กล้วย ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
2385

กล้วยเป็นผลไม้ที่มีราคาค่อนข้างถูก (ถ้าฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล) กินก็ง่าย ช่วยให้ถ่ายได้สะดวก อีกทั้งไม่     จำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะกล้วยในประเทศไทยอร่อยที่สุด โดยกล้วยที่มีประจำในตลาดสดคือ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม และกล้วยไข่

ชาวต่างชาติส่วนใหญ่มักรู้จักแต่กล้วยหอมซึ่งผลิตจากหลายประเทศที่อยู่บริเวณเขตเส้นศูนย์สูตร โดยกล้วยหอมจากชาติอื่นนั้นมักมีเปลือกหนาซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ความไม่อร่อยของกล้วยหอมสำหรับผู้เขียน ครั้งหนึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาของผู้เขียนซึ่งเป็นคนเชื้อชาติอินเดียและเคยมาเมืองไทยหลายครั้ง ได้เล่าถึงความประทับใจในกล้วยหอมทองของไทยว่า อร่อยที่สุดในโลก เสียอย่างเดียวเปลือกบางไปหน่อยเลยส่งออกขายต่างประเทศได้ยาก นั่นคือเหตุการณ์ในอดีตเพราะปัจจุบันเทคโนโลยีของบรรจุภัณฑ์ได้พัฒนาไปมากจนทำให้คนต่างชาติ เช่น    ชาวจีนและชาวญี่ปุ่น มีโอกาสได้กินกล้วยหอมทองของไทย

เมื่อซื้อกล้วยหอมมาหนึ่งหวี ถ้าเป็นครอบครัวเล็กอยู่แค่ 3-4 คน มักกินไม่ทัน กลายเป็นกล้วยสุกงอม แม้พยายามเก็บในตู้เย็นตามที่มีผู้แนะนำในอินเตอร์เน็ตว่า กล้วยหอมที่กินไม่ทันให้หาฟิล์มพลาสติกห่ออาหารหรือถุงพลาสติกมาหุ้มตรงส่วนขั้วด้านบนเพื่อไม่ให้โดนอากาศ แล้วเก็บในตู้เย็นเพื่อยืดอายุ ปรากฏว่าเมื่อผู้เขียนลองทำกลับไม่ได้ผล จึงขอแนะนำว่า ให้ซื้อกล้วยหอมแบ่งขายเป็นผลเพื่อให้กินได้ทัน ไม่ต้องทิ้งให้เสียของ

กรณีต้องถนอมกล้วยหอมหรือกล้วยไข่ที่กินไม่ทัน ผู้เขียนใช้วิธีทำเป็นกล้วยเชื่อมซึ่งใช้น้ำตาลทรายเยอะมาก ๆ จนสุดท้ายได้เลิกทำไปแล้ว เพราะกล้วยหอมเชื่อมและกล้วยไข่เชื่อมนั้นอร่อยมากเกินห้ามใจ จนอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ไม่ยาก จึงจัดว่าเป็นขนมที่อาจกระตุ้นให้เป็นเบาหวานประเภทที่ 2

สำหรับการถนอมกล้วยน้ำว้าไว้กินนั้นง่ายกว่า เพราะเมื่อกล้วยในหวีใกล้สุกพร้อมกัน เราสามารถปอกเปลือกแล้วใช้ไมโครเวพอบที่ความร้อนสูงสัก 3-5 นาที จะได้กล้วยอบไมโครเวพ ซึ่งมีรสชาติเดียวกับกล้วยต้ม เก็บใส่    ตู้เย็นไว้กินได้หลายวัน

