มะละกอ ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
10549

มะละกอเป็นผลไม้พื้นเมืองที่ปลูกในประเทศแถบทะเลคาริเบียนไล่ไปจนถึงเม็กซิโก ปานามา และโคลัมเบีย มีผู้สันนิษฐานว่ามะละกอถูกนำเข้ามาปลูกในบ้านเราสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยฝรั่งสักสัญชาติหนึ่ง ซึ่งคนไทยได้ให้การต้อนรับมะละกออย่างดีจนกลายเป็นผลไม้ยอดนิยมปลูกได้ทุกถิ่นของไทย

คนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่ายากดีมีจนมักมีโอกาสกินผลไม้นี้ทั้งดิบและสุก โดยมะละกอดิบมักถูกนำไปทำเป็นส้มตำและแกงส้ม ตลอดจนนำไปดองเค็มแล้วทำให้แห้งเป็นของกินเล่นซึ่งเป็นอันตรายต่อไตของผู้นิยมบริโภคประจำ ส่วนมะละกอสุกนั้นเป็นผลไม้ประจำงานเลี้ยงต่าง ๆ และมักเป็นสมาชิกสำคัญของผลไม้กระป๋องที่ติดฉลากว่า ผลไม้รวม (ซึ่งมักไม่พ้นมะละกอกึ่งสุก สับปะรดออกเปรี้ยว และองุ่นไทยผสมกันในน้ำเชื่อม)

มะละกอเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหารโดยเฉพาะเพคติน (ซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ตามกระบวนการที่ผู้เขียนเคยอธิบายไว้ในบทความก่อนหน้านี้) ในตำรายาไทยมักกล่าวว่า มะละกอสุกมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ซึ่งผู้เขียนได้พิสูจน์ความจริงนี้แล้วในสมัยเรียนระดับปริญญาตรี เนื่องจากผู้เขียนมักเป็นหวัดบ่อยจึงไปขอยาจากหน่วยอนามัยของมหาวิทยาลัยและได้ยาปฏิชีวนะ (หลายคนเรียกว่ายาแก้อักเสบ…ซึ่งผิด) มากิน โดยทุกครั้งที่กินมักเกิดอาการท้องผูก (เนื่องจากยาไปทำลายสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่) จึงแจ้งแก่แพทย์ผู้จ่ายยา ก็ได้รับคำแนะนำให้กินมะละกอสุก ซึ่งต่อมาเมื่อเรียนสูงขึ้นจึงทราบว่า เนื้อมะละกอนั้นมีใยอาหารซึ่งเป็นอาหาร (พรีไบโอติก) ของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัส (โปรไบโอติก) ซึ่งเมื่อแบคทีเรียกลุ่มนี้เจริญมากขึ้นก็จะเข้าควบคุมสถานการณ์ทำให้ระบบขับถ่ายเข้าสู่ความเป็นปกติ

งานวิจัยหลายชิ้นกล่าวว่า มะละกอสุกนั้นเป็นอาหารที่ลดความเสี่ยงของมะเร็งหลายอวัยวะในร่างกาย เพราะเป็นผลไม้ที่อุดมทั้งพฤกษเคมีต่าง ๆ เช่น สารฟลาโวนอยด์ วิตามินต่าง ๆ ซึ่งมีเบต้าแคโรตีนเป็นตัวชูโรงสำคัญ ตามด้วยโฟเลต ไทอามีน (วิตามินบี 1) ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2) ไนอาซิน (วิตามินบี 3) กรดแพนโทเทนิก (วิตามินบี 5) วิตามินซี ฯลฯ สำหรับแร่ธาตุที่สำคัญคือ โปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น ดังนั้นผู้นิยมกินมะละกอสุกจะมีเหงือกสวย (ปลอดภัยจากโรคลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟันด้วยอิทธิพลของวิตามินซี) และผิวสวย

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยได้ทุนทำวิจัยเกี่ยวกับอาหารไทยต้านพิษของสารก่อกลายพันธุ์ (ซึ่งสามารถแปลผลถึงการต้านมะเร็ง) จากสภาวิจัยแห่งชาติ อาหารจานที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเนื่องจากผลการศึกษาพบว่า สามารถต้านสารพิษได้ดีในลำดับต้น ๆ คือ ส้มตำ (สูตรที่ใช้ศึกษาไม่ใส่ปูเค็ม เพราะปูมักมีเชื้อพยาธิ) ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะเมื่อพิจารณาจากใยอาหารจากมะละกอ พร้อมทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้ปรุงส้มตำแล้ว ผู้เขียนสามารถระบุได้เลยว่า ส้มตำเป็นองครักษ์พิทักษ์มะเร็ง ดังนั้นผู้เขียนจึงมักแนะนำผู้ที่นิยมกินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน เนื้อสัตว์ต้มตุ๋นนาน และเนื้อหมักต่าง ๆ ให้กินอาหารนั้น ๆ คู่ไปกับส้มตำ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสาว ๆ ที่กินส้มตำสัปดาห์ละเจ็ดวัน วันละสามมื้อ

