ก้าวคนละหลาย ๆ ก้าว

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
1182
เดืนหมื่นก้าว

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีการรณรงค์ชื่อ “เดิน 10,000 ก้าวเพื่อสุขภาพ” ผลปรากฏว่าได้รับความนิยมและ
คำชื่นชมจากคนญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จและกลายเป็นต้นแบบให้กับการจัดกิจกรรมแนวนี้ในอีกหลาย ๆ ประเทศ
ทั่วโลก การเดิน 10,000 ก้าวนั้นเทียบเท่ากับระยะทางไม่ต่ำกว่า 6 กิโลเมตรต่อวันเลยทีเดียวครับ

สำหรับในประเทศไทย เมื่อย้อนเวลากลับไปในช่วงปลายปีที่แล้ว คือตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 คุณตูน บอดี้สแลม นักร้องชื่อดังได้ริเริ่มโครงการใหญ่คือ “โครงการก้าวคนละก้าว” เพื่อรวบรวมเงินบริจาคมอบให้กับการพัฒนาโรงพยาบาลหลายโรงพยาบาลในประเทศไทยด้วยการออกวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จนถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ใช้เวลาทั้งสิ้น 55 วัน คิดเป็นระยะทางกว่า 2,200 กิโลเมตร

ส่วนตัวหมอเองชื่นชมโครงการนี้ของคุณตูนมาก ไม่เฉพาะแต่เรื่องของการรวบรวมเงินบริจาคให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเท่านั้น แต่โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่กระตุ้นให้คนไทยเรากลับมาเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพกันมากขึ้นอีกด้วยครับ

อันที่จริงแล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์เรานั้นอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการออกวิ่งและออกเดินนี่ล่ะครับ นักชีววิทยาผู้มีชื่อเสียงสองคนคือ แบรมเบิล (D.M.Bramble) กับลีเบอร์แมน (D.E.Lieberman) เคยเสนอบทความที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับเรื่องการออกเดินและวิ่งของบรรพบุรุษของเราลงในวารสาร Nature ว่า บรรพบุรุษของเรานั้นสืบทอดลูกหลานมาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีความอดทนในการเดินและวิ่งไล่ตามเหยื่ออย่างไม่ลดละจนสัตว์ชนิดนั้น ๆ ทนไม่ไหวก็ต้องล้มลงและตกเป็นอาหารในที่สุด จึงเรียกได้ว่าการออกเดินและวิ่งอย่างทนทานเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดอยู่ในยีนของพวกเราแทบทุกคน

หมอขอพาย้อนกลับมาในยุคปัจจุบันครับ มีการศึกษาหลาย ๆ เรื่องที่แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าการอยู่นิ่งนาน
เกินไปอาจก่อให้เกิดโรคร้ายโดยที่เราอาจไม่ทันรู้ตัว เช่นการศึกษาเรื่องหนึ่งที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Circulation โดยได้ทำการสำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่จำนวน 8,800 คนเป็นระยะเวลา 7 ปี ได้ข้อสรุปว่า “คนที่นั่งดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 4 ชั่วโมง เทียบกับคนที่นั่งดูโทรทัศน์น้อยกว่าวันละ 2 ชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46” เลยทีเดียวครับ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าการนั่งมากกว่าครึ่งวันในแต่ละวันนั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจมากขึ้นสองเท่าตัวเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าการนั่ง ๆ นอน ๆ เป็นเวลานาน ๆ นั้นไม่เหมาะสมต่อสุขภาพของเราเลยนะครับ สาเหตุก็เนื่องมาจากการอยู่นิ่งนาน ๆ ทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายช้าลง ร่างกายจะเริ่มสะสมไขมันส่วนเกินจนเกิดโรคอ้วนตามมา จนกระทั่งนำไปสู่การเกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องกันกับภาวะน้ำหนักเกิน เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคไขข้ออักเสบ เป็นต้นครับ

นอกจากนี้ยังพบว่าแม้ในคนที่ไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนก็ตามที การนั่งนิ่ง ๆ หลังรับประทานอาหารจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ ในขณะที่การเดินหลังรับประทานอาหารเสร็จ
จะช่วยลดระดับน้ำตาลที่พุ่งสูงขึ้นนี้ลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวครับ

เทคโนโลยีล้ำสมัยในปัจจุบันได้นำพาเราเข้าสู่ยุคสังคมนั่งก้มหน้ากันแล้ว แม้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์และสร้างความสะดวกสบายอย่างมหาศาล แต่หากไม่คำนึงถึงผลกระทบบางอย่างก็อาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อเราได้เช่นกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องสุขภาพอย่างที่หมอได้เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ การออกเดินให้มาก ก้าววันละหลาย ๆ ก้าว นั่งนิ่ง ๆ ให้น้อยลง รับประทานอาหารให้พอดี ใช้ชีวิตแบบกระฉับกระเฉง ทำจิตใจให้ผ่องใส หมั่นสร้างทัศนคติที่เป็นบวกในชีวิต จึงนับเป็นยาอายุวัฒนะที่ดีที่สุดในทุกยุคสมัยนะครับ

หากผู้อ่านมีข้อสงสัย คำแนะนำ หรือต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ 
สามารถติดต่อหมอได้ที่อีเมล chkiasecret@gmail.com ครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018