ความเหงา

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
5789
ความเหงา

“แต่งงานจะได้ไม่เหงา นี่รถไฟขบวนสุดท้ายแล้ว”

“มีลูก แก่ไปจะได้มีคนดูแล”

เราได้ยินสองประโยคนี้เสมอ แล้วคิดว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทั้งที่เห็นอยู่เสมอว่าแต่งงานไปหากไม่ได้ดั่งใจ
จะเหงาหนักกว่าเก่า และหากลูกไม่ได้ดั่งใจ ท้ายที่สุดก็อยู่คนเดียวอยู่ดี

ความจริงคือเป็นเรื่องแทบจะเลี่ยงไม่ได้เลยที่คนเราจะจบลงด้วยการอยู่คนเดียว ต่อให้ได้คู่ครองที่ดี คนหนึ่งต้องตายก่อนอีกคนหนึ่งแน่ ๆ แม้ว่าจะมีบ้างที่ตายพร้อมกัน หรือคนหนึ่งตายตามอีกคนหนึ่งในเวลาไม่ถึงเดือน แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อย มนุษย์เราจะจบลงที่การอยู่คนเดียวเสียมาก ส่วนที่ว่าจะเหงาหรืออ้างว้างหรือไม่เป็นอีกกรณีหนึ่ง

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความเป็นสัตว์สังคมนี้มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มนุษย์ถ้ำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเสมอ ออกล่าสัตว์ด้วยกัน ช่วยกันป้องกันภัย และร่วมมือกันป้องกันลูกหลาน พฤติกรรมเหล่านี้ฝังลงในยีนและถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความเหงาจึงเป็นความไม่ปกติทางชีววิทยา เพราะมนุษย์ไม่ควรจะเหงา และมนุษย์มีแนวโน้มที่จะบำบัดความเหงาให้จงได้ ไม่ว่าจะจ่ายเท่าไร หรือเสียหายเท่าไรก็ตาม

มีคำศัพท์หลายคำที่ใช้เรียกการอยู่คนเดียว เช่น introvert หรือ social isolation มากกว่านี้คือผู้ป่วยจิตเวช
บางกลุ่มที่มักมีพฤติกรรมอยู่คนเดียว เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) หรือ ความผิดปกติหลังภยันตราย (Post-traumatic Stress Disorder, PTSD) พฤติกรรมอยู่คนเดียวที่รุนแรงบางชนิดก็มากับสังคมและวัฒนธรรมด้วย เช่น ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) หนักที่สุดคือโรคจิตเภท (Schizophrenia) จะเห็นว่าพฤติกรรมอยู่คนเดียวเป็นได้ตั้งแต่เป็นนิสัยไปจนถึงเป็นโรค คำถามคือคนเหล่านี้เหงาเพียงใด และพอใจในความเหงาที่เป็นอยู่มากน้อยเพียงใด

มีการทดลองที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องความเหงาโดยใช้หลักการ optogenetics นั่นคือการฉายแสงกระตุ้นเซลล์สมองส่วน dorsal raphe nucleus (DRN) ด้วยการฉีดโปรตีนที่ไวต่อแสงเข้าไปฉาบไว้ก่อน พบว่าทำให้มีการหลั่งสารโดปามีนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้หนูทดลองมีพฤติกรรมเดินเข้าหาหนูตัวอื่น ในทางตรงข้ามเมื่อหยุดฉายแสงไปที่เซลล์สมองส่วนนี้ หนูก็จะหยุดพฤติกรรมเชิงสังคมแล้วถอยกลับมาอยู่ตัวเดียวเช่นเดิม

การทดลองขั้นต่อไป ทำด้วยการเอาหนูตัวอื่น ๆ ออกจากเขตทดลอง แล้วฉายแสงไปที่เซลล์สมองส่วน DRN ของหนูตัวเดิม หนูจะพยายามเดินหาหนูตัวอื่นอีก ครั้นไม่สามารถหาพบมันจะเริ่มเรียนรู้ว่า “ความเหงา” คืออะไร

ความเหงาคือความเจ็บปวดที่เกิดจากความปรารถนาที่จะมีเพื่อนแต่ไม่สามารถหาได้ หนูตัวนั้นจะเริ่มเก็บตัวและ
ไม่เสี่ยงที่จะถูกฉายแสงอีก ไม่ออกจากเขตอีกเลย การอยู่ตัวเดียวนั้นเจ็บปวดน้อยกว่าการอยากมีเพื่อนแต่ไม่สามารถมี คนที่พอใจกับความเหงาอาจจะเป็นเพราะเขาไม่อยากจะเสี่ยงที่จะผิดหวังอีก

สารสื่อนำประสาทอีกตัวหนึ่งที่รับผิดชอบความเหงาคือซีโรโทนินที่บริเวณ DRN อีกเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าหากเราสามารถสกัดกั้นการทำงานของสารตัวนี้ได้ หนูจะออกตามหาเพื่อนและกินมากขึ้น นี่คือหลักการของยาต้านอารมณ์เศร้ายุคใหม่ที่ทำงานกับสารตัวนี้โดยเฉพาะ

 

“ความเหงาไม่ฆ่าใคร”

“ไม่มีใครเหงาตาย”

เป็นอีกสองประโยคที่ได้ยินเสมอ หากพิจารณาด้วยมุมมองทางชีววิทยาก็น่าจะจริง เพราะกลไกธรรมชาติจะกระตุ้นเซลล์สมองส่วน DRN ให้ทำงานทุกครั้งที่คนเราแยกตัวมากจนเกินไปจนกระทั่งอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต เว้นเสียแต่ว่าเซลล์สมองส่วนนี้เสียหายจริง ๆ

คู่สมรสที่ทะเลาะกันมิได้เจ็บปวดเพราะความไม่เข้าใจกันเท่านั้น แต่เจ็บปวดเพราะตนเองไม่สามารถมีเพื่อนได้ทั้งที่อยากจะมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนคนนี้คือคนที่สังคมคาดหวังว่าเขาหรือเธอจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดและเคยให้
คำสัญญาในพิธีแต่งงานว่าจะไม่ทิ้งกันในยามยาก แต่นี่กับทิ้งกันด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เสมอ ๆ

มีคำกล่าวว่ามนุษย์คืออะไรที่เรียนรู้ได้แต่จะทำผิดซ้ำอีก คำกล่าวนี้จริงเพราะเราทำผิดด้วยเหตุผลทางชีววิทยามากกว่าอย่างอื่น

 

Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018