พลังเปลี่ยนสังคม

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
1222
พลังงานเปลี่ยนสังคม

ข่าวการชุมนุมโดยผู้ชุมนุมที่น่าจะอายุน้อยที่สุดที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา อาจได้รับความสนใจไม่มากสำหรับครอบครัวไทย แต่มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มวัยรุ่นทั้งหมด เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง พวกเขาใช้สโลแกนการชุมนุมว่า March for Our Lives เพื่อต่อต้านกฎหมายซื้อและครอบครองอาวุธปืนที่นำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมในโรงเรียนหลายครั้ง และมีนักเรียนรวมทั้งครูเสียชีวิตจากเหตุการณ์

หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงครั้งล่าสุดในโรงเรียนที่รัฐฟรอลิดา กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นนักเรียนนักศึกษาที่นัดหมายกันออกมาชุมนุมผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยมีการร่วมติดแฮชแท็ก Never again หรือ Enough จะเห็นได้ว่าเป็นการใส่ใจในปัญหาที่ไปไกลกว่าการมองระดับเหตุการณ์ ไปสู่การพยายามแก้ไขปัญหาเชิงระบบ แทนที่จะจับจ้องเพียงปัญหาของผู้กระทำความผิดที่กราดยิง ซึ่งเป็นปัญหาของบุคคล มาสู่การมองว่าการเข้าถึงการซื้ออาวุธได้โดยง่ายทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นในสังคม และปัญหาการครอบครองอาวุธปืนโดยง่ายในเยาวชนเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีประเด็นทางการเมือง

ผู้วิเคราะห์เหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้ให้ความสนใจ 2 ประเด็น

  • ประเด็นแรก ความสนใจทางการเมืองของเด็กและเยาวชน ซึ่งการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียเข้าถึงและได้รับการตอบรับอย่างมากจากกลุ่มเด็กและเยาวชน
  • ประเด็นที่สอง แกนนำที่ชักชวนให้เกิดการรวมพลังผ่านการชุมนุมมีดาวเด่นหลายคน เด็กบางคนเป็นเด็กผู้หญิงที่หากมองเพียงรูปลักษณ์การแต่งตัวภายนอก อาจคิดว่าเป็นเด็กแว้น เด็กบางคนเป็นเด็กที่อายุยังไม่มากนัก บางคนเป็นเด็กที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ แต่มุมมองที่เด็กแต่ละคนปราศรัยในการชุมนุมสามารถสะกดคนฟังที่มีจำนวนหลายแสนคนให้หยุดฟัง และอาจรวมทั้งคนที่รับฟังผ่านการถ่ายทอดทั้งประเทศ

พลังครั้งนี้ของเยาวชนจะทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเรื่องอาวุธปืนหรือไม่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่การเติบโตของเด็กและเยาวชนในช่วงที่มีปรากฏการณ์พลังเปลี่ยนสังคม เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

ผู้ใหญ่ควรอยู่ตรงไหนในพลังของเยาวชนที่อยากเปลี่ยนสังคม

ในประเทศไทยมีหลายปรากฏการณ์ที่เทียบเคียงได้กับการชุมนุมนี้ ผู้ใหญ่ควรยืนอยู่ข้างหลังการแสดงพลังของเด็กและเยาวชน พ่อแม่หลายคนในอเมริกาสนับสนุนลูกให้เข้าร่วมในการแสดงออกกับกลุ่มเพื่อน ครอบครัวที่อยู่ในเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลักของการชุมนุมชวนลูกเข้าไปติดตามในโซเชียลมีเดีย และสนับสนุนให้ลูกมีส่วนร่วมผ่านทางแฮชแท็ก แม้ไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้แต่ก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในครอบครัวว่าอะไรคือการแสดงออกที่ควรจะเป็น มุมมองของผู้ใหญ่หรือครอบครัวมีส่วนที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนได้สนใจเรื่องในสังคมของตนเอง และเชื่อมั่นในการแสดงออกที่แสดงพลัง

มุมมองที่ผู้ใหญ่ควรระมัดระวังเป็นมุมมองแบบตัดสินความคิดของเด็ก การกล่าวโทษ การดูเพียงรูปลักษณ์ของเด็กแกนนำแล้วตัดสินว่าเป็นเด็กไม่น่ารัก เมื่อเด็กบอกหรือเล่าเรื่องที่เขาประสบมาและรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ควรเปิดใจรับฟัง ช่วยกันหาข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าสิ่งที่เด็กรู้สึกมีความเป็นจริงที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นควรยืนอยู่ข้างหลังหรือข้าง ๆ ให้เด็กได้แสดงออกสิ่งที่เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

เราในฐานะผู้ใหญ่ พ่อแม่กำลังเผชิญความรุนแรงในสังคมไปพร้อมกับเด็กและเยาวชน การใช้ความรุนแรงโดยใช้อาวุธเป็นหนึ่งในปัญหาความรุนแรงในอีกหลายรูปแบบ นอกจากทักษะชีวิตเพื่อการดูแลป้องกันตัวเอง ให้สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้โดยไม่เป็นผู้ก่อความรุนแรงกับผู้อื่น หรือเป็นเหยื่อของความรุนแรง  การมีส่วนร่วมในการแสดงพลังเปลี่ยนสังคม เป็นสังคมที่ลดความรุนแรงลง เป็นอีกบทบาทที่ผู้ใหญ่สามารถสนับสนุนพลังเยาวชนได้ เริ่มจาก…

  • การเปิดรับฟัง พูดคุยถึงปัญหาที่เด็กมองเห็น รู้สึกในมุมมองแบบเด็ก อาจมาจากการรับรู้ข่าวสารจากเหตุการณ์ร่วมกัน มาจากประสบการณ์ที่เด็กประสบจากเหตุการณ์รอบตัว การรับฟังของผู้ใหญ่ช่วยให้เด็กมั่นใจว่าความคิดของเขาไม่ใช่เรื่องไร้สาระในสายตาผู้ใหญ่
  • สร้างการมีส่วนร่วมในแบบที่เด็กและครอบครัวสามารถทำได้ บางครอบครัวเคยพาเด็กเข้าร่วมการชุมนุมแบบสันติ หรือแม้แต่การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบที่รวมพลังกันทำเพื่อให้เกิดความสำเร็จในสิ่งที่สังคมเห็นร่วมกัน มุมมองทางสังคมเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ เด็กยิ่งสร้างการมีส่วนร่วมได้ การมีส่วนร่วมเป็นการหล่อหลอมความคิดด้านสังคมให้กับเด็ก
  • ช่วยให้เด็กเห็นวิธีการที่หลากหลายในการมีส่วนร่วม แม้แต่การร่วมส่งต่อข้อมูล การเสียสละแรงกาย แรงสติปัญญา ออกแบบการสื่อสาร การขับเคลื่อนก็เป็นส่วนของพลังที่ร่วมกับพลังอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นดาวเด่น หรือผู้นำเท่านั้นที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญการช่วยกันยืนหยัดสร้างสังคมที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ช่วยกันปลูกฝังความคิดทั้งการหยุดความรุนแรงที่ระดับบุคคลด้วยการเตรียมทักษะชีวิตให้ลูก ไม่เป็นต้นแบบความรุนแรงในครอบครัว และร่วมกันยืนหยัดสังคมที่ต้องปลอดความรุนแรง

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018