เรียนโทก็ยังไม่โต

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์

0
4467

ตอนที่ผมยังเด็ก ผมก็เข้าใจการศึกษาจากมุมมองของเด็ก ๆ เป็นชนิดที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า worm’s eye view คือมองขึ้นไปรู้สึกว่าคนที่เรียนสูงนั้นสูงส่งกว่า ต่อมาผมโตขึ้นอีกนิด จึงได้รู้เพิ่มเติมว่า ในระดับปริญญาเองก็ยังแบ่งเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก โดยปริญญาเอกจะได้คำนำหน้าว่า ดอกเตอร์ เพิ่มขึ้นด้วย คงต้องเป็นคนที่ฉลาดสุด ๆ เทียบระดับกับไอน์สไตน์กันเลยทีเดียว หนึ่งในความฝันวัยเด็กของผมก็คือ การเรียนสูง ๆ เป็นดอกเตอร์นี่แหละ ภาพในจินตนาการก็คือ ใส่ชุดครุยมีขีดหนา มีหมวก ถือกระดาษแข็ง ๆ ใบหนึ่งซึ่งก็คือใบปริญญารับรองว่า เราฉลาดมาก เรียนเก่งมาก

ถ้าถามผมหรือเด็กคนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ทั่วไปในสังคมว่าปริญญาตรี โท เอก นั้นเรียนอย่างไร มีอะไรแตกต่างกัน ผมในสมัยก่อนคงเข้าใจไปว่า ก็ต้องยากขึ้นสิ เหมือนประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ต้องรู้เยอะ อ่านหนังสือเยอะ ๆ สอบยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผมในตอนนั้นคงเข้าใจว่า การเรียนคือการหาข้อมูลใส่สมอง จำอะไรได้เยอะ ๆ จำหนังสือได้หมดทั้งเล่ม และการเปลี่ยนสมองเป็นเครื่องคำนวณสูตรต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ ยิ่งรู้เยอะ ยิ่งฉลาด การวิจัย วิทยานิพนธ์อะไร ผมคงไม่สามารถเข้าใจว่ามันคืออะไร เพราะมองอยู่จากภายนอก ไม่ได้ไปเรียนเสียเอง เราเลยใช้สิ่งที่เรารู้กับประสบการณ์ที่เรามีนั้นเทียบเคียงไป …เรียนต่อ แล้วต้องเรียนยังไงให้จบล่ะ ก็สอบให้ผ่านไง อ่านหนังสือเยอะ ๆ เหมือนใครบางคนที่ชอบพูดว่า ขยัน ทุ่มเท แล้วจะชนะทุกอย่าง

“สงสัยเพราะพ่อแม่ผมเขาเชื่อว่าขยันและทุ่มเทจะชนะทุกอย่าง เขาเลยคิดว่าที่ผมเรียนไม่ได้เพราะยังขยันและทุ่มเทไม่พอ” นักศึกษาชายระดับปริญญาโทผู้หนึ่ง (สมมติว่าชื่อ ‘เอ๋’ แล้วกันนะครับ) บอกผมด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย จากการสอบถามอาการเบื้องต้นพบว่า เขายังไม่ถึงกับมีอาการป่วยผิดปกติ เพียงแค่เครียดกับปัญหาชีวิตเท่านั้น

“ผมอยากให้ทางบ้านเข้าใจว่าผมไม่มีความสุข ผมไม่ได้อยากเรียนโทต่อแล้ว ผมไม่ไหว อยากลาออก”

“แล้วตอนแรกที่สมัครเข้ามาเรียนตั้งใจว่ายังไงครับ” ผมถามกลับเพราะสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับแรงจูงใจของเขาในการมาเรียน

เอ๋ถอนหายใจยาว “ตอนนั้นก็เลือกเรียนตามเพื่อนล้วน ๆ เลยครับ ผมเป็นคนไม่คิดอะไรมาก เพื่อนชวน ผมดูแล้วเห็นว่าน่าจะเรียนได้ก็เลยสมัครมา”

“แล้วถ้าเพื่อนชวนคุณไปบวชด้วยกัน คุณจะไปไหม”

“เอ่อ…ก็ไม่” เอ๋ยิ้มเล็กน้อย

“แสดงว่าคงไม่ใช่แค่เพื่อนชวนกระมังครับ น่าจะมีอะไรจูงใจด้วย”

“ก็จริง…พอผมไปขอที่บ้านว่าอยากเรียนต่อโท พ่อกับแม่ก็ดูดีใจครับ แม่ถึงกับบอกว่าอยากมีลูกเป็นดอกเตอร์ในบ้านสักคน” รอยยิ้มของเอ๋ยังคงอยู่ แต่แววตาดูเศร้าลง เลยทำให้ยิ้มนั้นเหมือนดูหงอยไป

