เด็กสมาธิสั้น ทำไมต้องรักษา

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร

0
1697

โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นหนึ่งในโรคจิตเวชเด็กที่พบบ่อย ลักษณะอาการมีตั้งแต่ซุกซน อยู่ไม่สุข ยุกยิก วอกแวกง่าย บางรายอาจมีลักษณะเหม่อลอย ไม่ซน อยู่นิ่ง ซึ่งพบได้น้อยกว่า และบางรายอาจมีอาการทั้ง 2 ลักษณะร่วมกัน หลายท่านอาจมองว่าความซุกชนเป็นธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว โรคสมาธิสั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล…จริงหรือ?

โดยทั่วไปโรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคร้ายแรง และสามารถรักษาให้หายได้ เด็กสมาธิสั้นก็เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป เพียงแต่พวกเขาไม่สามารถควบคุมตนเองได้อย่างเหมาะสมเท่านั้น อย่างไรก็ตามการที่เด็กสมาธิสั้นไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานหรือวอกแวกง่าย ทำให้เด็กขาดสมาธิ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ เรียนไม่ทันเพื่อน และดูเหมือนไม่รู้กาลเทศะ เช่น ในสถานการณ์ที่ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย เด็กทั่วไปจะสามารถปฏิบัติได้ ต่างจากเด็กสมาธิสั้นที่อยู่ในระเบียบได้ไม่นาน แม้จะถูกว่ากล่าวตักเตือนก็เชื่อฟังได้เพียงครู่เดียว แล้วก็กลับมาซุกซนใหม่ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่คนรอบข้าง อย่างนี้เป็นต้น

ผลกระทบจากสมาธิสั้น

ปัญหาที่พบในเด็กกลุ่มนี้คือ พ่อแม่ผู้ปกครองมักไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ เรียนรู้ได้ช้า เมื่อเด็กไม่สามารถทำงานตามที่มอบหมายได้ก็มักจะถูกดุด่าว่ากล่าวหรือถูกลงโทษ ทำให้เด็กรู้สึกกดดัน น้อยเนื้อต่ำใจ ดูถูกตนเอง และอาจเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นใจ ขาดพลังในการดำเนินชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเด็กอาจจะมีศักยภาพหลายอย่างซ่อนอยู่ แต่ไม่สามารถดึงออกมาใช้ได้เนื่องจากถูกความความรู้สึกด้อยค่ากดทับไว้ จึงเสียโอกาสในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กโดยตรงแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็อาจต้องเผชิญกับภาวะความเครียดเพราะลูกทำไม่ได้อย่างที่หวังไว้ เกิดเป็นปัญหาครอบครัวตามมา นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญในการดูแลรักษาเด็กสมาธิสั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั่นเอง

แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นโรคสมาธิสั้น

การจะวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่นั้นจะต้องผ่านการซักประวัติอย่างละเอียดทั้งจากตัวเด็กเองและพ่อแม่ผู้ปกครอง ร่วมกับการประเมินอาการตามเกณฑ์การวินิจฉัยของแพทย์ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เด็กมีอาการคล้ายคลึงกับโรคสมาธิสั้น ยกตัวอย่างเช่น การได้รับยาบางชนิด (เช่น ยากันชัก ยารักษาโรคหอบหืด) ที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เด็กอยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย ผลกระทบจากการเลี้ยงดู เช่น การให้เด็กเสพสื่อหรือเล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไป เนื่องจากสื่อต่าง ๆ เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กหลุดจากสมาธิได้ง่ายขึ้น หรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนยากเกินศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กในวัยนั้น ๆ ไม่ได้เป็นเพราะเด็กเรียนรู้ได้ช้า เป็นต้น

แนวทางการรักษาเด็กสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นแบ่งได้เป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ การปรับพฤติกรรมของเด็ก และ การรักษาด้วยยา ซึ่งการจะใช้แนวทางการรักษาแบบใดนั้น แพทย์จะประเมินจากผลกระทบของโรคที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กและครอบครัว

การปรับพฤติกรรมของเด็ก ทำได้โดย

  • เข้าใจ ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และบุคคลใกล้ชิดพึงมี โดยควรเข้าใจว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลจากโรคสมาธิสั้น ไม่ได้มาจากตัวเด็กเอง และปรับวิธีการเลี้ยงดูให้เหมาะสม เช่น ใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์ดุด่าว่ากล่าวเด็ก ชื่นชมและให้กำลังใจในสิ่งที่เด็กสามารถทำได้เพื่อให้เด็กเกิดความภูมิใจในตัวเอง
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เด็กสมาธิสั้นจะวอกแวกได้ง่าย จึงควรให้เด็กได้อยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีสิ่งรบกวน ควบคุมการเสพสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จัดตารางกิจกรรมให้เป็นเวลา ที่โรงเรียนไม่ควรให้เด็กนั่งริมหน้าต่าง ควรจัดให้นั่งใกล้กับคุณครูเพื่อช่วยดึงความสนใจให้เด็กกลับมามีสมาธิกับงานที่ทำอยู่ เป็นต้น
  • สร้างเงื่อนไข เช่น การให้รางวัลจูงใจหากเด็กทำภารกิจสำเร็จลุล่วงตามเงื่อนไข พบว่าเด็กสมาธิสั้นจะตอบสนองต่อการกระตุ้นด้วยของรางวัลมากกว่าเด็กปกติ โดยเด็กจะเกิดแรงผลักดัน และจดจ่อกับการทำภารกิจนั้น ๆ มากขึ้นกว่าเดิม

การใช้ยา จะช่วยให้เด็กควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดชีวิต โดยแพทย์จะติดตามและประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากผลการรักษามีแนวโน้มดีขึ้นก็สามารถปรับลดขนาดยาหรือหยุดยาได้

ความเข้าใจและการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลเด็กสมาธิสั้น เพราะการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กถือเป็นการมอบโอกาสให้เด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ส่งผลดีทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม จึงไม่ควรปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป หากสงสัยว่าลูกหลานจะเป็นโรคสมาธิสั้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตามลำดับ

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017