กล้วยน้ำว้าอบไมโครเวพนั้นเมื่อนำไปเติมกะทิจะได้กล้วยบวชชีซึ่งต้องกินแต่น้อยและไม่เหมาะกับผู้กลัวไขมันในเลือดสูง สำหรับผู้เขียนได้ใช้วิธีเลี่ยงไปใช้นมถั่วเหลืองยูเอชทีแทนกะทิ ซึ่งผู้เขียนพบว่ากล้วยบวชชีของผู้เขียนสามารถกินร้อนหรือกินเย็นได้อร่อยทุกครั้ง และที่สำคัญคือ กล้วยบวชชีในนมถั่วเหลือง จัดเป็นอาหารสุขภาพราคาถูก เพราะทั้งกล้วยและน้ำนมถั่วเหลืองต่างก็เป็นที่ยอมรับในประโยชน์หลายประการ รวมทั้งความสามารถในการลดความเสี่ยงของมะเร็งอย่างดีด้วย

ผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้าที่ผู้เขียนชอบอีกชนิดคือ กล้วยแขก ซึ่งถ้าถามว่าแขกนั้นหมายถึงคนชาติไหน คำตอบที่หลายคนเดาไว้ในอินเตอร์เน็ตคือ อินเดีย แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่เพราะเมื่อดูจากประเทศที่มีพลเมืองกินกล้วยน้ำว้าชุบแป้งทอดแบบกล้วยแขกเป็นเรื่องเป็นราวคือ อินโดนีเชีย ซึ่งไปรับวัฒนธรรมการกินกล้วยชุบแป้งทอดมาจากชาวโปรตุเกสแล้วเรียกกล้วยทอดว่า Pisang Goreng ดังนั้นคำว่า แขก จึงน่าจะมาจากคำว่า แขกอินโดนีเชีย

กล้วยนั้นเป็นทั้งอาหารและยา ผู้เขียนกินกล้วยช่วยเพิ่มพลังงานระหว่างการเล่นแบดมินตันหรือถีบจักรยาน เนื่องจากกล้วยอุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ ทำให้ลดอาการอ่อนเพลียได้ดี นอกจากนี้องค์ประกอบสำคัญอีกชนิดหนึ่งของกล้วยคือ ใยอาหาร นั้นช่วยทำให้ท้องอิ่มได้นานกว่าอาหารก่อนออกกำลังกายจานอื่น และที่สำคัญคือ กล้วยช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้เป็นประจำทุกวัน เพราะใยอาหารนั้นถือได้ว่าเป็นโปรไบโอติกซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสซึ่งเป็นพรีไบโอติกในลำไส้ใหญ่ของเรา นักวิชาการเชื่อว่าการมี         พรีไบโอติกและโปรไบโอติกพร้อมกันในลำไส้ใหญ่เป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่

ตารางแสดงคุณค่าทางอาหารในหนังสือโภชนาการหลายเล่มระบุว่า กล้วยสุกมีวิตามิน เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 6 วิตามินบี12 วิตามินซี และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม ธาตุแมกนีเซียม นอกเหนือไปจากคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตบางเว็บถึงกับระบุว่า กล้วยนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าแอปเปิ้ลถึงสองเท่า ซึ่งควรฟังหูไว้หูเพราะกล้วยในบ้านเรามีหลายชนิด

บทความในเว็บต่าง ๆ มักกล่าวว่า กล้วยหอมช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ดี เพราะเป็นผลไม้ที่มีกรดอะมิโนทริปโตเฟนสูง กรดอะมิโนชนิดนี้ร่างกายสามารถเปลี่ยนไปเป็นสารสื่อประสาทคือ เซอโรโตนิน ซึ่งช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลายสบายใจ นอกจากนี้การที่กล้วยหอมมีแมกนีเซียมสูงจึงอาจช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและการมีไวตามินบี 6 มากพอจึงช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นการกินกล้วยวันละ 2-3 ผลควรช่วยให้สุขภาพกายสบายใจ แต่ก็มีข้อมูลทางวิชาการเตือนผู้ที่กินกล้วยในปริมาณมากเกินไปว่า อาจอิ่มจนขาดสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีน และการที่กล้วยมีปริมาณธาตุโปแตสเซียมสูงอาจทำให้ระบบบริหารเกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุลย์ได้

 

Resource : HealthToday Magazine, No.185 September 2016