“หมายถึงคุณต้องขออนุญาตที่บ้านเวลาจะเลือกเรียนต่ออะไร”

“ก็คล้าย ๆ อย่างนั้นครับ ส่วนหนึ่งก็ขอเงินเขามาเรียนด้วย เป็นเงินเก็บของพ่อแม่ พวกเขาก็สนับสนุน เพราะคิดว่าการเรียนหนังสือเป็นเรื่องที่ดี กี่บาทก็ต้องเต็มที่ คือผมไม่ได้มีเงินเก็บครับ เพิ่งทำงานไปปีเดียว เงินเดือนก็ไม่ได้สูง อยู่กรุงเทพฯ ค่าครองชีพก็แพงมาก สองปีแรกเราก็คิดแค่ว่าขอสนุกกับชีวิตก่อน เลยยังไม่ได้เก็บเงินอะไรนัก”

“พอมาเรียน ป.โท แล้ว มันใช่ที่อยากเรียนไหมครับ”

“พูดจริง ๆ นะครับหมอ ผมไม่ใช่คนชอบเรียนหนังสือมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เบื่อที่ต้องมานั่งอ่านหนังสือ อยู่แต่ในห้อง ฟังอาจารย์พูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็ต้องเรียนให้มันจบ ๆ ไป ยิ่งตอนทำงานยิ่งไม่ชอบเลยครับ สมัยเรียนยังไม่มีใครมาบังคับ ตอนทำงานนี่น่าเบื่อยิ่งกว่า ต้องมาให้ทัน ทำอะไรไม่ถูกใจหัวหน้าก็บ่น โดนด่ายาวเลย สมัยเรียนยังพอโดดเรียนได้ แค่อ่านหนังสือไปสอบให้ผ่าน แต่นี่ไล่ทวงงานเราตลอด เพื่อนที่ทำงานก็เหมือนต่างคนต่างอยู่ เอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีใครช่วยเหลือกันเลย ผมอยู่แล้วเหมือนไม่มีใครพึ่งได้”

“อันนี้เป็นส่วนหนึ่งให้คิดมาเรียนต่อด้วยหรือเปล่าครับ”

“ก็มีส่วนอยู่บ้าง คิดว่าหลบมาเรียนก่อนแล้วกัน พอมาเรียนมันก็สบายกว่าล่ะครับ แต่ก็เครียด อาจารย์ระดับ ป.โท สอนน้อยมาก ชอบสั่งแต่รายงาน สั่งให้ไปอ่านมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ผมก็ไม่ถนัด บางทีที่สั่งงานมานี่ไม่รู้จะเขียนยังไงเลย พอเรียนกลุ่มเล็ก ๆ ผมจะเขียนให้เหมือนเพื่อนก็ไม่ได้ ส่งไปเขาหาว่าลอก ถูกปรับตกอีก นี่ก็เรียนมาสามเดือนแล้ว ผมว่ามันหนักขึ้นครับ ทุกวันนี้ตื่นมาก็คิดว่า เรามาอยู่ตรงนี้ทำไม”

“แล้วได้คำตอบไหมครับ”

เอ๋ฟังคำถามจบก็ส่ายหน้า “ผมไม่รู้ครับ ไม่มีอะไรจะตอบตัวเองเหมือนกัน”

“ก็มาเรียนโทไง…เป็นคำตอบหรือเปล่า” เขาพยักหน้าพูดเบา ๆ ว่า “ก็จริง”

“แต่ต่อให้ตอบแบบนี้แล้วมันจริง มันก็ไม่ใช่สิงที่ใจต้องการใช่ไหมครับ หมอขอถามเพิ่มอีกนิดว่ามาเรียนโทเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายคืออะไรครับ”

“ไม่รู้ครับ” ผมชวนให้เขาค่อย ๆ คิด เขาก็ยังคงตอบว่า “ผมไม่รู้จริง ๆ ครับ มาเรียนทำไมยังไม่รู้เลย”

“ถ้าเรากำลังทำในสิ่งที่เราก็ไม่รู้ความหมาย เลยรู้สึกไปด้วยว่าชีวิตไร้ความหมาย เป็นไปได้ไหมครับ”

“ก็ถูก ผมไม่ใช่คนคิดอะไรไกล เป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ ทำอะไรแล้วชิลล์ก็ทำ ผมอยากถอย แต่ไม่กล้าบอกที่บ้าน ที่มาขอรับคำปรึกษาก็เรื่องนี้ละครับ ผมเครียดจนไม่ได้ไปเรียน ไม่ได้ไปสอบ จะต้องขอใบรับรองจากคุณหมอไปเลื่อนสอบด้วยครับ”

