โรคอยากป่วย (Factitious disorders)

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์

0
24978

ผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 30 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการใจสั่น มือเย็น เหงื่อออก เหมือนจะหมดสติ จากการตรวจเลือดพบน้ำตาลในเลือดต่ำมาก แพทย์จึงให้เธอนอนโรงพยาบาล ระหว่างการอยู่โรงพยาบาลเธอมีอาการไข้สูงมาก ประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส และมีอาการน้ำตาลต่ำอีกหลายๆ ครั้ง แต่หลังจากนอนโรงพยาบาลมาหลายวัน แพทย์ตรวจยังไงก็หาไม่เจอว่าน้ำตาลต่ำเพราะอะไร และไข้มาจากไหน เจาะเลือด เพาะเชื้อก็แล้ว ก็ยังบอกไม่ได้อยู่ดีว่าเกิดจากอะไร แม้จะเชิญแพทย์เฉพาะทางจากหลายแผนกมาร่วมดู ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายทีมผู้รักษาเริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะอาการบางอย่างมันชอบกลๆ เพราะบางทีพยาบาลไปวัดไข้ก็เจอไข้สูงมาก 40 กว่าองศา บางทีก็วัดได้แค่ 36.5 (ซึ่งคืออุณหภูมิปกติ) ทั้งๆ ที่ห่างกันแค่ไม่กี่ชั่วโมง บวกกับเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดที่กลายร่างเป็นนักสืบชั่วคราวมาบอกว่า เห็นผู้ป่วยชอบเดินเข้าห้องน้ำก่อนที่จะถึงช่วงวัดไข้? ทำให้วันต่อมาจึงส่งเธอเข้าไปแอบสังเกต พบว่าผู้ป่วยเข้าไปอมน้ำร้อนจากเครื่องทำน้ำอุ่น ก่อนจะเดินกลับมาให้วัดไข้ เพื่อให้วัดปรอทแล้วจะได้เหมือนมีไข้ ในขณะที่บางครั้งที่ถูกวัดไข้กะทันหัน ไม่ทันได้เข้าห้องน้ำก่อน อุณหภูมิก็จะปกติ เหลือแต่อาการน้ำตาลต่ำว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งหลังจากย้ายผู้ป่วยเข้าไปในห้องแยก ซึ่งเป็นห้องที่มีกล้องวงจรปิด ก็พบว่า วันหนึ่งเธอล้วงไปหยิบของในกระเป๋าถือ ซึ่งเป็นเข็มฉีดยาเล็กๆ จากนั้นก็ฉีดให้กับตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ฉีดก็คืออินซูลินที่ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานนั่นเอง ซึ่งถ้าคนปกติเอามาฉีดจะทำให้มีอาการน้ำตาลต่ำ

ในทางการแพทย์พบว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่อยากป่วยและอยากนอนโรงพยาบาลดังเช่นกรณีตัวอย่างข้างต้น นั่นคือความผิดปกติที่เรียกว่า factitious disorders หรือ โรคติดโรงพยาบาล (hospital addiction) หรือบางกรณีก็เรียกว่า มึนโชเซ่น ซินโดรม (Munchausen syndrome)

คำว่า Munchausen syndrome มาจากชื่อของ The Baron Karl Friedrich Hieronymus Freiherr von Munchausen ซึ่งขอเรียกสั้นๆ ว่า มึนโชเซ่น ล่ะกันนะครับ มึนโชเซ่นเป็นชาวเยอรมัน เกิดในปีค.ศ. 1720 ทำงานเป็นทหารม้าในกองทัพรัสเซีย ต่อสู้ทำสงครามกับชาวเติร์ก ภายหลังเกษียณ มึนโชเซ่นนั้นมีนิสัยชอบเล่า (หรือว่ากันตรงๆ ก็คือโม้นั่นแหละครับ) เกี่ยวกับการต่อสู้และการผจญภัยของตัวเขาในสงคราม ซึ่งมักเป็นเรื่องแต่งเวอร์ๆ เกินจริงไว้ก่อน ทำให้เป็นที่มาของชื่อ Munchausen syndrome คือ การพูดโกหกเพื่อให้คนอื่นยอมรับ

อาการของโรคอยากป่วย คือ คนป่วยเหล่านี้จะทำยังไงก็ได้เพื่อจะได้อยู่ในฐานะผู้ป่วยและได้นอนโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการให้ประวัติผิดๆ กับแพทย์ เช่น บอกหมอว่ามีอาการไอเป็นเลือด หรือเป็นไข้มาหลายวันทั้งที่ไม่เป็นความจริง โดยที่ผู้ป่วยมักจะรู้จักโรคและอาการป่วยอยู่บ้าง ทำให้รู้ว่าอาการแบบไหนที่บอกแพทย์แล้วจะได้นอนโรงพยาบาล บางรายนอกจากให้ประวัติที่ไม่จริงแล้ว อาจทำให้ตัวเองเกิดอาการป่วยจริงๆ ก็ได้ เช่น ฉีดอินซูลินให้ตัวเองเพื่อให้น้ำตาลต่ำ หรือตั้งใจกินยาบางอย่างเพื่อให้มีอาการเจ็บป่วย เป็นต้น

