งมงาย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
2546

“งมงาย” คำสั้นๆ ที่สร้างการถกเถียงในสังคมมายาวนาน แต่ในสังคมที่มีการถกเถียงก็ดูเหมือนจะมีข้อคิดเกิดขึ้นบ้าง ดีกว่าการยอมรับและยอมตามอย่างไม่มีข้อสงสัย ในสังคมไทยมีกรอบความเชื่อที่อยู่ในสังคมเกี่ยวกับอำนาจเร้นลับ ความศักดิ์สิทธิ์ เครื่องราง ของขลัง ที่อาจบันดาลให้ทั้งโชคลาภ ความก้าวหน้า ยศศักดิ์ หรือแม้แต่ความต้องการอย่างอยากมีคู่ อยากมีลูก อยากได้ของหายคืน และไม่ว่าอยากอะไรก็สามารถร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อได้ ในอดีตทุกสังคมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดถือ ให้ความคุ้มครอง มีการทำพิธีกรรมที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาสู่การดำเนินชีวิต ในปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ยังคงเห็นร่องรอยของความเชื่อทั้งในรูปแบบดั้งเดิม  และการสร้างรูปแบบใหม่ๆ ให้เทียบเคียงกับการดำเนินชีวิตปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น

ในทางจิตวิทยามนุษย์มีสิ่งที่สามารถควบคุมได้และไม่ได้ ความเชื่อว่าควบคุมได้หรือควบคุมไม่ได้ไม่เท่ากันในแต่ละคน ส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิต ความคิดว่าควบคุมได้มี 2 แบบ แบบหนึ่งเชื่อว่า ความสำเร็จสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ตนเองสามารถควบคุมได้ อีกแบบเชื่อว่า สิ่งที่อยู่นอกตัวสามารถบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นกับชีวิต ตัวอย่างเช่น คนที่ได้รับตำแหน่งและเชื่อในตนเอง จะมองจากความสำเร็จของการทำงานที่ได้ทุ่มเท หากเชื่อจากปัจจัยภายนอกมากกว่า จะมองว่าเป็นโชค จังหวะ หรือแม้แต่ผลจากสิ่งอื่น ความเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมาจากการควบคุมตนเอง เป็นผลมาจากการถูกฝึกมาให้เชื่อในตนเอง เป็นการฝึกให้รับผิดชอบต่อผลแห่งการกระทำของตนเองแทนการรอคอยสิ่งที่อยู่ภายนอก  ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

แต่พื้นฐานคนเรามักกังวลใจในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น และอยากจะมั่นใจว่าสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจะมีแต่เรื่องที่ดี ไม่อยากเจอกับสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต หรือบางช่วงเวลาชีวิตพบกับปัญหา หรืออุปสรรค รู้สึกท้อถอย อยากให้เรื่องไม่ดีผ่านไป และมีเรื่องที่ดีเข้ามาแทน ความกังวลใจเหล่านี้ทำให้เริ่มมองหาสิ่งที่อยู่นอกการควบคุมได้ของตนเองเข้ามาเหมือนเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้มีกำลังใจ ลดความกังวลลง บางครั้งไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ แต่ก็รู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่อุ่นใจ แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนไปเป็นเรื่องดีเข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะคนที่เชื่อในอำนาจนอกตนเองอยู่แล้ว จะยิ่งเสริมความเชื่อมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการได้รางวัล ในทางตรงข้ามเวลากังวลใจก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะไม่เคารพในสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตตนเอง ซึ่งเป็นตามหลักการถูกลงโทษ ความคิดความเชื่อแบบนี้จึงฝังลึกในพฤติกรรมที่ไม่สามารถหักล้างได้ง่ายทั้งในตัวบุคคลและในสังคม

สำหรับเด็ก การได้รับการปลูกฝังให้เชื่อมั่นในผลแห่งการกระทำของตนเอง น่าจะช่วยให้เขาดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความรับผิดชอบในผลของการกระทำของตนเอง เชื่อในความสามารถของตนเอง แม้เมื่อมีปัญหาที่ต้องเผชิญก็จะเลือกที่จะยอมรับและใช้ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่ ที่สำคัญมักเป็นคนมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตนเองต้องการให้ประสบความสำเร็จ ในขณะที่การปล่อยให้เด็กรับรู้และตามความเชื่อที่มีอยู่ว่ามีผลต่อชีวิตตนเองมากจนขาดความเป็นอิสระ เด็กจะมีโอกาสที่เจอปัญหาแล้วรู้สึกว่าตนเองโชคร้าย  รู้สึกหมดหวังได้ง่าย รอให้สิ่งอื่นมากำหนดการเปลี่ยนแปลงตนเอง

ที่สำคัญพ่อแม่ ครอบครัวต้องช่วยให้เด็กเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่บางขณะมีกระแสความสนใจในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะยุคที่ทำการตลาดกับความเชื่อและความกังวลใจของคน เรื่องบางเรื่องเป็นกระแสที่ถูกปั่นขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วหายไปตามเวลา และมีสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นมาเป็นวัฏจักรของการเล่นกับความเชื่อของคนในสังคม วิธีที่ช่วยให้เด็กเข้าใจได้มาจากพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี ใช้แนวทางปฏิบัตตามหลักศาสนาที่เคารพ ถ้าเป็นเด็กโตพูดคุยให้เด็กเข้าใจว่าสังคมอาจมีกลุ่มคนที่ยังเชื่อในสิ่งเหล่านี้  ไม่จำเป็นต้องต่อต้านขัดแย้ง ถ้าหากมีเรื่องไม่สบายใจ อยากได้สิ่งยึดเหนี่ยว นอกจากตนเอง ครอบครัว การทำตามวิธีปฏิบัติเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมได้ เช่น ในศาสนาพุทธใช้การสวดมนต์ การทำบุญ เป็นต้น

เวลาที่เด็กเกิดปัญหา ไม่กล่าวหาว่าเป็นมาจากสิ่งนอกตัวทำให้เกิดขึ้น เช่น หกล้มเพราะผีผลัก ไม่ปลูกฝังว่าชีวิตเป็นเรื่องโชคชะตา สิ่งต่างๆ ในชีวิตไม่สามารถกำหนดได้  ในทางตรงข้ามการทำงานหนัก มีเป้าหมาย ตั้งใจทำ ย่อมได้รับผลจากการกระทำ เด็กที่ได้รับการปลูกฝังให้มีความเชื่อในตนเอง มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่า อย่างไรก็ตามการเป็นคนเชื่อในตนเอง ต้องมีความสามารถที่ผ่อนคลายตนเองได้ ไม่ใช่กดดันตนเองตลอดเวลา เมื่อมีผลบางอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้น เอาแต่โทษตนเองจนไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ พ่อแม่เป็นคนที่ช่วยให้เด็กมีพลังในการเชื่อว่าตนเองสามารถทำสิ่งที่เป็นเป้าหมายได้ ฝึกให้มีความรับผิดชอบตามวัย และให้เวลาสำหรับการเล่น การทำกิจกรรมตามความสนใจ สามารถอยู่ตามลำพัง ดูแลตนเองได้

การมีความเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ใช่การมองแบบสุดขั้วว่าดีกับไม่ดี แต่เป็นการเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เลือกที่จะมีความเชื่อมั่นทั้งในความสามารถของตนเองและแนวปฏิบัติที่ดีงามในสังคมที่สนับสนุนให้มีความสบายใจ และสร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิต      

ภาพประกอบโดย วาดสุข

 

Resource: HealthToday Magazine, No.180 April 2016