดีตมาก บริเวณที่ยังพบมากคือบริเวณชายแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา จังหวัดในไทยที่มีการรายงานว่าพบมาลาเรียมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยะลา ตาก และศรีสะเกษตามลำดับ

เมืองไทยแม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแต่ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกันมาลาเรีย แต่ถ้าเดินทางไปยังประเทศแถบแอฟริกาหลาย ๆ ประเทศ จะต้องกินยาป้องกันมาลาเรียด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะกินยาป้องกันแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นมาลาเรียได้อยู่ดี ดังนั้นหากมีไข้สูงหนาวสั่นหลังกลับจากการท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่เสี่ยงจึงควรคิดถึงโรคมาลาเรียไว้ก่อนเป็นอันดับแรก และอย่าลืมเล่าประวัติการเดินทางให้กับแพทย์ที่ตรวจรักษาด้วยนะคะ

โรคไข้เหลือง

พบในประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้เท่านั้น ไม่พบในประเทศไทย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อประเทศได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากเป็นโรคที่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหากไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนไข้เหลืองก่อนเดินทางเข้าประเทศนั้น ๆ อย่างน้อย 10 วัน ใครก็ตามที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้เหลืองอาจไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศนั้น ๆ หรือเดินทางกลับเข้าประเทศไทยไม่ได้ (อาจโดนกักตัวอยู่ที่สนามบิน เพราะอาจติดเชื้อไข้เหลือง และเป็นพาหะนำโรคเข้ามาในประเทศไทย)

หลังจากฉีดวัคซีนจะได้รับ “สมุดเล่มเหลือง” เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ในระยะเวลา 10 ปีหลังจากฉีดวัคซีนถ้าต้องการเดินทางเข้าไปในประเทศที่มีความเสี่ยงอีก เพียงแสดงหลักฐานจากสมุดเล่มนี้ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนซ้ำ แต่ถ้าเกิน 10 ปีไปแล้วต้องฉีดใหม่อีกครั้ง ถ้าทำสมุดเล่มนี้หายจะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพราะวัคซีนชนิดนี้ถือเป็นข้อกฎหมายระหว่างประเทศ และตัววัคซีนเองเป็นวัคซีนที่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเนื่องจากเป็นวัคซีนมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง (live attenuated vaccine) ดังนั้นในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำจึงไม่ควรฉีดวัคซีนไข้เหลือง เพราะอาจทำให้เกิดโรคจากตัววัคซีนได้

โรคชิคุนกุนยา

หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” มียุงลายเป็นพาหะ มีระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ 1-12 วัน ที่พบบ่อยคือประมาณ 2-3 วัน โรคนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าเพราะไม่พบการรั่วของสารน้ำออกนอกหลอดเลือด จึงไม่เกิดภาวะช็อค และระยะของไข้จะสั้นกว่า โดยมักจะมีไข้สูงในวันที่ 2-4 และไข้มักจะลงภายใน 4 วัน

อาการที่เด่นคือ ปวดข้อ อาจมีข้ออักเสบได้ อาการปวดข้อจะปวดมากจนบางครั้งอาจถึงกับขยับข้อไม่ได้ ข้อที่ปวดจะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ แม้ว่าตัวโรคจะหายแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดข้อได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี อาการอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะต่อโรคนี้ เช่น ผื่นตามตัว ตาแดง ปวดศีรษะ เป็นต้น

การป้องกันสำคัญที่สุด

จะเห็นได้ว่าโรคทั้งหลายที่กล่าวมาต่างมียุงเป็นพาหะทั้งสิ้น ในประเทศไทยยุงที่พบว่าเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญในชุมชน คือ “ยุงลาย” การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เริ่มจาก “การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง” เช่น คว่ำขันหรือภาชนะต่าง ๆ ที่มีน้ำขัง ปิดฝาแหล่งเก็บน้ำให้สนิท หากภาชนะไม่สามารถปิดฝาได้ให้ปล่อยปลาเพื่อลงไปกินลูกน้ำ หรือใส่ทรายอะเบท และควรมีการพ่นเคมีกำจัดยุงในระยะตัวเต็มวัยร่วมด้วยในช่วงที่มีการระบาดของโรค

นอกจากนี้ควร “ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด” โดยการสวมเสื้อและกางเกงแขนขายาว ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อนจะดีกว่าสีเข้ม เพราะสีเข้มจะดึงดูดยุงมากกว่า รวมไปถึงการใช้ยาทากันยุงซึ่งไม่ใช่ว่าจะซื้อแบบไหนก็ได้ แต่ควรเลือกที่มีส่วนผสมของ DEET (Diethyltoluamide) อยู่ในระดับ 20-50% ยากันยุงที่โฆษณาขายกันโดยทั่วไปอาจจะมีเปอร์เซ็นต์ของ DEET ไม่เพียงพอ ดังนั้นอย่าลืมพลิกดูฉลากด้านหลังก่อนซื้อยากันยุงทุกครั้งนะคะ

 

 Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017