เป้าหมายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่ได้ทำเพื่อหวังเงินหรือผลประโยชน์อื่น เช่น ได้หยุดงาน หนีทหาร แต่เป้าหมายของผู้ป่วยคือ “การได้นอนโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วย” เท่านั้นจริงๆ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักพบประวัติไปตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ หลายโรงพยาบาล ถ้าโรงพยาบาลไหนเริ่มสงสัย หรือรู้สึกผิดสังเกต ผู้ป่วยก็มักจะย้ายไปโรงพยาบาลแห่งใหม่

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปี ถ้าเป็นผู้หญิงพบว่ามักเคยเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์มาก่อน เช่น เคยเป็นพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล หรือเคยอบรมเกี่ยวกับการแพทย์ ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไร เพราะหากไม่เคยเรียนมาก่อน คงไม่รู้ว่าอาการของโรคน่าจะเป็นยังไง หรือไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรให้เหมือนคนป่วยจริงๆ

นอกจากนี้ยังมีอาการอยากป่วยอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “การทำให้ป่วยผ่านตัวแทน” (factitious disorder by proxy) หรือพูดง่ายๆ คือการที่แม่ (หรือพ่อ) ทำให้ลูกป่วยเพื่อให้ลูกได้นอนโรงพยาบาล ซึ่งในบางกรณีการทำให้ลูกป่วยนั้นอาจหนักมือจนถึงขั้นทำให้ลูกตายได้ก็มี ในต่างประเทศมักมีข่าวแม่ที่ทำให้ลูกตัวเองป่วยจนตายเป็นระยะๆ ในบางรายทำให้ลูกป่วยจนเสียชีวิตไปหลายคนก็มี แต่อาการนี้พบได้น้อย ประมาณ 0.03% ของผู้ป่วยเด็กที่ถูกทารุณกรรมเท่านั้น สำหรับพฤติกรรมน่าสงสัยว่าเป็นการจงใจทำให้เด็กป่วย เช่น

  • เด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ แบบหาสาเหตุไม่ได้แม้ว่าจะตรวจหรือนอนโรงพยาบาลมาหลายครั้งแล้วก็ตาม
  • เวลาเริ่มป่วยมักเกิดตอนอยู่กับแม่ และเมื่อแม่ไม่อยู่อาการมักดีขึ้น
  • แม่จะดูไม่กังวล หรือกังวลน้อยกว่าปกติกับการที่ลูกป่วย หรือถูกตรวจอะไรที่ต้องเจ็บตัว เช่น เจาะเลือด

เหตุที่อยากป่วย

พบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมาจากครอบครัวที่มีปัญหา หรือมีการทำทารุณกรรมต่อผู้ป่วยในตอนเด็ก โดยพ่อแม่มักมีลักษณะ ปฏิเสธผู้ป่วย มีท่าทีไม่ยอมรับ ไม่มีความสนิทสนมหรืออบอุ่นในครอบครัว ผลจากสิ่งเหล่านี้ทำให้การได้อยู่โรงพยาบาลคือการได้หนีออกจากครอบครัวที่มีปัญหา มาอยู่ในที่ๆ มีคนดูแล ให้ความสนใจ และเห็นใจ หรืออย่างกรณีแม่ที่ทำให้ลูกป่วย เวลาอยู่ในโรงพยาบาลก็จะมีคนมาเป็นห่วง เห็นใจนั่นเอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีพฤติกรรมการต้องการเป็นผู้ป่วยที่ชัดเจนในช่วงวัยผู้ใหญ่ และอาการมักเป็นเรื้อรัง ในบางรายผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากความพยายามทำให้ตัวเองเจ็บป่วย หรือในกรณีที่เป็น factitious disorder by proxy ก็อาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้

รักษาได้ไหม

ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับภาวะนี้ และการรักษามักทำได้ยาก เพราะผู้ป่วยจำนวนมากมักไม่ยอมรับการรักษาทางจิตเวช และหากผู้ป่วยรู้ว่าแพทย์และพยาบาลรู้ความจริง ก็มักจะหนีไป หรือไม่รับการรักษาต่อ และเปลี่ยนไปโรงพยาบาลแห่งใหม่ เป้าหมายการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ

  • ลดการบาดเจ็บหรือความเสี่ยงในการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด โดยไม่ทำการตรวจรักษาที่ไม่จำเป็น เพราะการตรวจบางอย่าง เช่น ส่องกล้อง ตัดชิ้นเนื้อ อาจเสี่ยงให้เกิดอันตรายโดยไม่จำเป็นได้
  • รักษาโรคร่วมทางจิตเวช ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่น ผู้ป่วย factitious หลายคนจะมีความต้องการเป็นผู้ป่วยมากขึ้นเวลาที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยหรือในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีปัญหาบุคลิกภาพ พบว่าการทำจิตบำบัดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
  • ในกรณีของ factitious by proxy ต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมด้วย เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ให้เกิดอันตรายอีกในอนาคต

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการรักษาอันหนึ่งก็คือท่าทีของแพทย์และทีมผู้รักษาเอง เพราะหากแพทย์โกรธ และแสดงอารมณ์ไม่พอใจใส่ผู้ป่วยอย่างชัดเจน จะไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากผู้ป่วยจะหนีไปโรงพยาบาลใหม่ ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นการยอมรับและเข้าใจว่าสิ่งนี้ก็เป็นความเจ็บป่วยรูปแบบหนึ่ง และจำเป็นต้องได้รับการรักษา จะทำให้โอกาสที่ผู้ป่วยจะร่วมมือในการรักษามีมากขึ้น

 

Resource: HealthToday Magazine, No.180 April 2016