หลักพื้นฐาน 3 ข้อของพัฒนาการเด็ก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1762

การแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กที่ปลายเหตุเป็นเรื่องยาก ชีวิตจะง่ายกว่ามากหากเราตั้งใจวางรากฐานพัฒนาการเด็กให้ดีตั้งแต่แรกเกิด

หลักข้อที่ 1 เรียกว่า พัฒนาการตามลำดับชั้น 

ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) เรียกพัฒนาการตามลำดับชั้นนี้ว่า epigenesis ซึ่งมีความหมายคนละอย่างกับคำว่าอภิพันธุกรรม หรือ epigenetics

อภิพันธุกรรม หมายถึง สภาวะที่สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม เช่น ภาวะข้าวยากหมากแพงสามารถทำให้เกิดการผ่าเหล่าในวัยเจริญพันธุ์ แล้วแสดงอาการในคนรุ่นถัดไป

พัฒนาการตามลำดับชั้น หมายถึง พัฒนาการเด็กมีลักษณะเป็นชั้น ๆ ตามลำดับ เปรียบเสมือนการสร้างปิรามิดในยุคแรกเมื่อประมาณ 4,000-5,000 ปีก่อน ที่จะต้องสร้างฐานที่ 1 ตามด้วยชั้นที่ 2 3 4 และ 5 ตามลำดับ

ประเด็นคือหากฐานที่ 1 แข็งแรง ฐานต่อไปก็จะสร้างได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับชั้น และมีสภาพที่แข็งแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีการทุบทำลายที่ตรงยอด การซ่อมแซมก็ทำได้ไม่ยาก ในขณะเดียวกันฐานที่แข็งแรงทำให้ทุบทำลายอย่างไรก็ยังคงเหลือฐานเสมอ พัฒนาการเด็กมีลักษณะเดียวกัน  ฐานที่ 1 คือพัฒนาการเรื่องความไว้วางใจโลก (trust) การสร้างแม่และสายสัมพันธ์ (attachment) หากฐานที่ 1 นี้แข็งแรง จิตวิทยาพัฒนาการชั้นถัดไปจะง่ายและแข็งแรง

หลักข้อที่ 2 เรียกว่า เวลาวิกฤต

เวลาวิกฤต มาจากศัพท์แพทย์ที่เรียกว่า critical period หมายความว่าพัฒนาการเด็กมีเวลาจำเพาะในแต่ละช่วงเวลาที่พ่อแม่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาฐานนั้น ๆ ได้อย่างดีที่สุดและแข็งแรงที่สุด หากเลยเวลาวิกฤตนั้นแล้วจะหวนกลับมาทำไม่ได้อีก

เวลาวิกฤตจะเรียกว่านาทีทองก็ได้ คือนาทีทองที่พ่อแม่จะทำอะไรกับลูกก็ทำได้ง่าย เพราะเป็นวัยที่เขาอยากจะได้อยู่แล้ว หากนาทีทองผ่านไป พ่อแม่คิดจะย้อนกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง เด็กมักจะไม่ต้องการพ่อแม่อีกต่อไปแล้ว ทำให้เรื่องต่าง ๆ นานายุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นทุกที ๆ

ยกตัวอย่างสิบสองเดือนแรก พ่อแม่มีหน้าที่อุ้มกอดบอกรักและเลี้ยงดูทารกด้วยตนเองมากที่สุด เพราะคือนาทีทอง ขวบปีแรกของชีวิตเป็นวันเวลาที่ทารกต้องการพ่อแม่โดยไม่มีเงื่อนไข การที่เราให้มากที่สุด ทารกจะสร้างความไว้วางใจโลก สร้างแม่ที่มีอยู่จริงและสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น คือเวลาวิกฤตที่ต้องสร้าง

ในทางตรงข้ามพ่อแม่หายตัวไปในสิบสองเดือนแรก ทารกจะไว้วางใจโลกได้ยาก ไม่แน่ใจว่าแม่มีอยู่จริงหรือเปล่า สายสัมพันธ์ที่ควรจะดีในสิบสองเดือนแรกอ่อนกำลังลง ทำให้พัฒนาการในฐานที่ 2 3 4 และ 5 ทำได้ยาก และอ่อนกำลังลงตามลำดับชั้น

เมื่อผ่านขวบปีแรกไป พ่อแม่บางบ้านอาจจะอยากกลับมาเลี้ยงลูกใหม่ แต่มักจะทำได้ยากเพราะนาทีทองผ่านไปแล้ว ลูกไม่ต้องการการอุ้มกอดบอกรักมากเท่าสิบสองเดือนแรก บัดนี้เขามีกล้ามเนื้อแขนและขาที่แข็งแรงขึ้นมาก และไม่ฟังพ่อแม่ง่าย ๆ อีกแล้ว  เวลาวิกฤตได้ผ่านไปแล้ว

หลักข้อที่ 3 เรียกว่า หน้าที่และข้อสอบชีวิต

หน้าที่ มาจากคำว่า function หมายความว่า เด็กแต่ละวัยมีหน้าที่ที่ต้องทำ และข้อสอบชีวิตที่ต้องสอบ

ทารกสิบสองเดือนแรกมีหน้าที่ต้องทำ 3 ข้อคือ ไว้วางใจโลก สร้างแม่ที่มีอยู่จริง และสายสัมพันธ์ เด็กเล็ก 2-3 ขวบ 4-5 ขวบ 6-11 ขวบ และ 12-18 ปี เป็นลำดับชั้นของพัฒนาการถัด ๆ ไปที่มีหน้าที่ในแต่ละช่วงชั้นที่เด็กต้องทำ คือทำหน้าที่และผ่านข้อสอบชีวิต

ความเข้าใจเรื่องหน้าที่และข้อสอบชีวิตนี้ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจพฤติกรรมของลูกง่ายขึ้น เช่น เด็กเล็กวัย 2-3 ขวบมีหน้าที่ใช้กล้ามเนื้อใหญ่คือกล้ามเนื้อแขนขาสำรวจโลก เขาจึงเดิน วิ่ง และขว้างปาข้าวของ เพื่อทดสอบพลังของตัวเองและกฎ กติกา มารยาท อะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้

เมื่อเราพบเด็กกำลังทำหน้าที่เราจะได้เข้าใจว่าเขาต้องทำ เพราะมันคือหน้าที่และมีข้อสอบชีวิตที่ต้องผ่าน นั่นคือใช้กล้ามเนื้อได้อย่างแข็งแรง สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ ทำได้ และหยุดได้ พูดง่าย ๆ ว่าเด็กดื้อเพราะเป็นหน้าที่ จะวิ่งไปห้ามไม่ฟัง ขว้างปาข้าวของห้ามไม่ฟัง พฤติกรรมเหล่านี้มิได้แปลว่าดื้อ เขาเพียงทำตามหน้าที่

เรามีหน้าที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เขาทำตามหน้าที่ โดยมีกฎ กติกา มารยาทกำกับ

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017