“คุณอยากให้หมอเขียนใบรับรองยังไงละครับ”

“ก็เขียนว่าผมเป็นโรคซึมเศร้า เครียดจนไปสอบไม่ได้ อย่างนั้นได้ไหมครับ”

“หมอเข้าใจว่าตอนนี้คุณคงเครียด เพราะต้องเจอกับสถานการณ์ชีวิตที่ไม่เป็นไปตามที่คุณคิด และหมอก็อยากช่วย แต่ถ้าทุกคนที่เครียดจะขอยังไม่สอบ รอสอบตอนหายเครียด ระบบการสอบมันคงป่วนไปหมด อีกอย่างถ้าหมอออกใบรับรองให้ว่าตอนนี้คุณไม่พร้อม แล้วคุณจะปรับตัวยังไงให้พร้อมขึ้น เราลองมาคิดตรงนี้กันดูไหม ลองจินตนาการว่าถ้าคุณพร้อมไปสอบ ตัวคุณแบบที่พร้อม ๆ จะเป็นยังไงครับ จะต่างกับตอนนี้ยังไง”

“ก็ดูมั่นใจ ดูมีความรู้ อ่านหนังสือรู้เรื่อง มีอะไรไปเขียนตอบ อ้า…เรื่องนี้ละครับหมอ ข้อสอบเขียน คราวที่แล้วผมส่งกระดาษเปล่าเพราะผมไม่รู้จะเขียนอะไรเลย มันยากกว่าข้อสอบกากบาทมาก” ดูเหมือนเขาดีใจที่เข้าใจแล้วว่าตัวเองกลัวอะไร

เอ๋เล่าว่ามหาวิทยาลัยที่เขาจบมาไม่ได้จริงจังเท่าที่นี่ มีสอบข้อเขียนน้อยมาก รายงานก็ไม่ต้องใส่อ้างอิงจริงจังขนาดนี้ และอาจารย์ก็ไม่ได้ตรวจการลอก ที่ผ่านมาเขาใช้รายงานของเพื่อนมาดัดแปลงก็จบมาได้  แต่ที่นี่ เขาต้องเจอกับความยาก การเอาจริง การต้องพึ่งตัวเองเต็มที่ และเขาอยากหลบเลี่ยงมัน ผมเองก็พอเข้าใจว่าการศึกษาแก่นักศึกษาจำนวนมหาศาลในระดับปริญญาตรี หากอาจารย์จะออกข้อเขียนหรือตรวจอะไรละเอียดคงต้องทุ่มเทอย่างมาก แต่ถ้ามาตรฐานมันไม่ดีพอ ก็เป็นการทำร้ายเด็กในปลายทางที่รออยู่

ครั้งนั้นผมไม่ได้ออกใบรับรองแพทย์ให้เขา เพราะที่จริงไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์ แต่เป็นปัญหาทางการศึกษา ผมแนะนำให้เขาไปพบอาจารย์ที่ปรึกษา และลองหาลู่ทางปรับตัวกับเรื่องการเรียน ถ้าเขาต้องการจะหนีปัญหา การหนีจะไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเป็นการหนีเตลิด ไม่ใช่หนีไปตั้งหลัก ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อปัญหาตามมาถึงก็ต้องหนีอีก

ผมพบกับเอ๋อีกครั้งในสัปดาห์ต่อมา คราวนี้แม่ของเอ๋ที่อยู่ต่างจังหวัดก็มาด้วย มาถึงก็ขอร้องให้ผมออกใบรับรองแพทย์ให้เพื่อให้เขาไปทำเรื่องเลื่อนสอบ “อยากให้คุณหมอช่วยเมตตาเด็กหน่อยน่ะค่ะ เขียนว่าเป็นภาวะอะไรก็ได้”

“คุณแม่เข้าใจไหมครับว่าทำไมเขาไม่ได้ไปสอบ”

“น้องเอ๋คงเครียดน่ะค่ะ เห็นเขาบอกว่าเรียนที่นี่ยากมาก เขาทำไม่ได้ กลับไปบอกที่บ้านว่าจะไม่ได้สอบ ยังไงก็คงไม่รอด จะลาออกท่าเดียว คุณหมอช่วยน้องเขาหน่อยนะคะจะได้เรียนต่อไปได้”

“ผมคิดว่าคุณแม่กำลังมองปัญหาแค่การสอบหนนี้ แต่ที่จริงเอ๋เขายังปรับตัวกับการเรียนไม่ได้ เลยเครียด และเลือกหนีปัญหาด้วยการไม่เรียน แล้วก็เลยไม่ไปสอบ พอไม่ได้สอบจะให้หมอรับรองว่าป่วย เอ๋อาจจะมีภาวะเครียดทางจิตใจ แต่ไม่ได้ป่วยถึงขั้นไปสอบไม่ได้ครับ เช่น ถ้าป่วยทางกาย ท้องเสีย อุบัติเหตุ หรือนอนโรงพยาบาล อย่างนี้คงต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แต่ถ้าเรียนไม่ไหว หมอว่าไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์”

