ตูมกา พืชยา มีพิษ

ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล

0
4984

ตูมกาในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ ตูมกาขาวและตูมกาแดง ซึ่งมีสรรพคุณทางยาทั้ง 2 ชนิด เช่น แก้อักเสบจากงูกัด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร แต่ก็มีความเป็นพิษด้วยเช่นกัน หากได้รับเกินขนาดอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ตูมกาขาว

ภาคเหนือเรียกว่า “มะติ่งมะติ่งต้น” หรือ “มะติ่งหมาก” ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ขี้กา” ตำรายาไทยใช้รากแก้ไข้มาลาเรียโดยฝนน้ำกิน ทาแก้อักเสบจากงูกัด แก่นใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ใบตำพอกแก้ฟกบวม ยาพื้นบ้านใช้รากผสมลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น รากชะมวง รากปอด่อน ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย ลำต้นต้มน้ำดื่มหรือฝนทาแก้ปวดตามข้อ แก้อักเสบจากงูกัด เปลือกต้นผสมผลปอพราน เหง้าดองดึง คลุกข้าวให้สุนัขกินเป็นยาเบื่อ ในกรณีแก้อักเสบจากงูพิษกัดอาจใช้สมุนไพรก่อนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

ตูมกาแดง

ตูมกาแดง มีชื่อหลักว่า แสลงใจ ภาคตะวันออกเรียกว่า “แสลงทม” หรือ “แสลงเบื่อ” อุบลราชธานีใช้ชื่อว่า “แสงเบือ” ส่วนภาคกลางมักเรียกกันว่า “กระจี้” หรือ “กะกลิ้ง” ในตำรายาไทยเรียกเมล็ดแก่แห้งของแสลงใจหรือตูมกาแดงนี้ว่า “โกฐกะกลิ้ง” ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงหัวใจ ขับน้ำย่อย พบว่าในเมล็ดมีสารสตริกนินและบรูซิน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีความเป็นพิษสูง หากได้รับเกินขนาดจะเป็นอันตราย อาการพิษคือ กล้ามเนื้อกระตุกและชัก อาจถึงตาย ปัจจุบันไม่ใช้เป็นยารักษาโรค แต่ใช้เป็นยาเบื่อสุนัข แต่ว่าเนื้อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน รับประทานได้

นอกจากนี้ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในสกุลเดียวกับตูมกาขาวและตูมกาแดง ทั้งยังมีชื่อไทยคล้ายกัน คือ “ตุมกาแดง” ข้อแตกต่างระหว่างตูมกาขาวและตูมกาแดงเมื่อเทียบกับตุมกาแดงคือ ตูมกาขาวและและตูมกาแดงเป็นไม้ต้น มีหนามที่ซอกใบ ไม่มีมือเกาะ วงกลีบดอกมีหลอด วงกลีบดอกยาวอย่างน้อยสองเท่าของพูวงกลีบดอก ส่วนตุมกาแดงนั้นเป็นไม้เลื้อย ไร้หนาม มีมือเกาะ วงกลีบดอกมีหลอด วงกลีบดอกสั้นกว่าถึงเท่ากับพูวงกลีบดอก

 

Resource : HealthToday Magazine, No.185 September 2016