พลังของการเล่น

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1549
พลังของการเล่น

ข้อเขียนต่อไปนี้แปลและเก็บความจากบทความวิชาการทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก Yogman M, Garner A, Hutchinson J, et al. The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children. Pediatrics, 2018.

การเล่นของเด็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการของ executive function (EF) และความสำเร็จของชีวิตในอนาคต ทบทวน executive function (EF) คือความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (นิยามเป็นภาษาไทยโดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร จากที่ประชุมจัดการความรู้ของรักลูกกรุ๊ป)

การเร่งเรียนหรือใช้เวลาต่อวันในการเรียนหนังสืออย่างจริงจังมากเกินไปในช่วงปฐมวัยคือ 3- 6 ขวบ มีข้อเสียที่สำคัญคือ เสียเวลาเล่น  ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง และเมื่อประเมินแล้วพบว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มค่า ความเก่งด้านคณิตศาสตร์ที่ชั้นอนุบาลมิได้บ่งชี้ความเก่งที่ชั้นประถมแต่อย่างใด (อ้างอิงถึง Watts TW, Duncan GJ, Clements DH, Sarama J. What is the long-run impact of learning mathematics during preschool? Child Dev. 2018;89(2): 539–555)

การเล่นคืออะไร

การเล่นคือ กิจกรรมที่เกิดจากภายใน (intrinsic) เกิดขึ้นเอง (spontaneous) มีส่วนร่วม (engage) และมีความสนุก (joyful)

สองคำแรกมีความหมายว่าเราบังคับให้เด็กเล่นก็ไม่ได้ถ้าเจ้าตัวไม่อยากจะเล่น เพราะการเล่นที่แท้ต้องเกิดขึ้นจากภายในจิตใจของตัวเขาเองและผุดบังเกิดขึ้นได้เอง นอกจากนี้ตัวเด็กมีส่วนร่วมกับการเล่น เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น มิใช่ถูกบังคับให้ดูคนอื่นเล่น และสุดท้ายคืออะไรที่สังคมวันนี้หลงลืมไปมากแล้วคือ ความสนุก

จะว่าไปการละเล่นก็เหมือนขำขัน ไม่มีกติกาที่ชัดเจนว่าเท่าไรจึงเรียกว่าเล่น พอ ๆ กับเนื้อเรื่องแบบใดที่จะขำแน่ ๆ  แม้จะมีกติกาสากลอยู่บ้าง  แต่ท้ายที่สุดแล้วเด็กคนนั้นเองที่เป็นผู้ตอบว่าเขาสนุกหรือเปล่า เราบังคับให้เด็กจงสนุกนั้นมิได้

แต่ว่าการเล่นก็เป็นพื้นฐานของการเชื่อฟังกฎและการทำกติกาด้วย กล่าวคือเด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ว่าหากจะได้มีส่วนร่วมในความสนุกที่กำลังจะบังเกิดขึ้น จำเป็นที่ตัวเขาเองต้องยินยอมพร้อมใจทำตามกฎและเชื่อฟังกติกาของการเล่นนั้น คือของหมู่คณะ การเล่นจึงเป็นเครื่องมือฝึกทักษะเข้าสู่สังคมที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ  ผิดกับความเข้าใจของคน
ส่วนใหญ่ที่คิดว่าการเข้าห้องเรียน นั่งเป็นแถว เงียบสนิทห้ามพูด แล้วครูสั่งให้ทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน คือวิธีที่ดีกว่า

การเล่นช่วยสร้าง EF และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรงเรียน เพราะการเล่นทุกชนิดมีเรื่องการแก้ปัญหาผสมอยู่ด้วยเสมอ แต่เพราะเป็นปัญหาที่มากับความสนุก เด็ก ๆ จึงมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังแก้ปัญหาหรือช่วยกันแก้ปัญหา ก่อนที่ทั้งหมดทุกคนนั้นจะต้องเคลื่อนตัวเข้าสู่ระบบโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาที่ยากยิ่งกว่าด้วยความไม่สนุกยิ่งกว่า

แต่ว่าโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 นั้นควรสนุก โรงเรียนสมัยใหม่ควรฝึกเด็ก ๆ ให้เรียนรู้ด้วยทักษะการแก้ปัญหา (problem solving)  ทักษะร่วมมือกันทำงาน (collaboration) และใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) จะเห็นว่าโรงเรียนสมัยใหม่คือความต่อเนื่องจากการเล่น เพราะที่แท้แล้วการเรียนรู้คือความสนุก การเรียนต่างหากที่เป็น
ยาขม

การเล่นมิได้มีเพียงแค่สนุก ที่จริงแล้วความสนุกมักเกิดจากความเสี่ยง เกิดจากการทดลอง และเกิดจากการทดสอบขอบเขต ว่าตัวเราสามารถไปได้ไกลกว่าขอบเขตมากเพียงใด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การปีนที่สูง การปีนที่สูงให้ความสนุกเพราะมีความเสี่ยง ได้ทดลอง ได้ทดสอบ และท้ายที่สุดแล้วเราจะปีนได้สูงกว่าเมื่อวานนี้ได้อย่างไร

การเล่นมิได้สำคัญแค่ลูกคน เราเห็นลูกแมว ลูกหมา ลูกหมี เล่นกันเป็นประจำ ที่แท้การเล่นพบในลูกสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพียงแต่มีความสำคัญเป็นพิเศษในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การเล่นของลูกสัตว์เป็น
เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนากล้ามเนื้อทุกมัด  ทดสอบพลัง ทดสอบพลังของสัตว์ตัวอื่น และช่วยให้ลูกสัตว์เรียนรู้ขอบเขตว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ พูดง่าย ๆ ว่า อะไรคือเหยื่อและอะไรคือผู้ล่า อะไรที่เล่นกับพี่น้องได้ แต่ถ้าไปเล่นกับแม่ได้ถูกตบหัวคว่ำ

Lev Vygotsky (1896-1934) นักจิตวิทยาชาวโซเวียตผู้มีชื่อเสียง เป็นหนึ่งในผู้อธิบายเรื่องการเล่นได้ดี เขาเขียนว่า การเล่นเป็นเหมือนห้างร้านแห่งพัฒนาการ (scaffolding of development) เด็กได้พัฒนาทักษะนานาชนิดจากง่ายไปหายาก ทั้งเรื่องกล้ามเนื้อและสังคม

อธิบายเพิ่มเติมว่าเด็กพัฒนาได้ด้วยตัวคนเดียวก็จริง แต่เมื่อถึงขีดหนึ่งจะถึงอุปสรรค และเมื่อถึงตอนนั้นเขาต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น ความช่วยเหลือนี้จะมากับการเล่นได้อย่างกลมกลืนมากที่สุด ไวก๊อตสกี้เรียกช่วงเวลาที่เด็กคนหนึ่งเดินทางมาถึงจุดที่ต้องได้ความช่วยเหลือว่า Zone of Proximal Development (ZPD) แต่ความช่วยเหลือนั้นมิได้มาในรูปแบบของการเรียนหนังสือหรือคำสั่ง แต่เนียนกว่ามากด้วยการเล่น  (อ้างถึง Vygotsky LS. Play and its role in the mental development of the child. In: Bruner J, Jolly A, Sylva K, eds. Play. New York, NY: Basic Books; 1976: 609–618)

Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018