เอ๋ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ แม่ก็บอกแม่ว่า ไม่เป็นไร ก็ไม่ได้สอบ เขาอยากลาออก เขาคงเรียนไม่ไหว แม่เอ๋มีสีหน้าเครียด หันไปบอกลูกว่า อยากให้ลูกพยายาม ขยันกว่านี้ ทุ่มเทกว่านี้ อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จ พ่อกับแม่ไม่มีโอกาสได้เรียนสูง ๆ ก็อยากส่งลูกให้เรียนได้สูงที่สุด

เอ๋มีสีหน้าเศร้าปนเบื่อกับวิธีที่แม่พูดมา ผมถามคุณแม่ว่า เข้าใจว่าการเรียนที่สูงจะดีกับลูกอย่างไร เธอตอบว่าเธอกับสามีทุ่มเทเพื่อลูกมาก พี่สาวเอ๋เรียนจบ ป.ตรี ก็แต่งงานไปเป็นแม่บ้าน มีแต่เอ๋ที่พอจะเป็นความหวัง ที่ผ่านมาลูกชายของเธอไม่ต้องทำอะไร เรียนอย่างเดียว ขอแค่ตั้งใจเรียน อยากได้อะไรเธอกับสามีซื้อให้หมด เธอเองก็ทราบว่าคงเลี้ยงลูกตามใจไปหน่อย แต่ก็อยากให้ลูกได้ดี ผมถามว่า แล้วคุณแม่ทราบหรือไม่ว่าลูกโตขึ้นอยากเป็นอะไร คุณแม่ไม่ทราบ ผมให้เธอหันไปถามเอ๋ เอ๋บอกเสียงเนือย ๆ กับแม่ว่า “ตอนนี้ไม่อยากคิดอะไรทั้งนั้นละ”

ผมบอกเอ๋ว่า กับสถานการณ์ตอนนี้ เรื่องเรียนถ้าคุณไม่ชอบ นอกจากการลาออกเลยในตอนนี้ ก็อาจจะขอดรอปพักการเรียนไปก่อน ถ้าคุณเป็นคนชิลล์ ๆ ไม่ชอบตัดสินใจอะไรอย่างรีบร้อนก็กลับไปทบทวนดู คุณแม่รีบคะยั้นคะยอทางเลือกนี้ เพราะเหมือนว่าเธอยังคงมีความหวัง

เมื่อตกลงกันเสร็จทั้งสองคนก็ออกจากห้องไป เอ๋ยังไม่ได้กลับมาพบผมตามที่นัด เขาอาจจะรู้สึกไม่พอใจที่ผมไม่ช่วยเขา ผมเองก็สงสัยในตัวเองว่าวันนั้นผมใจร้ายไปหรือไม่ที่ไม่ได้ออกใบรับรองแพทย์ให้เขา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงสอบมิดเทอมจะมีนักศึกษามาหาด้วยเรื่อง ‘ขอใบรับรองไปเลื่อนสอบ’ เป็นประจำ หรือที่จริงแล้วระบบการศึกษาควรยืดหยุ่น พวกเขาควรจะได้สอบเมื่อพร้อมจริง ๆ นั่นแหละถูกต้องแล้ว แต่ที่แน่ ๆ ระบบตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น

ที่ผมอยากเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เพราะห่วงว่าคนเราจะมองการศึกษาแค่ส่วนของความสำเร็จ สอบผ่าน เรียนจบ แต่ระหว่างทางไม่ได้พัฒนาคน เด็กโตมาก็ทำอะไรตามที่ถูกบังคับถูกประเมิน มีคนเรียนจบปริญญา แต่ระบบการคิดยังไม่ได้โตตามมา ได้แค่ระดับท่องจำ และทำให้ถูกใจผู้ใหญ่เพื่อให้จบ จึงเครียดมากถึงมากที่สุดเวลาถูก ‘ประเมิน’ พอจัดการความเครียดไม่ได้ วางแผนแก้ปัญหาชีวิตไม่ค่อยได้ ปัญหาสุขภาพจิตก็ค่อยมาเป็นผลลัพธ์ หากความหมายของการศึกษายังถูกเข้าใจว่าคือแค่นี้ ก็คงยังมีผู้ที่เครียด ๆ เศร้า ๆ จากการเรียน และมาขอใบรับรองแพทย์ไปเลื่อนสอบเพราะ ‘เรื่องทางใจ’ อยู่ร่ำไป

…..จบ…...

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.200 December 2017