ผู้ที่กินมะละกอสุกเป็นของหวานหลังมื้ออาหารมักมีภูมิต้านทานดี ไม่ค่อยป่วยไข้เนื่องจากโรคติดเชื้อ เพราะร่างกายเราเปลี่ยนเบตาแคโรทีนที่ได้จากมะละกอสุกเป็นวิตามินเอ ประกอบกับเนื้อมะละกอมีวิตามินซีสูง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกันกับโปรตีนและธาตุสังกะสีจากเนื้อสัตว์ในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งวิตามินเอที่แปลงมาจากเบตาแคโรตีนนั้นสามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งทำให้ผู้กินมะละกอสุกประจำมีดวงตาที่สดใส

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับมะละกออีกประการคือ ยางซึ่งได้จากผลดิบและลำต้นนั้น ได้ถูกนำไปใช้หมักเนื้อสัตว์ที่เหนียวมากให้เหนียวน้อยลงจนในบางครั้งผู้สูงอายุสามารถกัดได้นุ่มปาก เนื่องจากในยางมะละกอนั้นมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งชื่อว่า ปาเปน (Papain) ช่วยย่อยโปรตีนบางส่วนในเนื้อสัตว์ก่อนถูกนำไปปรุงให้สุก ดังนั้นผู้ที่กินมะละกอดิบในลักษณะส้มตำจึงได้ยางนี้ไปช่วยในการย่อยเนื้อสัตว์ในทางเดินอาหาร อย่างไรก็ดีการได้รับยางมะละกอที่อยู่ในมะละกอดิบเข้าปากนั้นเป็นดาบสองคม เพราะเนื้อยางนั้นน่าจะมีความเป็นพิษแฝงอยู่ โดยพิษนั้นเกิดขึ้นเฉพาะกับสาวที่กำลังตั้งท้อง

มีบทความในอินเตอร์เน็ตกล่าวว่า สูตินรีแพทย์ของบังกลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกามักห้ามผู้ที่ไปฝากท้องกินมะละกอดิบ (ซึ่งมียางมะละกอ) เพื่อเลี่ยงการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้ง เนื่องจากในยางมะละกอมีสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้มดลูกของหญิงที่ตั้งท้องบีบตัวก่อนเวลาอันควร อีกทั้งสารเคมีธรรมชาติชนิดหนึ่งชื่อ เบนซิลไอโซไตโอไซยาเนท (benzylisothiocyanate) ได้ถูกสันนิษฐานว่า สามารถยับยั้งการเจริญทารกในท้องจนทำให้เด็กผิดปกติ เพราะมีการศึกษาในหลอดทดลองว่า สารนี้สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์ที่เลี้ยงในหลอดทดลองได้

ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มสนใจในการประยุกต์ใช้ยางมะละกอเพื่อคุมกำเนิด ทั้งนี้เพราะเอนไซม์ปาเปนนั้นนอกจากย่อยโปรตีนได้แล้ว ยังสามารถไปวุ่นวายกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่จำเป็นในการเตรียมมดลูกเพื่อรับการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูกหลังการปฏิสนธิ ถ้าสมมุติฐานนี้เป็นจริง พฤติกรรมการกินส้มตำของหญิงไทยนั้นอาจช่วยให้สตรีที่มีคู่แต่ยังไม่พร้อมมีลูกสามารถเลี่ยงผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาคุมกำเนิดได้

แม้ข้อมูลเรื่องผลของยางมะละกอต่อการตั้งครรภ์นั้นยังไม่ชัดเจนนัก แต่สตรีท่านใดที่ต้องการมีลูกอย่างจริงจังอาจต้องพึ่งประสบการณ์จากสามประเทศที่มีการห้ามกินมะละกอดิบระหว่างการตั้งครรภ์เป็นอุทาหรณ์คือ พักการกินส้มตำไว้ก่อนจนกว่าจะคลอดลูกสำเร็จ

 

Resource : HealthToday Magazine, No.187 November 2016